ข่าวประชาสัมพันธ์

พาณิชย์ เผยร้านค้าต้นแบบ 246 ราย พร้อมเป็นพี่เลี้ยงโชห่วยท้องถิ่น ให้ขึ้นเป็นสมาร์ทโชห่วยกว่า 738 ร้านค้า ทั่วประเทศ


10 สิงหาคม 2022, 16:17 น.

 

พาณิชย์ หนุนร้านค้าต้นแบบ 246 รายทั่วประเทศ เป็นพี่เลี้ยงกล่อมเกลี้ยงเลี้ยงดูโชห่วยท้องถิ่น ให้ผงาดขึ้นเป็น สมาร์ทโชห่วย ตามแนวทาง สมาร์ทโชห่วย พลัส มั่นใจเพิ่มสมาร์ทโชห่วยได้อีกไม่ต่ำกว่า 738 ร้านค้า

พาณิชย์ หนุน 246 ร้านค้าต้นแบบทั่วประเทศ เป็นพี่เลี้ยงกล่อมเกลี้ยงเลี้ยงดูโชห่วยท้องถิ่นในพื้นที่ให้ผงาดขึ้นเป็นสมาร์ทโชห่วย ตามแนวทางสมาร์ทโชห่วย พลัส พร้อมมอบป้ายตราสัญลักษณ์การันตีการพัฒนาที่ไม่หยุดยั้งเคียงข้างประชาชนในชุมชนให้จับจ่ายใช้สอยสินค้าอุปโภค-บริโภคได้อย่างสะดวกสบาย และเตรียมส่งต่อการพัฒนาให้ร้านโชห่วยท้องถิ่นรายอื่นๆ ในชุมชนเข้มแข็งตาม มั่นใจเพิ่มสมาร์ทโชห่วยได้อีกไม่ต่ำกว่า 738 ร้านค้า โอกาสนี้ คิ๊กออฟโครงการสมาร์ทโชวห่วย พลัส ชวนเครือข่ายพันธมิตร 27 องค์กร ลงนาม MOU ยกระดับร้านค้าส่ง-ค้าปลีกไทยให้มีภาพลักษณ์ใหม่สดใสกว่าเดิม พร้อมสานสัมพันธ์ร่วมกันพัฒนาโชห่วยครบทุกมิติ งานนี้!! โชห่วยไทยไม่เกิดไม่ได้แล้ว


นายสินิตย์ เลิศไกร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยภายหลังการเป็นประธานและสักขีพยานในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือขับเคลื่อนโครงการ ‘สมาร์ทโชห่วย พลัส’ โดยมีนายทศพล ทังสุบุตร อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า และผู้แทนหน่วยงานพันธมิตรภาครัฐและภาคเอกชน 6 องค์กร รวม 28 หน่วยงาน ลงนามประกาศเจตนารมณ์ร่วมกันขับเคลื่อนโครงการฯ ณ ห้องบุรฉัตรไชยากร กระทรวงพาณิชย์ ว่า “วันนี้เป็นนิมิตรหมายที่ดีที่ภาครัฐและภาคเอกชนได้ร่วมกันลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือขับเคลื่อนโครงการ สมาร์ทโชห่วย พลัส ซึ่งเป็นโครงการฯ ที่รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ (นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์) ให้ความสำคัญเป็นลำดับต้น ๆ เนื่องจากเกี่ยวข้องกับประชาชน และธุรกิจขนาดเล็กจำนวนมาก โดยการลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือฯ มีเป้าหมายร่วมกันเพื่อผลักดันและพัฒนาร้านค้าโชห่วยให้เป็น ‘สมาร์ทโชห่วย’ ครอบคลุมทั่วประเทศ สร้างโอกาสทางการค้าและเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันให้พร้อมรับมือกับทุกสถานการณ์ ทั้งการแข่งขันที่รุนแรงในยุคดิจิทัล และการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นตลอดเวลา โดยกระทรวงพาณิชย์จะร่วมมือกับหน่วยงานพันธมิตรวางกรอบแนวทางการพัฒนาร้านค้าโชห่วยทุกมิติทั้งระบบ นำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยเสริมความแข็งแกร่ง นำธุรกิจเข้าสู่ช่องทางการขายในแพลตฟอร์มดิจิทัล รวมทั้ง ให้การส่งเสริมสนับสนุนภารกิจทุกด้าน มุ่งหมายให้โชห่วยไทยเติบโตด้วยความมั่นคงและอยู่คู่สังคมไทยไปอีกนาน

พันธมิตรที่เข้าร่วมลงนามฯ ประกอบด้วย 6 องค์กร ได้แก่ 1) สมาคมการค้าส่ง-ปลีกไทย 2) ผู้ผลิตและผู้แทนจำหน่าย (Suppliers) 3) ผู้ให้บริการเทคโนโลยี/ระบบ POS/แพลตฟอร์ม 4) ผู้ให้บริการเสริม 5) กลุ่มสถาบันการเงิน 6) เครือข่ายธุรกิจ MOC Biz Club THAILAND และ กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ รวมทั้งสิ้น 28 หน่วยงาน ทั้งนี้ โครงการ ‘สมาร์ทโชห่วย พลัส’ ตั้งเป้าขับเคลื่อนโครงการระยะ 5 ปี (พ.ศ. 2565 – 2569) โดยยกระดับและบูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานพันธมิตร เดินหน้าจัดกิจกรรมเสริมสร้างองค์ความรู้ให้แก่ผู้ประกอบการและนำองค์ความรู้มาพัฒนาต่อยอดเพื่อผลักดันร้านค้าปลีกดั้งเดิมให้เป็น ‘สมาร์ทโชห่วย’ ที่มีภาพลักษณ์ร้านค้าที่ดี มีการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการบริหารจัดการร้านค้าเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ ตลอดจนการมีช่องทางออนไลน์เพื่อเพิ่มโอกาสทางการตลาด โดยมีเป้าหมายเพื่อลดต้นทุน เพิ่มรายได้ เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับผู้ประกอบการ ดึงเอาเอกลักษณ์และคุณสมบัติเด่นของร้านค้าโชห่วยขึ้นมาเป็นจุดเด่นเพื่อสร้างข้อได้เปรียบทางการแข่งขัน

 

นอกจากนี้ ยังได้คัดเลือกร้านค้าส่งค้าปลีกที่ได้รับการพัฒนาจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้าทั่วประเทศ จำนวน 246 ร้านค้า ให้เป็นร้านค้าต้นแบบ และเป็นพี่เลี้ยงผลักดันให้ร้านโชห่วยเครือข่ายที่อยู่ในท้องถิ่นเดียวกันได้รับการพัฒนาเป็น สมาร์ทโชห่วย โดยตั้งเป้าหมายไว้ คือ ร้านค้าต้นแบบ 1 ร้าน พัฒนาและผลักดันให้ร้านโชห่วยเครือข่ายที่อยู่ในพื้นที่เป็น สมาร์ทโชห่วย 3 ร้าน เบื้องต้น คาดว่าจะสามารถเพิ่มร้านสมาร์ทโชห่วยได้อีกจำนวน 738 ร้านค้า

ร้านโชห่วยท้องถิ่นที่ได้รับการพัฒนาจนเป็นร้านสมาร์ทโชห่วยจะได้รับตราสัญลักษณ์ ‘สมาร์ทโชห่วยพลัส by DBD และเพื่อน’ ติดไว้บริเวณหน้าร้าน เพื่อแสดงถึงศักยภาพของร้านโชห่วยท้องถิ่นที่ได้รับการพัฒนาและยกระดับให้เป็นร้านสมาร์ทโชห่วย และได้ผ่านการอบรมความรู้ศาสตร์ต่าง ๆ ที่จำเป็นต่อการดำเนินธุรกิจ มีการนำเทคโนโลยีมาช่วยในการบริหารจัดการร้านค้า พัฒนาร้านค้าให้มีความสวย สว่าง สะอาด สะดวก สบาย ซึ่งจะช่วยดึงดูดลูกค้าให้เข้าร้าน และช่วยเพิ่มยอดขาย ตลอดจน มีสิทธิเข้าร่วมโครงการต่าง ๆ ของภาครัฐ ในการช่วยลดค่าครองชีพให้ประชาชน

 

โครงการสมาร์ทโชห่วย พลัส เป็นโครงการที่ต่อยอดจาก โครงการสมาร์ทโชห่วย โดยจะดำเนินการคู่ขนานกันไป ผ่านกลไกการสร้างเครือข่ายการทำงานร่วมกันระหว่างส่วนกลางและระดับพื้นที่ โดยมีกิจกรรมการพัฒนาที่หลากหลายครอบคลุมทุกมิติ ตั้งแต่การเสริมสร้างองค์ความรู้ การพัฒนาศักยภาพของผู้ประกอบการ โดยอาศัยกลไกความร่วมมือกับร้านค้าส่งค้าปลีกต้นแบบที่ได้รับการพัฒนาจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า หรือ พี่เลี้ยงโชห่วย และมีสมาคมการค้าส่ง-ปลีกไทย และสำนักงานพาณิชย์จังหวัดช่วยติดตามการดำเนินงานและให้ความช่วยเหลืออย่างใกล้ชิด

สมาร์ทโชห่วย พลัส ขับเคลื่อนโครงการระยะเวลารวม 5 ปี (พ.ศ. 2565 – 2569) โดยปี 2565 กำหนดเสริมสร้างองค์ความรู้ให้ผู้ประกอบการโชห่วยทั่วประเทศ 3,000 ราย และสร้างสมาร์ทโชห่วย 300 ราย ปี 2566 ตั้งเป้าหมายเสริมสร้างองค์ความรู้ให้แก่ผู้ประกอบการร้านค้าโชห่วย 3,000 ราย และสร้างสมาร์ทโชห่วย 400 ราย และในระยะ 5 ปี คาดว่าจะมีผู้ประกอบการโชห่วยที่ได้รับการเสริมสร้างองค์ความรู้รวมทั้งสิ้นไม่ต่ำกว่า 20,000 ราย และได้รับการพัฒนาเป็นสมาร์ทโชห่วย 2,500 ราย โดยจะดำเนินการควบคู่ไปกับการขยายเครือข่ายพันธมิตรที่มีศักยภาพเพื่อเพิ่มโอกาสการเข้าถึงองค์ความรู้และสิทธิประโยชน์ รวมทั้งพัฒนาร้านค้าโชห่วยให้เป็นตัวกลางเชื่อมโยงโครงการต่าง ๆ จากภาครัฐสู่ประชาชนให้ได้มากขึ้น

 

ทั้งนี้ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ สินิตย์ เลิศไกร ได้เน้นย้ำถึงความสำคัญของการพัฒนาร้านโชห่วยและผู้ประกอบการรายย่อย ซึ่งเป็นกลุ่มเป้าหมายหลักที่กระทรวงพาณิชย์และรัฐบาลให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก โดยร้านโชห่วยที่กล่าวมาจะมีบทบาทสำคัญในการกระจายรายได้สู่ชุมชน และเป็นรากฐานสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ อันจะนำไปสู่การเติบโตร่วมกันของทุกภาคส่วนอย่างเข้มแข็งและมั่นคง ท่ามกลางสถานการณ์การแข่งขันที่ดุเดือดของตลาดทั้งในและต่างประเทศ ตลอดจนความเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคตได้อย่างยั่งยืนต่อไป”

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ ส่วนส่งเสริมธุรกิจการค้า กองส่งเสริมและพัฒนาธุรกิจ กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ โทร. 0 2547 5986 e-mail: bizpromotion.dbd@gmail.com

 

รายชื่อหน่วยงานพันธมิตรภายใต้โครงการ “สมาร์ทโชห่วย พลัส”

1. สมาคมการค้าส่ง-ปลีกไทย

2. กลุ่มผู้ผลิตและผู้แทนจำหน่าย (Suppliers)

1) บริษัท ยูนิลีเวอร์ ไทย เทรดดิ้ง จำกัด
2) บริษัท สหพัฒนพิบูล จำกัด (มหาชน)
3) บริษัท พรอคเตอร์ แอนด์ แกมเบิล เทรดดิ้ง (ประเทศไทย) จำกัด
4) บริษัท เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ จำกัด (มหาชน)
5) บริษัท คาโอ อินดัสเตรียล (ประเทศไทย) จำกัด
6) บริษัท หยั่น หว่อ หยุ่น คอร์ปอเรชั่น กรุ๊ป จำกัด
7) บริษัท นอติลุสฟู้ด (ประเทศไทย) จำกัด
8) บริษัท โรงงานน้ำปลาไทย (ตราปลาหมึก) จำกัด
9) บริษัท กรีนสปอต จำกัด

3. กลุ่มผู้ให้บริการด้านเทคโนโลยี / ระบบ POS / แพลตฟอร์ม

1) บริษัท บิซิเนส แอนด์ เทคโนโลยี่ จำกัด
2) บริษัท ซีเนียร์ซอฟท์ ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด
3) บริษัท ล็อกอิน กรุ๊ป จำกัด
4) บริษัท เอด้าซอฟท์ จำกัด
5) บริษัท ลาซาด้า จำกัด
6) บริษัท ช้อปปี้ (ประเทศไทย) จำกัด
7) บริษัท ไลน์แมน (ประเทศไทย) จำกัด

4. กลุ่มผู้ให้บริการเสริม

1) บริษัท 24 ชั่วโมง คอฟฟี่ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด
2) บริษัท แอดวานซ์ เว็บ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน)
3) บริษัท ซิงเกอร์ประเทศไทย จํากัด (มหาชน)
4) บริษัท เคเค สยาม จำกัด
5) บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด

5. กลุ่มสถาบันการเงิน

1) ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน)
2) ธนาคารออมสิน
3) ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย
4) ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)

6. MOC Biz Club THAILAND

 

**********************************************

ที่มา : กรมพัฒนาธุรกิจการค้า

กองส่งเสริมและพัฒนาธุรกิจ

วันที่ 10 สิงหาคม 2565

 

 

 

 

ข่าวในหมวดเดียวกัน

เพิ่มเติม...

การเมือง

คอลัมนิสต์

คมในความ

มหาราษฎร์ Shorts

ภาพเก่าเล่าอดีต

ไฮไลท์

ข่าวประชาสัมพันธ์

ตำรวจ ทหาร อัยการ ศาล คุก

ท่องเที่ยว

ศาสนา

สุขภาพ

แวดวงนักรบ

สังคม

บทบาทบุคคล

< กลับหมวดข่าวประชาสัมพันธ์

เรื่องล่าสุด