บทบาท “ผู้การพุฒ”
อดีตอัศวิน แหวนเพชร ผู้หลงใหลเสียงเพลง
พ.ต.อ.พุฒ บูรณสมภพ เป็นอัศวินแหวนเพชร สมัยพลตำรวจเอกเผ่า ศรียานนท์ ผู้การพุฒ ฯ ท่านเป็นนักเขียน และเป็นผู้ก่อตั้งวงดนตรี “ประสานมิตร” วงใหญ่ Big Band ได้สำเร็จ
ในสมัยนั้นสังคมไทยยังไม่มีวงดนตรีวงใหญ่ที่บรเลงเพลงสากลที่เป็นมาตรฐานเทียบเท่ากับต่างประเทศ เเต่เรามีวงดนตรีวงใหญ่ของกรมประชาสัมพันธ์ ควบคุมโดยครูเอื้อ สุนทรสนาน (บุคลสำคัญของโลก ยูเนสโก) เป็นที่เชิดหน้าชูตาในความเป็นมาตรฐานที่สุดในอาเซียน
ปี พ.ศ. 2495 ผู้การพุฒฯ ได้คัดเลือกเฟ้นหานักดนตรีระดับฝีมือแนวหน้ามารวมตัวกันตั้งวงดนตรีวงใหญ่ได้นักดนตรี นักร้องมาร่วมวง อาทิ ประสิทธิ์ พยอมยงค์ (ประธานบริษัทสยามกลการดนตรี) สมาน กาญจนะผลิน (ศิลปินแห่งชาติ) จำนรรจ์ กุณฑจินดา ม.ร.ว. พรพุฒ วรวุฒิ ซีเลียว พิบูลย์ ทองธัช มาโนช ศรีวิภา อุโฆษ จันเรือง ฯลฯ
ผู้การพุฒ ฯ ท่านสามารถเล่นดนตรีได้หลายชนิด และร้องเพลงได้ดี ท่านจ่ายเบี้ยเลี้ยงให้นักดนตรีมีกำลังใจ ซ้อมกันอย่างหนักที่บ้านสุขุมวิท 23 ซอยประสานมิตร ซึ่งวงดนตรีดังกล่าวนี้ มีชื่อว่า “วงประสานมิตร” ท่านเป็นผู้เทิดทูนในหลวงมาก เคยเขียนไว้ใน ต่วยตูน ว่าพระบารมีมากล้นรำพัน
วงประสานมิตรได้รับยกย่องว่าเล่นดนตรีได้เหมือนวงฝรั่งแบบ คาเวีย คูกัต และเบนนี่ กูดแมน อันมีชื่อเสียงก้องโลก
เบนนี่ กูดแมน เคยยกวงมาเมืองไทย เปิดการแสดงที่สวนลุมฯ หนังสือพิมพ์ลงข่าวไปทั่วโลกที่ได้รับพระราชทานเข้าเฝ้าในหลวงอย่างใกล้ชิด ได้ทรงดนตรีกับในหลวง
วงประสานมิตรเป็นที่เชิดหน้าชูตาของสังคมไทยสมัยนั้นเป็นอย่างมาก และยังได้นำเพลงดาวดวงเดือนออกมาเรียบเรียงใหม่ บรรเลงเป็นแนวแจ๊ส (JAZZ) ได้รับความนิยมอย่างมาก และได้มีการนำวงออกแสดงตามสถานที่สำคัญต่าง ๆ ในสมัยนั้น
การเปลี่ยนแปลงเหตุการณ์บ้านเมืองครั้งสำคัญได้เกิดขึ้น ผู้การพุฒ ฯ ต้องตาม พลตำรวจเอก เผ่าศรียานนท์ ไปอยู่ต่างประเทศ บ้านที่ซอยประสานมิตรจำเป็นต้องขายเพื่อลูก ๆ กุญแจธนาคารที่ต่างประเทศ ท่านเผ่า ฯ มอบไว้ให้เมื่อยามเดือดร้อนให้ไปไขได้เลย แต่ไม่เคยไปแตะต้องเลย กุญแจนี้ได้คืนให้คุณหญิงเมื่อท่านเผ่าฯ ถึงแก่กรรม
ต่อมาวงประสานมิตรได้ย้ายเข้าสังกัดกรมดุริยางค์ตำรวจ โดยได้รับเงินเดือนกองดุริยางค์ตำรวจ
บุคลิกของท่านผู้การพุฒ บูรณสมภพ มีความสง่างาม รูปหล่อ จนเกือบจะได้เป็นพระเอกภาพยนตร์ ท่านเป็นคนจริงอารมณ์ดี มีความน่าเกรงขาม รักความยุติธรรม ซื่อสัตย์นอกจากนี้ท่านยังเขียนหนังสือไว้หลายเรื่องน่าอ่าน เรื่องเหล่านั้นได้เล่าบันทึกเรื่องสังคม การเมือง นักเลงโตในสมัยนั้นเกรงกลัวท่านมาก
พ.ต.อ. พุฒ บูรณสมภพ. ถึงแก่กรรม เมื่อวันที่ 9 ตุลาคม 2541
ผมไม่เคยรู้จักท่านมาก่อน เมื่อผมได้มีโอกาสพบกับท่านเป็นเป็นครั้งแรก ท่านได้กรุณาสั่งสอนเรื่องการวางตัวเป็นนักร้อง และชี้ทางให้ผมเดินมาจนทุกวันนี้
ขอน้อมกราบระลึกถึง พันตำรวจเอกพุฒ บูรณสมภพ ด้วยดวงใจครับ
ยงยุทธ พงศ์เสาวภาคย์
อดีตนักร้องโลลิต้าไนท์คลับ-2512
ยุคสุทพ สวลี
รวงทอง
9 ตุลาคม 2559