มท.1 ประชุมผู้ว่าฯ ทั่วประเทศ เน้นย้ำการทำงานในอำนาจหน้าที่ โดยยึดหลักธรรมาภิบาล พร้อมเดินหน้าแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนให้ประชาชน
วันนี้ (6 ก.ค. 65) เวลา 10:30 น. ที่ห้องประชุมราชสีห์ ศาลาว่าการกระทรวงมหาดไทย พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานการประชุมขับเคลื่อนและติดตามการดำเนินงานตามนโยบายรัฐบาลและภารกิจสำคัญของกระทรวงมหาดไทย โดยมี นายอนุชา โมกขะเวส ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย คณะทำงานรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย นายชัยวัฒน์ ชื่นโกสุม นายอรรษิษฐ์ สัมพันธรัตน์ นายนิรัตน์ พงษ์สิทธิถาวร รองปลัดกระทรวงมหาดไทย แพทย์หญิงวันทนีย์ วัฒนะ รองปลัดกรุงเทพมหานคร นายไตรภพ วงศ์ไตรรัตน์ หัวหน้าผู้ตรวจราชการกระทรวงมหาดไทย นายโสภณ สุวรรณรัตน์ รองหัวหน้าผู้ตรวจราชการกระทรวงมหาดไทย คณะผู้ตรวจราชการกระทรวงมหาดไทย นายนิสิต จันทร์สมวงศ์ อธิบดีกรมที่ดิน นายประยูร รัตนเสนีย์ อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น นายบุญธรรม เลิศสุขีเกษม อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย นายสมคิด จันทมฤก อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน พร้อมด้วยหัวหน้าหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ ผู้บริหารสำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทย โดยเป็นการประชุมผ่านระบบ Video Conference ร่วมกับผู้ว่าราชการจังหวัด รองผู้ว่าราชการจังหวัด หัวหน้าส่วนราชการประจำจังหวัดและหัวหน้าส่วนราชการส่วนกลางประจำภูมิภาคในสังกัดกระทรวงมหาดไทย ร่วมประชุม
พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า ผู้ว่าราชการจังหวัดต้องทำหน้าที่ในการบังคับบัญชา กำกับดูแล และบูรณาการการทำงานร่วมกับส่วนราชการ/หน่วยงานในพื้นที่ ให้การปฏิบัติราชการเป็นไปด้วย “ความโปร่งใสและการทำงานตามอำนาจหน้าที่” โดยยึดหลักธรรมาภิบาล (Good Governance) อาทิ การดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ของนายทะเบียน เจ้าพนักงาน และเจ้าหน้าที่ ตามกฎหมายอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน โดยผู้ว่าราชการจังหวัด ปลัดจังหวัด และอธิบดีกรมการปกครอง ต้องกำกับ ติดตาม และดูแลให้เป็นไปตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด รวมทั้งต้องให้ความสำคัญกับการสร้างการรับรู้ความเข้าใจกับประชาชน เพราะกระทรวงมหาดไทยมีองคาพยพทุกกลไกที่ใกล้ชิดกับพี่น้องประชาชนมากที่สุด ทั้งกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน อาสาสมัคร หอกระจายข่าว เครือข่ายสถานีวิทยุชุมชน ซึ่งกระทรวงมหาดไทยเป็นศูนย์กลางข้อมูลของภาครัฐทั้ง 20 กระทรวงในการบูรณาการสร้างการรับรู้สู่ชุมชน ทั้งนี้ ผู้ว่าราชการจังหวัดและนายอำเภอต้องให้ความสำคัญกับการสื่อสารกับสังคม และเน้นย้ำข้าราชการ ผู้นำท้องที่ ท้องถิ่น ให้ความสำคัญด้วย โดยนำสิ่งที่พี่น้องประชาชนควรต้องรู้ ควรต้องทราบ ด้วยการใช้ข้อความ สำนวนภาษาที่กระชับ เข้าใจง่าย ไปพูดคุยกับพี่น้องประชาชนผ่านหอกระจายข่าว ผ่านสถานีวิทยุ และต้องเอาใจใส่ในการลงพื้นที่เพื่อสื่อสารข้อมูลกับประชาชน เพื่อให้ประชาชนได้ทราบ เข้าใจ และร่วมมือกับภาครัฐในการดำเนินการด้านต่าง ๆ นอกจากนี้ ผู้ว่าราชการจังหวัดและนายอำเภอ ต้องให้ความสำคัญกับการทำงานของศูนย์ดำรงธรรม ทั้งรับปัญหา แก้ไขปัญหา ให้ข้อมูลประชาชน และบูรณาการส่งต่อข้อมูลความเดือดร้อนให้กับหน่วยงานที่มีอำนาจหน้าที่รับผิดชอบ โดยโค้ชชิ่ง “เจ้าหน้าที่ศูนย์ดำรงธรรมให้เป็นผู้มีความรอบรู้ มีศิลปะการสื่อสาร และวิธีการรับฟังปัญหาข้อเสนอแนะของพี่น้องประชาชนในทุกเรื่อง และแยกแยะ หาทางช่วยเหลือพี่น้องประชาชน และแจ้งให้เขาเข้าใจ ให้เขาได้รู้ว่าจะทำอย่างไร มีขั้นตอนอย่างไร มีความก้าวหน้าอย่างไร” เพื่อให้พี่น้องประชาชนได้เข้าใจถึงความตั้งใจและกระบวนการทำงาน เพราะถ้าไม่สื่อสาร หรือสื่อสารคำพูดเพียงนิดเดียว อาจทำให้เกิดการเข้าใจผิด และสังคมเข้าใจไม่ตรงกับสิ่งที่กำลังดำเนินการ
พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา ได้กล่าวอีกว่า ในด้านการจัดการสาธารณภัย ขอให้น้อมนำพระราโชบายของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในการทำให้พี่น้องประชาชนกลับไปใช้ชีวิตอย่างเป็นปกติสุขได้โดยเร็ว และดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ให้ดีที่สุดตามกฎหมาย ด้วยการดำเนินการตามแผนเผชิญเหตุที่ได้ทำการปรับปรุงให้มีความทันสมัย ทั้งการเตรียมความพร้อมเครื่องมือ อุปกรณ์ กำลังพล ก่อนเกิดภัย เมื่อเกิดเหตุการณ์ก็ลงไปช่วยแก้ไขปัญหา และเมื่อหลังเกิดภัยเร่งสำรวจและลงไปซ่อมแซมบ้านเรือนให้กับพี่น้องประชาชน ในทุกสาธารณภัยตลอดทั้งปี โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในขณะนี้พี่น้องประชาชนจะได้รับทราบข่าวสารเกี่ยวกับสถานการณ์แผ่นดินไหวและการเตรียมการรับมือสถานการณ์สึนามิของประเทศต่าง ๆ ใกล้เคียงกับประเทศไทย จึงต้องสร้างการรับรู้เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับพี่น้องประชาชนในพื้นที่ เพื่อให้เกิดความตระหนักในการปฏิบัติตนและไม่ตื่นตระหนก รวมทั้งซักซ้อมเตรียมการให้มีความพร้อมในการบริหารสถานการณ์ ทั้งกำลังคน เครื่องมือ แผนผัง พิมพ์เขียว แบบก่อสร้างอาคาร โดยเฉพาะอาคารที่เสี่ยง “ทั้งจังหวัดพื้นที่ติดทะเลและพื้นที่ติดรอยเลื่อนฝั่งตะวันออกของประเทศ” รวมไปถึงในจังหวัดที่เคยเกิดสถานการณ์ดินถล่ม ดินสไลด์ เช่น เชียงราย น่าน เพชรบูรณ์ ที่มีประวัติดินถล่ม และจังหวัดที่อยู่ในพื้นที่รอยเลื่อนต่าง ๆ ต้องเตรียมความพร้อมทั้งก่อนเกิดเหตุสาธารณภัย โดยเจ้าหน้าที่ มิสเตอร์เตือนภัย ผู้นำท้องที่ ท้องถิ่น อปพร. ทำความเข้าใจและฝึกซ้อมพี่น้องประชาชนให้มีความรู้และเข้าใจวิธีปฏิบัติตนหากเกิดภัย เพื่อความปลอดภัยสูงสุดของพี่น้องประชาชน และให้ผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัดร่วมกับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคในพื้นที่ดำเนินการจัดระเบียบสายสื่อสารในจุดที่อาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินของพี่น้องประชาชนในทุกจังหวัดทั่วประเทศ
พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย กล่าวเพิ่มเติมว่า ในด้านการแก้ไขปัญหาความยากจนและพัฒนาคนทุกช่วงวัยอย่างยั่งยืนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงด้วยกลไก ศจพ. ได้มีการดำเนินการทุกระดับเป็นไปตามแผนงานที่กำหนดและมีความคืบหน้าตามลำดับ โดยต้องขอขอบคุณผู้ว่าราชการจังหวัดและนายอำเภอรวมถึงข้าราชการที่เกี่ยวข้องทุกส่วน ที่ร่วมกันสำรวจ รวบรวม และแก้ไขปัญหาให้กับพี่น้องประชาชนอย่างต่อเนื่อง โดยขณะนี้สามารถดำเนินการแก้ไขไปแล้วกว่าร้อยละ 92.37 และเนื่องจากคณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบตามที่สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติในการนำจำนวนประชาชนกลุ่มเป้าหมายบางส่วนที่ไม่ได้อยู่ในระบบ TPMAP มาเป็นเป้าในการแก้ไขปัญหาเพิ่มเติม โดยหากเป็นสภาพปัญหาที่ต้องแก้ไขเร่งด่วน ให้จังหวัดและอำเภอดำเนินการแก้ไขปัญหาให้ทันต่อสถานการณ์ต้องทำเลย แต่หากเป็นสภาพปัญหาที่ต้องบูรณาการหน่วยงานให้ดำเนินการต่อเนื่องตามอำนาจหน้าที่ต่อไป รวมไปถึงการแก้ไขปัญหาหนี้สินของพี่น้องประชาชน ซึ่งเป็นปัญหาเร่งด่วน ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดใช้กลไกของกระทรวงมหาดไทยในพื้นที่ดำเนินการแก้ไขปัญหาให้กับประชาชนที่ประสบปัญหา และหากเป็นสภาพปัญหาที่เกินอำนาจหน้าที่ ให้ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาดำเนินการต่อไป
พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย กล่าวในช่วงท้ายว่า ผู้ว่าราชการจังหวัดต้องให้ความสำคัญในการแก้ไขปัญหายาเสพติด ด้วยกลไกในระดับพื้นที่ ทั้งการลด demand side และ supply side เพราะปัญหายาเสพติดส่งผลกระทบอย่างมากต่อชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน ตลอดจนระบบบริการสาธารณสุข และระบบเศรษฐกิจของประเทศ ทำให้ปัญหายาเสพติดหมดไปจากสังคมไทยอย่างยั่งยืน และสำหรับเรื่องสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ขณะนี้ยังพบจำนวนผู้ติดเชื้อเป็นจำนวนมาก จึงขอให้รณรงค์มาตรการป้องกันตนเองส่วนบุคคล DMHTA ทั้งการสวมหน้ากากอนามัย การล้างมือด้วยแอลกอฮอล์ล้างมือหรือน้ำสบู่บ่อย ๆ การรักษาระยะห่างระหว่างกัน และขอความร่วมมือผู้ประกอบการยังคงใช้มาตรการ COVID free setting ที่เหมาะสมสร้างความปลอดภัยอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งใช้กลไกสาธารณสุขในพื้นที่ในการดูแลรักษาผู้ป่วยและเฝ้าระวังไม่ให้เกิดการระบาดในวงกว้าง พร้อมเน้นย้ำในเรื่องแนวทางปฏิบัติหลังจากกระทรวงสาธารณสุขได้นำพืชกัญชาออกจากบัญชียาเสพติดให้โทษประเภท 5 สิ่งที่ต้องเฝ้าระวัง คือ ต้องไม่ให้กระทบกับ “เด็กเล็ก” ทั้งในโรงเรียนและครอบครัว สังคม และกำกับดูแลพื้นที่ให้ดำเนินการเกี่ยวกับกัญชาเพื่อใช้ในทางการแพทย์เท่านั้น โดยหากพบมีผู้ใช้ในทางที่ผิดกฎหมาย ต้องร่วมกับตำรวจและหน่วยงานสาธารณสุขในพื้นที่ควบคุมดูแลให้เป็นไปตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด
กองสารนิเทศ สป.มท.
วันที่ 6 ก.ค. 2565