“ครูโอ๊ะ” ผนึกกำลัง “กมล-รังสฤษฏ์” จัดกิจกรรมเสวนาแลกเปลี่ยนแนวทางพัฒนาการทำงานร่วมกับภาคีเครือข่าย พร้อมร่วมพิธีลงนามสัญญารับทุนนักศึกษาโครงการครูรัก (ษ์) ถิ่น รุ่นที่ 3 ปีการศึกษา 2565 ชื่นชม (กสศ.) และมหาวิทยาลัยราชภัฏหมู่บ้านจอมบึง ร่วมกันค้นหาให้โอกาสทางการศึกษา และพัฒนาผู้เรียน
วันที่ 19 มิถุนายน 2565 เวลา 11.30 น. : นางกนกวรรณ วิลาวัลย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานในกิจกรรมเสวนาแลกเปลี่ยนแนวทางพัฒนาการทำงานร่วมกับภาคีเครือข่าย พร้อมร่วมพิธีลงนามสัญญารับทุนนักศึกษาโครงการครูรัก (ษ์) ถิ่น รุ่นที่ 3 ปีการศึกษา 2565 โดยมี นายกมล รอดคล้าย ที่ปรึกษา รมช.ศึกษาธิการ ร่วมเดินทางมาด้วย และมี ผศ.ดร.รังสฤษฏ์ อินทรโม คณะที่ปรึกษา รมช.ศธ. ซึ่งเป็นผู้ประสานงานในครั้งนี้ ว่าที่ร้อยตรีสมชาย งามสุขสวัสดิ์ ศึกษาธิการจังหวัดราชบุรี, ผศ.ดร.ชัยฤทธิ์ ศิลาเดช อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏหมู่บ้านจอมบึง, ผู้บริหาร, เจ้าหน้าที่, บุคลากร, ผู้ปกครอง และ นักศึกษา ร่วมให้การต้อนรับ ณ มหาวิทยาลัยราชภัฏหมู่บ้านจอมบึง จังหวัดราชบุรี
นางกนกวรรณฯ กล่าวตอนหนึ่งว่า ดิฉันรู้สึกเป็นเกียรติและดีใจเป็นอย่างยิ่ง ที่ได้มาเป็นประธานในกิจกรรมเสวนาแลกเปลี่ยนแนวทางพัฒนาการทำงานร่วมกับภาคีเครือข่าย และพิธีลงนามสัญญารับทุนนักศึกษาโครงการครูรัก (ษ์) ถิ่น รุ่นที่ 3 ปีการศึกษา 2565 ระหว่างมหาวิทยาลัยราชภัฏหมู่บ้านจอมบึง กับ กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ในครั้งนี้ จากการกล่าวรายงานของท่านอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏหมู่บ้านจอมบึง ทำให้ทราบว่า มีการมอบทุนนี้มาแล้ว 2 รุ่น ในสาขาการศึกษาปฐมวัย ซึ่งแสดงให้เห็นว่า (กสศ.) ได้ให้ความสำคัญและให้ความเชื่อมั่นกับการผลิตบัณฑิตเพื่อรับใช้สังคมของมหาวิทยาลัยแห่งนี้ ที่สามารถตอบโจทย์ได้เป็นอย่างดี ซึ่งการศึกษาต้องเริ่มต้นจากเมล็ดพันธุ์ที่ได้รับการบ่มเพาะอย่างมีคุณภาพ เมื่อเมล็ดพันธ์ุได้เติบโตอย่างมีคุณภาพมีความแข็งแรงก็จะแผ่รากแก้วเพื่อยึดเหนี่ยวผืนแผ่นดินและสร้างโครงสร้างที่แข็งแรงกระทั่งเกิดการเจริญเติบโตงอกงามและสร้างพลเมืองที่มีคุณภาพเพื่อยึดโยงทำให้ประเทศไทยของเราพัฒนาต่อไป
ทั้งนี้ยังทราบอีกว่าต่อไปในปีการศึกษา 2566 จะยื่นข้อเสนอขอรับทุนในโครงการครูรัก (ษ์) ถิ่นในสาขาการประถมศึกษาเพิ่มเติมอีก 1 สาขา ดิฉันคิดว่าการทำงานของ (กสศ.) ลักษณะนี้เป็นการให้โอกาสทางการศึกษาแก่ผู้ที่มีใจรักในวิชาชีพครูอย่างแท้จริง ด้วยเงื่อนไขต่างๆ ที่ทางโครงการฯ ได้กำหนดไว้ อาทิ ต้องเป็นนักเรียนที่ขาดแคลนทุนทรัพย์หรือเรียกได้ว่ายากจนตามเกณฑ์รายได้ที่ (กสศ.) กำหนด อีกทั้งต้องอาศัยอยู่ในพื้นที่ห่างไกล เพื่อให้บัณฑิตเหล่านี้กลับไปพัฒนาท้องถิ่นของตนเอง เป็นต้น
“ครูโอ๊ะ ขอชื่นชม (กสศ.) และมหาวิทยาลัยราชภัฏหมู่บ้านจอมบึง ที่ร่วมกันค้นหาให้โอกาสทางการศึกษา และพัฒนาผู้เรียนได้สมตามเจตนารมณ์ของโครงการฯ ขอให้มีโครงการดีๆแบบนี้ในทุกๆ ปี ทั้งยังขอชื่นชมโรงเรียนต่างๆ ผอ.เขตพื้นที่การศึกษา ศึกษานิเทศก์ นักวิชาการ และทุกภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง ที่มาร่วมงานในวันนี้เพราะสิ่งที่จะดำเนินการเป็นสิ่งที่สำคัญ การทำงานถึงรากหญ้าจะทำให้ก่อเกิดประโยชน์อย่างแท้จริง โดยเฉพาะโครงการครูรัก (ษ์) ถิ่น ที่จะได้กลับไปทำงานให้กับพื้นถิ่นของตนเองสามารถกลับไปดูแลครอบครัวที่อยู่ในชนบทได้ ซึ่งถือเป็นโอกาสที่ดีในการร่วมกันเติมเต็มและเป็นโอกาสที่ดี เพราะในเรื่องของหลักสูตร ในเรื่องของกิจกรรมได้ถูกออกแบบร่วมกันจากการบูรณาการกันอย่างแท้จริง ซึ่งเป็นมิติที่สร้างความยั่งยืน เข้มแข็ง และสร้างการพัฒนาให้กับครูรักษ์ถิ่นรวมไปถึงคนในชุมชน คนในพื้นที่ได้ก่อประโยชน์อย่างยั่งยืนต่อไป
ขอขอบคุณ และเชิดชูพ่อแม่ผู้ปกครองทุกคน ที่ส่งเสริมให้ลูกๆ มาเป็นครู และขอเป็นกำลังใจให้กับน้องๆ ผู้เรียนขอให้ทุกคนประสบความสำเร็จสมดังตั้งใจ บัดนี้ได้เวลาอันสมควรแล้ว ดิฉันขอเปิดกิจกรรมเสวนาแลกเปลี่ยนแนวทางพัฒนาการทำงานร่วมกับภาคีเครือข่าย พร้อมทั้งพิธีลงนามสัญญารับทุนนักศึกษาโครงการครูรัก (ษ์) ถิ่น รุ่นที่ 3 ปีการศึกษา 2565” นางกนกวรรณฯ กล่าว
จากนั้น รมช.ศึกษาธิการ ได้เดินทางไปเยี่ยมชมบ้านไร่รัก (ษ์) ถิ่น ซึ่งเป็นแปลงสาธิตการปลูกพืชผักสวนครัว, เพาะเห็ด, ปลูกไม้ดอก, ไม้ประดับ, เลี้ยงไก่เลี้ยงเป็ด และเลี้ยงกบ ซึ่งระหว่างการเยี่ยมชม รมช.ศึกษาธิการ ได้กล่าวชื่นชมการทำกิจกรรมและกล่าวให้กำลังใจนักศึกษาทุกคนพร้อมอวยพรให้ทุกคนประสบความสำเร็จนำความรู้ที่ได้ไปพัฒนาบ้านเกิดของตัวเอง ก่อนจะเดินทางไปเยี่ยมชมหอพักคุรุพัฒนาต่อไป
สุรเชษฐ ศิลานนท์ รายงาน