วันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2568 สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงทอดพระเนตร สตรอว์เบอร์รีพันธุ์พระราชทาน 89 ผลงานวิจัยเด่นที่คว้ารางวัล NRCT AWARD ฉลองครบรอบ 65 ปี สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ที่จัดแสดงในงาน “วันนักประดิษฐ์ ประจำปี 2568” เพื่อยกย่องนวัตกรรมที่มีศักยภาพในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ
ผลงานวิจัย “สตรอว์เบอร์รีพันธุ์พระราชทาน 89” – งานวิจัยเด่นจากมหาวิทยาลัยนเรศวร โดย รองศาสตราจารย์ ดร.พีระศักดิ์ ฉายประสาท และทีมวิจัยจาก มหาวิทยาลัยนเรศวร ได้รับการพัฒนาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี พ.ศ.2557-2563 ภายใต้โครงการ “การปรับปรุงพันธุ์สตรอว์เบอร์รีเพื่อเพิ่มศักยภาพในการผลิตแอนโทไซยานิน” ซึ่งเป็นความร่วมมือทางวิชาการระหว่าง มูลนิธิโครงการหลวง และมหาวิทยาลัยนเรศวร ได้รับทุนสนับสนุนจาก สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.)
พันธุ์นี้เกิดจากการผสมข้ามพันธุ์ระหว่าง “329” (ต้นพ่อจากอิสราเอล) และ “พระราชทาน 80” (ต้นแม่ของไทย) จนได้พันธุ์ที่มีคุณลักษณะโดดเด่น ได้แก่ ขนาดผลใหญ่ ใกล้เคียงกับพันธุ์ที่ปลูกในเกาหลีใต้ รสชาติหวาน กลิ่นหอม ความหวานเฉลี่ย 12.30 องศาบริกซ์ เนื้อแน่น ทนทานต่อการขนส่ง มีความแน่นเนื้อ 4.22 นิวตัน สีแดงเข้ม มีสารแอนโทไซยานินสูง (เฉลี่ย 40.83 มิลลิกรัม/100 กรัม) สูงกว่าพันธุ์การค้าทั่วไปถึง 2 เท่า ศักยภาพทางเศรษฐกิจสูง ช่วยสร้างรายได้ให้เกษตรกรกว่า 57,000 บาท/ไร่
ได้รับ พระราชทานนามว่า “สตรอว์เบอร์รีพันธุ์พระราชทาน 89” ในปี พ.ศ. 2565 โดย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งชื่อตามพระชนมายุของ ในหลวงรัชกาลที่ 9 ที่หากยังทรงมีพระชนม์ชีพอยู่ จะมีพระชนมายุ 89 พรรษา
ความท้าทายและแนวทางพัฒนาเพื่อยืดอายุการเก็บรักษา ผลักดันสู่อุตสาหกรรมและการค้า แม้ว่าสตรอว์เบอร์รีพันธุ์พระราชทาน 89 จะมีข้อจำกัดด้านอายุการเก็บรักษาสั้น แต่ทีมวิจัยได้พัฒนาเทคโนโลยีเพื่อยืดอายุการเก็บรักษาด้วยการฉีดพ่นสารละลายไคโตซาน (chitosan) 1-2 % หรือสารละลายเมทิลจัสโมเนต (Methyl jasmonate; MeJA) 100 ไมโครลิตรในแปลงปลูกก่อนเก็บเกี่ยว 2 สัปดาห์ร่วมกับการใช้บรรจุภัณฑ์แบบดัดแปลงสภาพบรรยากาศ ทำให้สามารถยืดอายุการเก็บรักษาและรักษาคุณภาพของผลผลิตได้นานขึ้น
ปัจจุบัน สตรอว์เบอร์รีพันธุ์พระราชทาน 89 ได้ขยายการทดลองปลูกทดสอบในพื้นที่สถานีเกษตรโครงการหลวง 4 แห่งในเชียงใหม่ ได้แก่ สถานีเกษตรหลวงทุ่งหลวง (แม่วาง), สถานีเกษตรหลวงอินทนนท์ (จอมทอง), สถานีเกษตรหลวงแม่สาใหม่ (แม่ริม), สถานีเกษตรหลวงอ่างขาง (ฝาง) โดยในปี พ.ศ.2568 จะเริ่มวางจำหน่ายอย่างเป็นทางการที่ ร้านมูลนิธิโครงการหลวงและห้างสรรพสินค้าชั้นนำทั่วประเทศ
สตรอว์เบอร์รีพันธุ์พระราชทาน 89 ไม่เพียงเป็นนวัตกรรมด้านเกษตรที่ได้รับรางวัลอันทรงเกียรติเท่านั้น แต่ยังเป็นอีกหนึ่งตัวอย่างของความสำเร็จในการพัฒนา “เกษตรเชิงนวัตกรรม” ที่สามารถเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ และช่วยสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรไทยอย่างยั่งยืน
ขอเชิญชวนให้ประชาชน นักเรียน นักศึกษา และผู้สนใจทั่วไป เข้าชมและศึกษาการปลูกและผลิต ด้านวิชาการ (ต้นพันธุ์ปลอดโรค การปลูก ดูแลรักษา การเก็บเกี่ยว และการตลาด) ในงานวันนักประดิษฐ์ ลงทะเบียนเข้าชม ฟรี ได้ที่ http://inventorsdayregis.com โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย อย่าพลาดโอกาสในการสัมผัสผลงานนวัตกรรมระดับโลก ระหว่างวันที่ 2-6 กุมภาพันธ์ 2568 เวลา 09.00-17.30 น.