สว.นันทนา
เขากระโดง : บททดสอบนิติรัฐไทย
ที่ดินเขากระโดง 5,083 ไร่ ทางตอนใต้ของเทศบาลเมืองบุรีรัมย์ มูลค่าเท่าใดมิอาจทราบได้ แต่ได้กลายเป็น “อภิมหากาพย์” ที่กำลังทดสอบความเป็นนิติรัฐของไทยครั้งสำคัญ
คณะกรรมการกฤษฎีกา เคยวินิจฉัยเมื่อปี 2541 ว่าที่ดินที่เป็นข้อพิพาท “เป็นกรรมสิทธิ์ของการรถไฟ” และต่อมาในปี 2554 คณะกรรมการ ป.ป.ช. ก็วินิจฉัยว่า โฉนดที่ดินดังกล่าวออกทับที่อันเป็นกรรมสิทธิ์ของการรถไฟ จึงเป็นการออกโฉนดที่มิชอบ
คดีนี้ผ่านการพิจารณาของศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์ และศาลฎีกาแล้ว โดยศาลฎีกาพิพากษาเมื่อปี 2561 ยืนว่า ที่ดินดังกล่าวเป็นของการรถไฟ ไม่สามารถออกโฉนดทับที่ดังกล่าวได้ จึงให้ผู้ครอบครองเคลื่อนย้ายออกและรื้อถอนสิ่งก่อสร้าง
เรื่องที่ควรจะจบที่คำพิพากษาของศาลฎีกากลับไม่จบ เนื่องจากหน่วยงานที่รับผิดชอบไม่ยอมดำเนินการเพิกถอนโฉนดที่ศาลฎีกาได้พิพากษาว่า เป็นโฉนดที่ออกโดยมิชอบ
เหลือเชื่อไหม ปทท ???
คดีนี้จึงวนไปสู่ศาลปกครอง โดยศาลปกครองกลางได้มีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2566 ยืนตามที่ศาลยุติธรรมได้มีคำพิพากษาว่า กรรมสิทธิ์ที่ดินเป็นของการรถไฟ โฉนดที่ผู้ครอบครองที่ดินถือเป็นโฉนดที่มิชอบ และให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง “ตั้งคณะกรรมการสอบสวน… เพื่อหาแนวเขตที่ดินที่เป็นของการรถไฟตามคำพิพากษาศาลฎีกา” ภายใน 15 วัน เพื่อดำเนินการเพิกถอนโฉนดที่ออกโดยมิชอบ
แต่ความมหัศจรรย์ของ ปทท ไม่จบเพียงนั้น
เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน 2567 กรมที่ดินได้เผยแพร่เอกสารแจ้งมติของคณะกรรมการสอบสวนฯ ของกรมที่ดิน โดยระบุว่า คณะกรรมการฯ “มีมติเป็นเอกฉันท์เห็นสมควรไม่เพิกถอนหรือแก้ไขหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินบริเวณเขากระโดง…”
เท่าที่จำความกันได้ คุณเคยเห็นคดีอะไรที่จะเป็นมหากาพย์ ยืดเยื้อยาวนาน ผ่านกระบวนการยุติธรรมกันมากมายเพียงนี้ไหม มีคดีอะไรที่ศาลฎีกา อันเป็นศาลยุติธรรมสูงสุดของแผ่นดิน มีคำพิพากษาแล้ว คดียังไม่จบ
และยังมองไม่ออกว่าจะจบเมื่อใด ยังไง
ทั้งหมดนี้มันบ่งบอกอะไรเกี่ยวกับความเป็นนิติรัฐของไทย เรายังห่างไกลกันเกินไปในความเสมอภาคทางกฎหมายหรือไม่ คุณเข้าใจหรือยังว่า “ประชาธิปไตย” กับ “คณาธิปไตย” ในแก่นสาร มันต่างกันอย่างไร