ตำรวจ ทหาร อัยการ ศาล คุก

คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติชี้มูลความผิดคดีสำคัญกรณีเกี่ยวกับการกระทำความผิดต่อตำแหน่ง หน้าที่ราชการ 3 เรื่อง 


27 สิงหาคม 2024, 16:03 น.

 

คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติชี้มูลความผิดคดีสำคัญกรณีเกี่ยวกับการกระทำความผิดต่อตำแหน่ง หน้าที่ราชการ 3 เรื่อง 

 

วันนี้ (27 สิงหาคม 2567) นายนิวัติไชย เกษมมงคล เลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. ในฐานะโฆษกสำนักงาน ป.ป.ช. แถลงว่าคณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติชี้มูลความผิดคดีสำคัญกรณีเกี่ยวกับการกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ รวมจำนวน 3 เรื่อง ดังนี้

 

เรื่องที่ 1 กรณีคณะกรรมการ ป.ป.ช. มอบหมายคณะไต่สวนเบื้องต้นเพื่อดำเนินการไต่สวน กรณีกล่าวหานายรังสรรค์ บุญมี เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งนายกองค์การบริหารส่วนตำบลโพธิ์ศรีสว่าง อำเภอโพนทอง จังหวัดร้อยเอ็ด ติดต่อเรียกรับเงินจากบุคคลที่ประสงค์จะเข้าทำงานที่องค์การบริหารส่วนตำบลโพธิ์ศรีสว่างโดยมิชอบ

 

ข้อเท็จจริงจากการไต่สวนปรากฏว่า เมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม 2560 นายรังสรรค์ บุญมี เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งนายกองค์การบริหารส่วนตำบลโพธิ์ศรีสว่าง อำเภอโพนทอง จังหวัดร้อยเอ็ด ได้ติดต่อกับบุคคลซึ่งประสงค์จะให้บุตรสาวเข้าทำงานที่องค์การบริหารส่วนตำบลโพธิ์ศรีสว่าง โดยแจ้งว่าจะมีตำแหน่งงานบัญชีว่าง 1 อัตรา และได้เรียกรับเงินเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินการเพื่อให้บุตรสาวของบุคคลดังกล่าวได้เข้าทำงานภายในเดือนตุลาคม 2560 จนบุคคลดังกล่าวหลงเชื่อและมอบเงินให้แก่นายรังสรรค์ บุญมี จำนวน 3 ครั้ง รวมเป็นเงินจำนวนทั้งสิ้น 190,000 บาท โดยที่องค์การบริหารส่วนตำบลโพธิ์ศรีสว่างไม่มีการเปิดตำแหน่งตามที่ นายรังสรรค์ บุญมี กล่าวอ้างแต่อย่างใด

 

คณะกรรมการ ป.ป.ช. พิจารณาแล้วมีมติดังนี้

การกระทำของนายรังสรรค์ บุญมี มีมูลความผิดทางอาญา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 149 และมาตรา 157 พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปรามปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 103 และมาตรา 122 (ปัจจุบันเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 128 และมาตรา 169) ประกอบประกาศคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ เรื่อง หลักเกณฑ์การรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดโดยธรรมจรรยาของเจ้าหน้าที่ของรัฐ พ.ศ. 2543 มาตรา 123/1 และมาตรา 123/2 (ปัจจุบันเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 172 และมาตรา 173) และมีมูลความผิดตามพระราชบัญญัติสภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ. 2537 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 92

 

ให้ส่งรายงาน สำนวนการไต่สวน เอกสารหลักฐาน สำเนาอิเล็กทรอนิกส์ และคำวินิจฉัย ไปยังอัยการสูงสุด เพื่อดำเนินคดีอาญาในศาลซึ่งมีเขตอำนาจพิจารณาพิพากษาคดี และส่งสำนวนการไต่สวนและเอกสารหลักฐาน พร้อมความเห็นไปยังผู้มีอำนาจแต่งตั้งถอดถอน เพื่อพิจารณาดำเนินการตามหน้าที่และอำนาจ ตามฐานความผิดดังกล่าว ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 91 (1) (2) และมาตรา 98 แล้วแต่กรณี

 

เรื่องที่ 2 กรณีคณะกรรมการ ป.ป.ช. มอบหมายคณะไต่สวนเบื้องต้นเพื่อดำเนินการไต่สวน กรณีกล่าวหานายมงคล เพ็งสมภาร เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งนายกองค์การบริหารส่วนตำบลผาตั้ง อำเภอสังคม จังหวัดหนองคาย เรียกรับเงินค่าตอบแทนการต่อสัญญาจ้างจากพนักงานจ้าง จำนวน 18 ราย

 

ข้อเท็จจริงจากการไต่สวนปรากฏว่า ในระหว่างปี พ.ศ. 2555 – 2558 นายมงคล เพ็งสมภาร ในฐานะนายกองค์การบริหารส่วนตำบลผาตั้ง อำเภอสังคม จังหวัดหนองคาย ซึ่งมีอำนาจในการสั่งอนุญาต อนุมัติ ให้ต่อสัญญาจ้างของพนักงานจ้างองค์การบริหารส่วนตำบลผาตั้ง ได้เรียกรับเงินเป็นค่าตอบแทนในการต่อสัญญาจ้างจากพนักงานจ้าง จำนวน 18 รายๆ ละ 20,000 – 50,000 บาท การกระทำของนายมงคล เพ็งสมภาร จึงเป็นการเรียกรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดสำหรับตนเองหรือผู้อื่นโดยมิชอบ เพื่อกระทำการอย่างใดในตำแหน่ง ไม่ว่าการนั้นจะชอบหรือมิชอบด้วยหน้าที่

 

คณะกรรมการ ป.ป.ช. พิจารณาแล้ว มีมติดังนี้

การกระทำของนายมงคล เพ็งสมภาร มีมูลความผิดทางอาญา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 149 และมาตรา 157 ประกอบมาตรา 91 พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปรามปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 123/1 (ปัจจุบันเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 172) ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 และมีมูลความผิดตามพระราชบัญญัติสภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ. 2537 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 92

 

ให้ส่งรายงาน สำนวนการไต่สวน เอกสารหลักฐาน สำเนาอิเล็กทรอนิกส์ และคำวินิจฉัย ไปยังอัยการสูงสุด เพื่อดำเนินคดีอาญาในศาลซึ่งมีเขตอำนาจพิจารณาพิพากษาคดี และส่งสำนวนการไต่สวนและเอกสารหลักฐาน พร้อมความเห็นไปยังผู้มีอำนาจแต่งตั้งถอดถอน เพื่อพิจารณาดำเนินการตามหน้าที่และอำนาจ ตามฐานความผิดดังกล่าว ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 91 (1) (2) และมาตรา 98 แล้วแต่กรณี

 

เรื่องที่ 3 กรณีคณะกรรมการ ป.ป.ช. มอบหมายคณะไต่สวนเบื้องต้นเพื่อดำเนินการไต่สวน กรณีกล่าวหา นายอนันต์ คำชัยวงค์ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งนายกเทศมนตรีตำบลหนองจ๊อม อำเภอสันทราย จังหวัดเชียงใหม่ และนางสุทิศา ทัศเกตุ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งประธานสภาเทศบาลตําบลหนองจ๊อม นำรถยนต์ส่วนกลางของเทศบาลตำบลหนองจ๊อมไปใช้ส่วนตัว

 

ข้อเท็จจริงจากการไต่สวนปรากฏว่า เมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2561 นายอนันต์ คําชัยวงค์ ขณะดำรงตำแหน่งนายกเทศมนตรีตําบลหนองจ๊อม ได้ขับรถยนต์ส่วนกลาง หมายเลขทะเบียน ขง 2946 เชียงใหม่ ไปซื้อเครื่องไม้เฟอร์นิเจอร์ไม้สักเพื่อใช้เป็นการส่วนตัวที่อำเภอเด่นชัย จังหวัดแพร่ และเมื่อวันที่ 13 สิงหาคม 2561 ได้ให้บุคคลภายนอกขับรถตู้ส่วนกลางหมายเลขทะเบียน นง 4104 เชียงใหม่ ไปงานศพที่อำเภอแม่วาง จังหวัดเชียงใหม่ ส่วนนางสุทิศา ทัศเกตุ ขณะดำรงตำแหน่งประธานสภาเทศบาลตําบลหนองจ๊อม ได้นำกุญแจรถตู้ส่วนกลาง หมายเลขทะเบียน นง 4104 เชียงใหม่ ให้บุคคลภายนอกขับพากลุ่มสาวรำวงไปร่วมงานประกวดแข่งขันรำวงย้อนยุคที่ศูนย์การค้าบิ๊กซี อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ เมื่อวันที่ 26 สิงหาคม 2561 โดยการใช้รถยนต์ดังกล่าว นายอนันต์ คำชัยวงค์ และนางสุทิศา ทัศเกตุ ไม่ได้ขออนุญาตใช้รถและไม่ได้ลงบันทึกการใช้รถตามระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการใช้รถและรักษารถยนต์ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2548 อีกทั้งเทศบาลตำบลหนองจ๊อมไม่มีระเบียบใด กำหนดให้ผู้บริหารหรือพนักงานเทศบาลนำรถส่วนกลางเดินทางไปงานหรือกิจกรรมที่มิได้เป็นไปเพื่อประโยชน์ของทางราชการแต่อย่างใด

 

คณะกรรมการ ป.ป.ช. พิจารณาแล้วมีมติดังนี้

1. การกระทำของนายอนันต์ คำชัยวงค์ มีมูลความผิดทางอาญา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 151 และมาตรา 157 พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 123/1 (ปัจจุบันเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วย การป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 172) และตามพระราชบัญญัติเทศบาล พ.ศ.2496 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 73

 

2. การกระทำของนางสุทิศา ทัศเกตุ มีมูลความผิดทางอาญา ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 123 ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 171 และตามพระราชบัญญัติเทศบาล พ.ศ. 2496 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 73

 

ให้ส่งรายงาน สำนวนการไต่สวน เอกสารหลักฐาน สำเนาอิเล็กทรอนิกส์ และคำวินิจฉัยไปยังอัยการสูงสุด เพื่อดำเนินคดีอาญาในศาลซึ่งมีเขตอำนาจพิจารณาพิพากษาคดี และส่งรายงาน สำนวนการไต่สวน เอกสารหลักฐาน และคำวินิจฉัยไปยังผู้บังคับบัญชา เพื่อดำเนินการทางวินัย ตามฐานความผิดดังกล่าวตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 91 (1) (2) และมาตรา 98 แล้วแต่กรณีต่อไป และให้แจ้งผู้บังคับบัญชาหรือผู้มีอำนาจแต่งตั้งถอดถอน ดำเนินการตามหน้าที่และอำนาจเพื่อให้มีการชดใช้ค่าเสียหาย ตามพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539 รวมทั้ง ให้แจ้งผลการพิจารณาของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ให้สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งทราบด้วย

 

ข่าวในหมวดเดียวกัน

เพิ่มเติม...

การเมือง

คอลัมนิสต์

คมในความ

มหาราษฎร์ Shorts

ภาพเก่าเล่าอดีต

ไฮไลท์

ข่าวประชาสัมพันธ์

ตำรวจ ทหาร อัยการ ศาล คุก

ท่องเที่ยว

ศาสนา

สุขภาพ

แวดวงนักรบ

สังคม

บทบาทบุคคล

< กลับหมวดตำรวจ ทหาร อัยการ ศาล คุก

เรื่องล่าสุด