5 หลังจากวัดธรรมิการาม ยื่นเรื่องต่อที่ดินอำเภอ ประจวบคีรีขันธ์ เพื่อให้เสนอรัฐมนตรีมหาดไทยมีคำสั่งไม่อนุญาตให้รับโอนที่ดิน เรื่องก็ไปดำเนินงานอยู่ที่ที่ดินอำเภอ และที่ดินจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ มีการตรวจสอบข้อเท็จจริงและเรื่องราวทั้งหลาย โดยให้สำนักงานที่ดินจังหวัดปทุมธานีช่วยตรวจสอบดำเนินการด้วย การดำเนินการในช่วงนี้ใช้เวลาประมาณ 3 ปี สำนักงานปลัดจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ก็ได้ส่งเรื่องไปถึงกรมที่ดิน กรมที่ดินทำเรื่องตรวจสอบ และเสนอสำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทย ให้นำเสนอรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ว่าสมควรดำเนินการตามความประสงค์ของวัด คือ
1. ไม่อนุญาตให้ วัดธรรมิการามรับโอนที่ดินมรดก
2. ให้ผู้จัดการมรดกคือมูลนิธิมหามกุฎ จำหน่ายที่ดินและมอบเงินค่าขายที่ดินแก่วัดตามพินัยกรรม
ปลัดกระทรวงมหาดไทย มีความเห็น ตามที่กรมที่ดินเสนอและที่สำนักงานปลัดได้เสนอด้วย จึงทำบันทึกเสนอรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ซึ่งนายเสนาะ เทียนทอง มาดำรงตำแหน่งพอดี ให้ดำเนินการตามความประสงค์ของวัด คือ
1. ไม่อนุญาตให้วัดรับโอนมรดก
2. ให้ผู้จัดการมรดกจำหน่ายที่ดินเพื่อเอาเงินมามอบแก่วัด ตามพินัยกรรม
นายเสนาะ เทียนทอง รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ปฏิบัติราชการแทนรัฐมนตรี จึงมีคำสั่งตามที่ปลัดกระทรวงมหาดไทยเสนอ
ซึ่งเป็นการใช้อำนาจตามปกติ และตามทางราชการที่มีการเสนอ โดยถูกต้องเป็นอย่างเดียวกันตั้งแต่จังหวัดประจวบ กรมที่ดินและสำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทย
เมื่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยมีคำสั่งไม่อนุญาตเช่นนั้นแล้ว ทางวัดธรรมิการามจึงได้ประสานงานกับมูลนิธิมหามกุฏซึ่งเป็นผู้จัดการมรดกเพื่อให้ดำเนินการตามพินัยกรรม
มูลนิธิมหามกุฏ ได้จัดประชุมคณะกรรมการพิจารณาเรื่องนี้ โดยมีสมเด็จพระญาณสังวรเป็นประธาน และพลเอกหะริน หงษ์สกุล เป็นเลขานุการ เห็นว่ามีการดำเนินงานมาถูกต้องตามกฎหมายและพระวินัยเรียบร้อยแล้ว มูลนิธิมหามกุฏจึงรับดำเนินการ โดยเป็นผู้จัดการมรดกตามพินัยกรรม จึงได้ยื่นคำร้องขอต่อศาลแพ่ง ขอให้ศาลตั้ง มูลนิธิมหามกุฏ เป็นผู้จัดการมรดกของยายเนื่อมตามพินัยกรรม เพื่อทำการขายที่ดินมรดก และนำเงินมอบแก่วัดธรรมิการามตามพินัยกรรมต่อไป โดยในการขายที่ดินมรดกนั้นให้ใช้วิธีการขายทอดตลาด
เมื่อศาลแพ่งมีคำสั่งแต่งตั้งมูลนิธิมหามกุฏ ให้เป็นผู้จัดการมรดกแล้ว มูลนิธิมหามกุฏจึงได้ทำการขายที่ดินมรดกยายเนื่อม โดยวิธีการขายทอดตลาด
ผลการขายทอดตลาดครั้งที่ 1 ไม่มีผู้เข้าซื้อ จึงมีการขายทอดตลาดครั้งที่ 2 มีผู้เสนอราคาสูงสุดแค่ 60 กว่าล้านบาท ผู้ขายทอดตลาดจึงไม่ขาย และทำการขายทอดตลาดครั้งที่ 3
ในการขายทอดตลาดครั้งที่ 3 นี้ ปรากฏว่าศิษย์วัดธรรมิการามคนหนึ่ง ได้ติดต่อให้นายแพทย์บุญ วนาสิน นักธุรกิจใจบุญ ให้มาร่วมประมูลด้วย
ผลการขายทอดตลาดครั้งที่ 3 นายแพทย์บุญ ชนะการประกวดราคา จึงสามารถซื้อที่ดินมรดกรายนี้ได้ แต่เป็นการซื้อในนามบริษัทที่จัดตั้งขึ้น ซึ่งก็คือบริษัทอัลไพร์ในปัจจุบันนั่นเอง
เมื่อนายแพทย์บุญโดยบริษัทดังกล่าว ชนะการประกวดราคาแล้ว ก็ได้ติดต่อเชิญภรรยานายเสนาะ เทียนทอง ให้เข้าถือหุ้นในบริษัทนี้ และภรรยานายสนาะ เทียนทอง ก็ได้เข้าถือหุ้น เป็นหุ้นข้างมากในบริษัทดังกล่าว
เงินได้จากการขายที่ดินทั้งหมดผู้จัดการมรดกได้ ส่งมอบแก่วัดธรรมิการามเรียบร้อยแล้ว
และช่วงนั้นเป็นช่วงที่ดอกเบี้ยเงินฝากอัตราสูงมาก คือได้รับดอกเบี้ยจากการฝากเงินถึง 16 เปอร์เซ็นต์ ในระยะไม่กี่ปีหลังจากนั้น วัดธรรมิการาม ได้รับดอกเบี้ยจากเงินฝาก เป็นจำนวนกว่า 200 ล้านบาท และได้นำดอกเบี้ยไปใช้จ่ายบำรุงวัดและสร้างศาสนสถานจำนวนมากขึ้นในวัดธรรมิการาม คงเหลือแต่ต้นเงินไว้ตามเจตนาของเจ้ามรดก จนกระทั่งทุกวันนี้
Cr. เฟซบุ๊ก “Paisal Puechmongkol”, ภาพปกจาก Kolfers.com