ถกเถียงบนข้อเท็จจริง!!
‘ดร.หิมาลัย’ เปิดงาน ‘มายาธิปไตย 2475 #เทสที่สร้างร่างที่เป็น’ สะท้อนอีกแง่มุมประวัติศาสตร์ 2475 ที่หลายคนอาจยังไม่เคยรู้
รวมไทยสร้างชาติ จัดเสวนาประวัติศาสตร์ 2475 พร้อมจัดฉายภาพยนตร์ 2475 รุ่งอรุณแห่งการปฏิวัติ ณ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยารามคำแหง ร่วมสะท้อนอีกแง่มุมประวัติศาสตร์ที่ไม่เคยรู้ แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันอย่างหลากหลายบนพื้นฐานข้อเท็จจริง โดยมีผู้ที่สนใจและนักศึกษาร่วมงานจำนวนมาก
(6 ส.ค.67) ดร.หิมาลัย ผิวพรรณ ผู้อำนวยการพรรครวมไทยสร้างชาติ เป็นประธานการเปิดกิจกรรมเสวนา ‘มายาธิปไตย 2475 #เทสที่สร้างร่างที่เป็น’ และรับชมภาพยนตร์ 2475 รุ่งอรุณแห่งการปฏิวัติ ณ ห้องประชุมชั้น 12 อาคารศรีศรัทธา คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง โดยมีตัวแทนจากพรรครวมไทยสร้างชาติ อาทิ ว่าที่ ร.ต.อ.หญิง อัยรดา บำรุงรักษ์ รองโฆษกพรรครวมไทยสร้างชาติ นายภัทรพล แก้วสกุณี อดีตผู้สมัคร สส.เขต6 จ.ปทุมธานี พรรครวมไทยสร้างชาติ น.ส.พัชรนันท์ โกศลสมบัตินนท์ อดีตผู้สมัคร สส.กทม.พรรครวมไทยสร้างชาติ นาย อิทธิพัทธ์ เศรษฐยุกานนท์ อดีตผู้สมัคร สส.กทม.พรรครวมไทยสร้างชาติ พร้อมด้วย ดร.อานนท์ ศักดิ์ อาจารย์ประจำคณะสถิติประยุกต์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) และนักศึกษาประชาชนร่วมงานจำนวนมาก
โดย ดร.หิมาลัย ผิวพรรณ ได้กล่าวเปิดงานว่า วันนี้เราจะได้ร่วมกันแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและประสบการณ์ในการศึกษาเรื่องราวเหล่านี้ ทั้งจากมุมมองของนักวิชาการ นักประวัติศาสตร์ และผู้เชี่ยวชาญในด้านต่าง ๆ เพื่อให้เกิดความเข้าใจที่ลึกซึ้งยิ่งขึ้นเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงนี้
“เรามาร่วมไขความจริงกันอีกครั้ง ว่า การเปลี่ยนแปลงการปกครอง ปี 2475 นั้น เป็นความหวังในการสร้างระบอบประชาธิปไตย หรือที่มีผู้คนอีกจำนวนไม่น้อย ที่มองว่าเป็นเพียงภาพลวงตาหรือความฝันที่ไม่สามารถตอบโจทย์การเมืองการปกครองของสังคมไทยได้อย่างแท้จริง…
“หวังว่าการเสวนาครั้งนี้จะเป็นโอกาสที่ดี ในการแลกเปลี่ยนความคิดเห็น และสร้างความเข้าใจ เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงการปกครองและเส้นทางแห่งประชาธิปไตยของไทย ซึ่งหวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะสามารถนำไปปรับใช้ เพื่อประโยชน์ของสังคมและการเมืองของเราต่อไป”
สำหรับการเสวนาในหัวข้อ ‘มายาธิปไตย 2475 #เทสที่สร้างร่างที่เป็น’ นั้นได้มีวิทยากรร่วมในการบรรยายจำนวน 5 ท่าน ซึ่งล้วนแต่แสดงความคิดเห็นในหลากหลายแง่มุม ได้แก่…
นายวิวัธน์ จิโรจน์กุล ผู้กำกับภาพยนตร์ แอนิเมชัน 2475 รุ่งอรุณแห่งการปฏิวัติ ได้พูดถึงวัตถุประสงค์ของการดำเนินการสร้างภาพยนตร์ดังกล่าวเพื่อให้ประชาชนมีภูมิคุ้มกันด้านประวัติศาสตร์ และยังแก้ไขความเข้าใจผิดให้กับบุคคลในประวัติศาสตร์ รวมถึงความพยายามที่จะถ่ายทอดข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นในช่วงเปลี่ยนแปลงการปกครอง ในปี 2475 ที่ผ่านการศึกษาและค้นคว้าแจกแหล่งข้อมูลอ้างอิงที่น่าเชื่อถือและบิดเบือน
ผศ.ดร.เพิ่มศักดิ์ จะเรียมพันธ์ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์มหาวิทยาลัยรามคำแหง ได้กล่าวถึง ความสำคัญในการจัดการกับประวัติศาสตร์ที่จะทำให้ชี้นำอนาคตของสังคมได้ จึงมีการพยายามบิดเบือนประวัติศาสตร์ผ่านการให้ความจริงเพียงครึ่งเดียวในฐานะประชาชนจะต้องเรียนรู้ประวัติศาสตร์อย่างรอบด้าน และในอีกด้านหนึ่งบรรดาผู้ก่อการต่างยอมรับความผิดพลาดของตนเองที่ก่อในการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ซึ่งสิ่งที่เกิดขึ้นในประวัติศาสตร์ในช่วงนั้นสามารถนำมาเป็นบทเรียนในปัจจุบันได้เป็นอย่างดี เพื่อไม่ให้สังคมเกิดความแตกแยก แม้จะมีอุดมการณ์และความเห็นต่างทางการเมืองของแต่ละกลุ่มบุคคลก็ตาม
ด้านนายจิตรากร ตันโห นิสิตปริญญาโท สาขาวิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ให้ข้อสังเกตถึงการพยายามเปลี่ยนแปลงการปกครองของรัชกาลที่ 7 ที่พยายามประนีประนอมกับทุกกลุ่มอำนาจในสังคม และไม่ได้เป็นปฏิปักษ์กับการเปลี่ยนแปลงการปกครองของคณะราษฎรแต่อย่างใด รวมการตั้งข้อสังเกตว่า เพราะเหตุใด ในหลวงรัชกาลที่ 7 จึงได้ทรงร่างรัฐธรรมนูญไว้ ซึ่งเป็น 1 ใน 3 รัฐธรรมนูญที่ร่างขึ้นก่อนที่จะเกิดเหตุการณ์ปฏิวัติในปี 2475 อีกด้วย
ขณะที่ นางสาวปัณฑา สิริกุล ผู้เขียนบทภาพยนตร์แอนิเมชัน 2475 รุ่งอรุณแห่งการปฏิวัติ ได้เล่าถึงเส้นเรื่องของประวัติศาสตร์และตั้งข้อสังเกตถึงบางช่วงบางตอนของประวัติศาสตร์ที่ไม่ปรากฏในตำราและหนังสือใด ๆ โดยเฉพาะการฉ้อโกง และดำเนินคดีกับผู้เห็นต่างทางการเมืองของคณะราษฎร ประกอบกับการนำข้อมูลของศาลพิเศษของหลวงพิบูลสงครามมาเป็นข้อมูลประกอบในหนังสือซึ่งขาดความน่าเชื่อถือ เพราะจากการสืบค้นและตรวจสอบข้อมูลพบว่า การให้การภายในศาลพิเศษนั้น ล้วนเต็มไปด้วยคำให้การเท็จเป็นจำนวนมาก
ด้าน นายฤกษ์อารี นานา อดีตผู้สมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรครวมไทยสร้างชาติ และอดีตนักเรียนไทยในฝรั่งเศส ได้ให้ข้อสังเกตถึงการปฏิวัติของประเทศฝรั่งเศสหลายประการ ไม่ว่าจะเป็น การปฏิวัติฝรั่งเศสไม่ได้เริ่มต้นจากที่ประชาชนต้องการล้มล้างระบอบกษัตริย์ แต่มาจากการเรียกร้องให้แก้ไขปัญหาความอดอยาก เรียกร้องให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น แต่หลายปัจจัยนำไปสู่การล้มล้างระบอบกษัตริย์ที่สุด และต้องใช้ระยะเวลานานนับร้อยปีหลังการปฏิวัติประเทศถึงเป็นรูปเป็นร่างอย่างทุกวันนี้