ภาพเก่าเล่าอดีต

สิ้นสงครามครูเสดแล้วไม่มีสงครามใดจะยิ่งใหญ่เท่ากับ “สงครามพายุอัลอักซอ”


6 กรกฎาคม 2024, 13:28 น.

 

ปิดยุคเรือปืนของนักล่าอาณานิคม (ตอน 1)
โดย สิริอัญญา
วันเสาร์ที่ 6 กรกฎาคม 2567

 

สงครามพายุอัลอักซอมีนัยสำคัญที่แฝงอยู่ในนามของสงครามนี้ เพราะแม้ว่าจะเป็นสงครามที่เปิดฉากขึ้นโดยขบวนการฮามาสแห่งปาเลสไตน์ แต่การใช้ชื่อสงครามพายุอัลอักซอกลับบอกนัยให้รู้ว่าสงครามนี้มีนัยอันสำคัญแฝงอยู่อย่างลึกซึ้ง และเกี่ยวพันกับการเปลี่ยนยุคสมัยของมวลมนุษย์

 

เพราะอัลอักซอนั้นเป็นชื่อสุเหร่าหรือวิหารศักดิ์สิทธิ์ของชาวมุสลิม ซึ่งกำลังพิพาทอยู่กับอิสราเอลในพื้นที่เยรูซาเลมของปาเลสไตน์ โดยประวัติอิสลามกำหนดว่าเป็นหนึ่งในศาสนสถานสำคัญสูงสุดของเหล่ามุสลิมทั้งโลก

 

นั่นคือสุเหร่าอันศักดิ์สิทธิ์ยิ่งที่เมกกะ ที่เมดินะห์ และแห่งที่สามก็คืออัลอักซอในเยรูซาเลม ที่พระเป็นเจ้าทรงกำหนดว่าเป็นดินแดนของอิสลาม เป็นหน้าที่ของมุสลิมทั้งหลายในการปกป้องพิทักษ์รักษาไว้ ดังนั้นเมื่ออิสราเอลเข้ายึดครองโดยเชื่อว่าวิหารอัลอักซอก็คือวิหารอันศักดิ์สิทธิ์ของชาวยิวที่พระเป็นเจ้าได้ประทานไว้ให้ชาวยิวเช่นกัน จึงเป็นศูนย์กลางของความขัดแย้งระหว่างศาสนิกชาวมุสลิมและชาวยิวมาอย่างลึกซึ้งจนถึงปัจจุบันนี้

 

และก็เป็นที่รู้ว่าอิหร่านนั้นเป็นประเทศมหาอำนาจมุสลิมที่ให้การสนับสนุนขบวนการปฏิวัติอิสลามต่าง ๆ ทั่วทั้งภูมิภาคนั้น เพราะถึงแม้ว่าอิหร่านจะอยู่ภายใต้คำสั่งเสียของท่านอิหม่ามอาลีที่ห้ามไม่ให้กองทัพอิหร่านเคลื่อนออกปฏิบัติการนอกประเทศ เว้นแต่จะเป็นการตอบโต้การรุกราน ซึ่งในฮะดิษในอิสลามได้ระบุไว้อย่างชัดเจนว่าในอนาคตกาลจะมีกองทัพมารหรือกองทัพซุฟยานีรุกเข้าโจมตีอิหร่านแบบสายฟ้าแลบ และรุกเข้าไปในดินแดนอิหร่านด้วย เมื่อนั้นกองทัพอิหร่านก็จะตอบโต้ โดยจะปรากฏกองทัพของผู้มาโปรดพระองค์ใหม่ขึ้น คือกองทัพของท่านอิหม่ามมะดีฮ์ ซึ่งในฮะดิษระบุว่าจะเป็นอิหม่ามองค์ที่ 12 ในอิสลาม และได้มีการสร้างสุเหร่ารออการอุบัติของพระองค์ไว้เรียบร้อยแล้ว

 

กองทัพของท่านอิหม่ามมะดีฮ์จะโจมตีตอบโต้กองทัพซุฟยานีจนถอยร่นไปจนถึงอัลอักซอ และกองทัพของอิหม่ามมะดีฮ์ก็จะรุกไล่โจมตีไปปลดปล่อยอัลอักซอให้กลับคืนมาเป็นดินแดนของอิสลามตามเดิม และ ณ ที่นั้น อิหม่ามมะดีฮ์ก็จะปรากฏพระองค์ขึ้นในฐานะพระผู้มาโปรดพระองค์ใหม่ของมวลมนุษย์ ซึ่งเชื่อกันว่าเป็นพระองค์เดียวกันกับพระศรีอริยเมตไตรยของศาสนาพุทธ หรือพระเมสสิยาห์ของชาวคริสต์ และเมื่อนั้นโลกก็จะกลับเข้าสู่สันติภาพนิรันดร ซึ่งตรงกับที่ประธานเหมาเจ๋อตุงอดีตผู้นำพรรคคอมมิวนิสต์จีนเคยกล่าวเอาไว้ว่า สักวันหนึ่งลมตะวันออกจะพัดกลบลมตะวันตก ทำลายชีวิตของอสูรสงครามให้สูญสิ้นไป เมื่อนั้นโลกจะเข้าสู่ยุคสันติภาพนิรันดร ซึ่งชาวพุทธเรียกว่ายุคพระศรีอาริย์

 

บรรดาชาวมุสลิมชีอะห์ทั่วโลกต่างเฝ้ารอคอยการปรากฏพระองค์ของอิหม่ามมะดีฮ์ และถือเป็นอุดมการณ์สูงสุดในชีวิตของชาวมุสลิมชีอะห์ทั่วโลก และเป็นภารกิจสำคัญที่สุดของชาวมุสลิมทั่วโลก ที่ใครเข้าร่วมภารกิจนี้แล้วย่อมได้ชื่อว่าได้เข้าร่วมสงครามศักดิ์สิทธิ์หรือจีฮัด ซึ่งเป็นฮัดที่ประเสริฐที่สุดในอิสลาม หากว่าต้องสูญเสียชีวิตเพราะจีฮัดก็จะกลายเป็นนักบุญหรือได้ชื่อว่าชะฮีดอันมีเกียรติยศสูงสุดในอิสลาม

ดังนั้นการเรียกชื่อสงครามนี้ว่าพายุอัลอักซอ แม้จะริเริ่มขึ้นโดยเป็นการปฏิบัติการทางทหารที่กระทำต่อกองทัพอิสราเอลในดินแดนปาเลสไตน์ที่ถูกยึดครอง ซึ่งยังอยู่ไกลออกไปจากมหาวิหารอัลอักซอ แต่ก็ได้บอกเป้าหมายของสงครามนี้อย่างชัดเจน ว่ามุ่งปลดปล่อยอัลอักซอและเยรูซาเลมให้กลับคืนเป็นดินแดนของอิสลามตามเดิม

 

ดังนั้นสงครามพายุอัลอักซอจึงเป็นจีฮัดที่บางโองการในอัลกุรอานระบุว่า เป็นเส้นเชือกอันศักดิ์สิทธิ์ของพระเป็นเจ้าที่มุสลิมทุกคนต้องจับฉวยไว้ก็จะไม่หลงทางพลัดพรากจากพระเป็นเจ้าโดยเด็ดขาด

 

สงครามพายุอัลอักซอจึงไม่ใช่แค่ปฏิบัติการทางทหารธรรมดาระหว่างขบวนการฮามาสกับกองกำลังทหารของอิสราเอลดังที่คนจำนวนมากเข้าใจ แต่แท้จริงเป็นสงครามอุดมการณ์หรือสงครามอันศักดิ์สิทธิ์สูงสุดที่เรียกว่าจีฮัด และมีเป้าหมายที่สุดคือการปลดปล่อยอัลอักซอและเยรูซาเลมกลับมาเป็นดินแดนอิสลามตามเดิม ซึ่งหมายความว่า ณ เวลานั้นจะไม่มีประเทศอิสราเอลในภูมิภาคนั้น

 

ดังนั้นชื่อสงครามพายุอัลอักซอจึงบ่งบอกเป้าหมาย อุดมการณ์ และวิถีดำเนินของสงครามครั้งนี้อย่างชัดเจน จนอาจกล่าวได้ว่าหลังจากสิ้นสงครามครูเสดแล้วไม่มีสงครามใดที่จะยิ่งใหญ่และสำคัญเท่ากับสงครามพายุอัลอักซอ ดังนั้นผู้สนใจความเป็นไปในโลกมนุษย์จึงไม่ควรมองข้ามเรื่องนี้และควรทำความรู้ความเข้าใจเรื่องนี้อย่างลึกซึ้งด้วย

 

เพราะเหตุที่โลกปัจจุบันได้แบ่งออกเป็นสองค่ายชัดเจนคือค่ายนาโต้ ที่นำโดยสหรัฐ อังกฤษ ค่ายหนึ่ง และค่ายองค์การความร่วมมือแห่งเซี่ยงไฮ้ ที่นำโดยจีน รัสเซีย อิหร่าน และเกาหลีเหนืออีกค่ายหนึ่ง ดังนั้นการปรากฏตัวของสงครามพายุอัลอักซอจึงเป็นเนื้อน้ำเดียวกันกับการต่อสู้ในทุกรูปแบบของสองค่ายดังกล่าวด้วย

 

จึงแน่นอนว่าสงครามพายุอัลอักซอนั้นไม่ใช่สงครามโดดเดี่ยว แต่เชื่อมโยงและเกี่ยวเนื่องเกี่ยวพันกับสมรภูมิต่างๆ ทั้งหลายที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน โดยเฉพาะคือสงครามในยูเครน การปลดแอกแอฟริกา ความขัดแย้งในแปซิฟิก และลาตินอเมริกา ซึ่งเชื่อมโยงเป็นน้ำเนื้อเดียวกัน ส่งผลซึ่งกันและกัน

 

ฝ่ายทหารของนาโต้สุมหัวร่วมคิดร่วมวางแผนกันอย่างไร ฝ่ายทหารของกลุ่มองค์การความร่วมมือแห่งเซี่ยงไฮ้ก็ย่อมร่วมมือทั้งในด้านแผนการยุทธศาสตร์ กลยุทธ์ ยุทธวิธี ยุทธการ การยุทธ์และการรบ ที่ประสานเป็นน้ำเนื้อเดียวกันในทุกภูมิภาคด้วย

 

ทัศนะทางทหารของฝ่ายตะวันตกหรือนาโต้นั้นถือว่าในการทำสงครามต้องสร้างความแข็งแกร่งเอาชนะความอ่อนแอกว่า ต้องสร้างความยิ่งใหญ่ของกองทัพเอาชนะความอ่อนด้อยกว่าของอีกฝ่ายหนึ่ง ซึ่งเป็นกระบวนทัศน์และวิธีคิดของนักการทหารตะวันตกมาตั้งแต่ยุคโรมัน ซึ่งสรุปได้ว่าปรัชญาทางทหารของตะวันตกหรือนักล่าอาณานิคมนั้นคือเอามากชนะน้อยและเอาแข็งชนะอ่อน

 

ซึ่งเรื่องนี้ฝ่ายตะวันออกที่ริเริ่มโดยประเทศจีนเห็นว่าเป็นเรื่องความคิดของคนถ่อยที่ปรากฏหลักฐานชัดเจนก็คือคำพูดของขงเบ้งที่พูดกับโลซกในเหตุการณ์สงครามผาแดง ที่ขงเบ้งวิจารณ์ว่า “ (นักการทหาร) ถ่อย จะคิดแต่เรื่องเอามากชนะน้อย เอาแข็งชนะอ่อน คนถ่อยเหล่านี้เข้าไม่ถึงมรรควิถียอดขุนพล”

 

ขงเบ้งได้ตอบคำถามโลซกต่อไปว่า ผู้เข้าถึงมรรควิถียอดขุนพลจะต้องสามารถใช้พลังจักรวาลในการทำสงครามได้ดังใจ และอะไรคือพลังจักรวาล ขงเบ้งก็ได้อธิบายว่าดาว เดือน ดิน ฟ้า อากาศ ความร้อน ความหนาว ความชื้นของอากาศ เมฆ ฝน ระยะทางภูมิประเทศใกล้ ไกล ราบเรียบ หรือทุรกันดาร ความแค้น ความโกรธ ความรัก ความชัง ความศรัทธา ล้วนเป็นพลังจักรวาลที่มีอานุภาพยิ่งกว่าทหารนับร้อยหมื่น ที่ผู้ใดเข้าถึงและใช้เป็นก็จะรบที่ไหนชนะที่นั่น ยิ่งกว่ามีทหารร้อยหมื่นอยู่ในมือ

 

ดังนั้นสงครามที่ทั้งสองฝ่ายกระทำอยู่ในปัจจุบันนี้จึงนอกจากสะท้อนปรัชญาและระบบคิดทางการทหารที่มีมาแต่โบราณแล้ว ยังสะท้อนถึงการปะทะกันระหว่างภูมิปัญญาและพิชัยสงครามของชาติตะวันตกนักล่าอาณานิคมกับชาติตะวันออก รวมทั้งเหตุการณ์จริงที่เกิดขึ้นในสงครามพายุอัลอักซอด้วย.

 

อักษรจารึกบนผาเซ็กเพ็ก ใกล้กับเมืองชื่อปี้ มณฑลเหอเป่ย์ในปัจจุบัน อักษรจารึกมีอายุ 1,000 ปีเป็นอย่างน้อย

 

ข่าวในหมวดเดียวกัน

เพิ่มเติม...

การเมือง

คอลัมนิสต์

คมในความ

มหาราษฎร์ Shorts

ภาพเก่าเล่าอดีต

ไฮไลท์

ข่าวประชาสัมพันธ์

ตำรวจ ทหาร อัยการ ศาล คุก

ท่องเที่ยว

ศาสนา

สุขภาพ

แวดวงนักรบ

สังคม

บทบาทบุคคล

< กลับหมวดภาพเก่าเล่าอดีต

เรื่องล่าสุด