การแสดงออกซึ่งความคิดเห็นหรือวิพากษ์วิจารณ์สิ่งต่าง ๆ เป็นสิทธิพื้นฐานและเสรีภาพที่รับรองไว้ในรัฐธรรมนูญ อย่างไรก็ตาม เสรีภาพของบุคคลย่อมสิ้นสุดเมื่อไปกระทบกับสิทธิของผู้อื่นเข้าก็จะกลายเป็นการกระทำอันมิชอบด้วยกฎหมาย (abuse of right)
การแสดงความคิดเห็นจนเป็นข่าวสาธารณะปรากฏตามสื่อต่าง ๆ รวมถึงการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลของสมาชิกสภานิติบัญญัติอาจเสี่ยงต่อความผิดอาญาฐานหมิ่นประมาทผู้อื่นด้วยการโฆษณาตามมาตรา ๓๒๘ได้
แต่กระนั้น กฎหมายหมิ่นประมาทก็ยังเปิดโอกาสให้อำนาจบุคคลในการแสดงความคิดเห็นหรือข้อความโดยสุจริตได้
(๑) เพื่อความชอบธรรม ป้องกันตนหรือส่วนได้เสียเกี่ยวกับตนตามครองธรรม เช่น การไปแจ้งความให้ดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิด หรือเป็นพยานในศาล การให้ปากคำกับคณะกรรมการสอบสวนเรื่องทุจริตหรือประพฤติมิชอบของบุคคลอื่น
(๒) ในฐานะเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติการตามหน้าที่ เช่น พนักงานสอบสวนรายงานข้อความหมิ่นประมาทพระบรมเดชานุภาพ เพื่อให้มีการดำเนินการต่อไป ไม่ทำให้เขากลายเป็นผู้กระทำความผิดฐานหมิ่นพระบรมเดชานุภาพเสียเอง
(๓) ติชมด้วยความเป็นธรรม ซึ่งบุคคลหรือสิ่งใดอันเป็นวิสัยของประชาชนย่อมกระทำ ข้อนี้คือการแสดงความคิดเห็นอย่างสุจริตตามเสรีภาพในรัฐธรรมนูญนั่นเอง โดยเฉพาะการวิพากษ์วิจารณ์นักการเมืองซึ่งเป็นบุคคลสาธารณะ (public figure) ซึ่งจะเป็นประเด็นหลักในบทความนี้
(๔) ในการแจ้งข่าวด้วยความเป็นธรรมเรื่องการดำเนินการอันเปิดเผยในศาลหรือในการประชุม
ตามอำนาจที่กฎหมายให้ไว้ใน (๓) ข้างต้น หมายถึง การวิพากษ์ติชมบุคคลสาธารณะ ซึ่งหมายถึงบุคคลที่อยู่ในความสนใจของสาธารณชน เช่น ดารา นักแสดง หรือผู้ซึ่งการกระทำของเขามีผลกระทบต่อสาธารณะ เช่น ครู อาจารย์ นักการเมือง โดยเฉพาะผู้มีตำแหน่งบริหารในราชการ
บทความทางวิชาการ
โดย รศ.ดร.ทวีเกียรติ มีนะกนิษฐ
อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์