พลันที่ พล.ต.อ.วินัย ทองสอง นายกสมาคมตำรวจ จับมือกับ รร.นรต. และ ชมรมพนักงานสอบสวน แถลงข่าวใหญ่ที่สะเทือนเลื่อนลั่นไปทุกวงการ คือ <การปฏิรูปตำรวจ>
ตำรวจทุกระดับชั้นที่ยังรับราชการอยู่ ตำรวจที่เกษียณอายุราชการไปแล้ว ตำรวจนอกราชการที่ไม่รอเกษียณอายุราชการ ประชาชนทั่วไป วงการเมือง และสื่อมวลชน ต่างก็ชะเง้อชะแง้รอดูว่า จะปฏิรูปอะไร ? จะปฏิรูปอย่างไร ?
ไปกินหัวใจหมีดีเสือมาจากไหน จึงกล้านัก ?
เพราะการปฏิรูปตำรวจนั้น คือเป้าหมายแรก ๆ วัตถุประสงค์หลัก ๆ ของผู้มีอำนาจทางการเมือง แต่ไม่เคยมีรัฐบาลใดทำให้องค์กรตำรวจสำเร็จสมบูรณ์แบบได้เลย ล้วนมีช่องว่าง รอยโหว่ เว้นแต่ เพื่อคนบางกลุ่ม บางพวก บางคน ตำรวจส่วนใหญ่ก็เหมือนเดิม
เหมือนอยู่คนละกฎเกณฑ์
พล.ต.อ.วินัย นายกสมาคมตำรวจ ได้เปิดประเด็นการปฏิรูปตำรวจไว้เบื้องต้น 4 ด้าน คือ
1. ประชาชนได้อะไรจากการปฏิรูป ?
: ขอบอกว่าโดนใจมาก เพราะตำรวจคือ <ผู้พิทักษ์สันติราษฏร์> ประชาชนต้องมาก่อน
2. แก้ไขพฤติกรรมตำรวจที่ไม่เหมาะสม
: เห็นด้วยอย่างยิ่ง ถ้า <ดัด> ไม่ได้ ก็ต้อง <ตัด> ไม่ว่าใหญ่ ไม่ว่าเล็กต้องเช็คบิลเหมือนกัน
หลักการคือต้องปฎิบัติในลักษณะ โปร่งใส เที่ยงธรรม เสมอภาคและมีมาตราฐาน ถูกต้อง ตรวจสอบได้โดยกฎหมายเหมือนกันทุกระดับชั้นยศ
3. แก้ไขความขาดแคลน โดยเฉพาะสถานีตำรวจ
: ตรงประเด็นที่สุดสำหรับตำรวจ เพราะ <โรงพักคือหัวใจของการบริการประชาชน> ต้องจัดการด่วนที่สุด
4. แก้ไขกฎหมาย พ.ร.บ. ตำรวจ พ.ศ. 2565 ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น
: ข้อนี้ ต้องใช้พลังภายในทุกศักยภาพที่มี และพลังภายนอกคือ เสียงของพี่น้องประชาชนเป็นฐานจึงจะต่อกรกับการนี้ได้
Head Hand Heart ร่วมคิด ร่วมทำ ร่วมใจ มีโอกาสสำเร็จแน่นอน
ผมขอเสนอแนวคิด วิธีการ เพื่อให้ได้ผลสัมฤทธิ์ สมตามเจตนารมณ์ คือ ให้ผู้เกี่ยวข้องกับหัวข้อนั้น เรื่องนั้น เสนอความเห็นจากใจมา
โดยไม่ต้องมีการชี้นำหรือทำโพล
ตามข้อ 1
ให้พี่น้องประชาชน แสดงความเห็นความต้องการมาในทุก ๆ ด้านที่อยากให้ตำรวจเป็น อยากให้ตำรวจทำ
ตามข้อ 2
ให้ตำรวจที่เกษียณอายุราชการไปแล้ว ตำรวจที่ยังรับราชการอยู่ทุกระดับชั้น เสนอความเห็นแนวทางการแก้ไขปรับปรุงพฤติกรรมของตำรวจที่ไม่เหมาะสมนั้น ว่าควรทำอย่างไร ? และถ้าตำรวจทำความดี มีพฤติกรรมที่งดงามควรค่าแก่การยกย่องสรรเสริญ ควรทำอย่างไร ?
ตามข้อ 3
ข้อนี้สำคัญที่สุด ทั้งตำรวจและประชาชน เพราะสถานีตำรวจ หรือโรงพักนั้นเป็นสถานที่ซึ่งพี่น้องชาวบ้านประชาชนใข้บริการของตำรวจมากที่สุด ไม่ว่าจะในฐานะผู้เสียหาย ผู้ถูกกล่าวหา หรือพยาน รวมทั้งการบริการรับแจ้งต่าง ๆ จิปาถะ ดังนั้น อุปกรณ์ เครื่องมือเครื่องใช้ในการทำงาน รถลาม้าช้าง น้ำมัน เบี้ยเลี้ยง ค่าตอบแทนจึงต้องมีพร้อมใช้งานตลอดเวลา ด้วยงบประมาณของหลวง <มิใช่งบประมาณส่วนตัว>
ตามข้อ 4
หาแนวร่วมทั้งภาคตำรวจ ภาคประชาชน ภาคการเมือง ภาครัฐวิสาหกิจ ภาคธุรกิจ ชี้แนะให้เห็นถึงข้อดีข้อเสีย และประโยชน์ที่เขาเหล่านั้นจะได้รับ ในการแก้ไขกฎหมาย <การสร้างความเข้าใจเป็นสิ่งสำคัญที่สุด>
แล้วลุยเลยครับ ทุก ๆ ความต้องการของทุกด้าน ทุกคนให้มีคณะทำงานตรวจสอบและจัดเรียงอันดับตามความจำเป็นความสำคัญเร่งด่วน จากนั้นหาวิธีการสู่การปฏิบัติเพื่อให้ได้ผลเป็นรูปธรรม
สิ่งใดทำได้ ทำก่อน สิ่งใดที่ยังทำไม่ได้ จะเพราะเหตุปัจจัยใดก็ตาม ข้ามไปก่อน แต่ต้องมีคณะศึกษาหาแนวทางเพื่อปฏิบัติ
ทุก ๆ อย่างที่ทำไป ศึกษาไปนั้นต้องมีการประชาสัมพันธ์ให้โลกรู้ อย่างต่อเนื่อง ตำรวจจะได้เข้าใจ พี่น้องประชาชน และคนที่สนใจงานตำรวจ จะได้เข้าใจ
Well begun is half done เริ่มต้นด้วยดี เท่ากับสำเร็จไปแล้วครึ่งหนึ่ง
ขอเป็นกำลังใจและพร้อมเดิน วิ่ง ชน ไปกับ นายกสมาคมตำรวจ รร.นรต. ชมรมพรักงานสอบสวน เพื่อ <ปฏิรูปตำรวจ>
<ส่งเสียงหน่อยพี่น้อง>
พล.ต.ต.ไอยศูรย์ สิงหนาท
หัวหน้าสมาคมตำรวจ
สาขาจังหวัดนครราชสีมา