อาหารทะเลมหาชัยทานได้ปกติ ไม่ได้รับผลกระทบจากโรงงานที่พบกากแคดเมียม
9 เม.ย.67 ที่ซอยกองพนันพล ตำบลบางน้ำจืด อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสาคร Nattapong Sumanotham – ณัฐพงษ์ สุมโนธรรม สส.สมุทรสาคร เขต 1 พรรคก้าวไกล ลงพื้นที่ร่วมสังเกตการณ์การตรวจคัดกรองประชาชนที่อาศัยอยู่บริเวณใกล้เคียงโรงงานที่พบกากแคดเมียม
ณัฐพงษ์ กล่าวว่า วันนี้เจ้าหน้าที่ตรวจพบกากแคดเมียมเพิ่มเติมอีกหนึ่งจุดในพื้นที่ตำบลคลองมะเดื่อ อำเภอกระทุ่มแบน จังหวัดสมุทรสาคร จำนวนราว 500 ตัน ทำให้ขณะนี้พบกากแคดเมียมที่จังหวัดสมุทรสาครแล้วทั้งสิ้น 3 จุด ในตำบลบางน้ำจืด อำเภอเมือง 2 จุด และตำบลคลองมะเดื่อ อำเภอกระทุ่มแบน 1 จุด จำนวนรวมกว่า 4,474 ตัน
อย่างไรก็ตาม จากหลักฐานในขณะนี้ยังไม่พบว่ามีการหลอมแคดเมียมที่จังหวัดสมุทรสาคร และไม่พบการปนเปื้อนออกไปภายนอกโรงงาน แต่ข่าวสารที่เผยแพร่ออกไปกำลังก่อให้เกิดความไม่สบายใจของประชาชนในจังหวัดสมุทรสาครและจังหวัดอื่น ๆ ถึงกับมีการพูดว่าจะไม่กินอาหารทะเลจากมหาชัยเนื่องจากกลัวสารแคดเมียมตกค้าง ซึ่งตนขอยืนยันว่าไม่เกี่ยวข้องกัน เพราะพื้นที่เกิดเหตุกับพื้นที่มหาชัยอยู่ห่างกันมาก
“ผมขอยืนยันว่าอาหารทะเลยังทานได้ปกติ เพราะพื้นที่อ่าวไทยและแหล่งอาหารทะเล กับพื้นที่ที่พบกากแคดเมียมอยู่ห่างกันมาก คือแคดเมียมถูกพบที่ตำบลบางน้ำจืด 2 จุด และพบที่ตำบลคลองมะเดื่อล่าสุดอีก 1 จุด ซึ่งข้อมูลที่ได้รับมาจากหน่วยงานรัฐ ยืนยันว่าแคดเมียมไม่ได้มีการแพร่ออกไปสู่สภาพแวดล้อมนอกโรงงาน ทั้งในดิน น้ำ และอากาศ”
“แม้จะมีการตรวจพบปริมาณสารตกค้างในร่างกายของพนักงานโรงงานที่ซอยกองพนันพล แต่คาดว่าเกิดจากการทำงานที่สัมผัสโดยตรงและต่อเนื่อง นอกจากนี้ ทางสาธารณสุขก็ได้มีการตรวจหาสารแคดเมียมจากประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่โดยรอบใกล้กับสถานที่ที่พบแคดเมียมด้วยแล้ว”
ณัฐพงษ์ กล่าวต่อไปว่า นอกจากเรื่องแคดเมียมแล้ว ประชาชนในพื้นที่มีความกังวลกันมานานว่าโรงหลอมในพื้นที่มักดำเนินการหลอมสารต่าง ๆ ในช่วงเวลากลางคืน มีการปล่อยควันส่งกลิ่นเหม็นรบกวนประชาชน ซึ่งประชาชนไม่ทราบเลยว่าสิ่งที่หลอมเป็นสารอันตรายหรือไม่ นี่เป็นปัญหาเรื้อรังและเป็นปัญหาใหญ่ของจังหวัดสมุทรสาครมานาน หากเป็นสารอันตรายก็ย่อมส่งผลกระทบกับสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชนทั้งระยะสั้นและระยะยาว
ดังนั้น ภาครัฐจึงควรใช้โอกาสนี้ตรวจสอบการดำเนินการของโรงงานต่าง ๆ ทั่วประเทศให้เป็นไปตามมาตรฐาน
อย่างไรก็ตาม มีหลายโรงงานที่ไม่สนใจและไม่รับผิดชอบในการประกอบธุรกิจ แต่ก็มีหลายโรงงานที่ต้องการจะปรับตัว แต่อาจติดเรื่องเงินทุนหรือพื้นที่ในการทำระบบบำบัด สิ่งเหล่านี้ภาครัฐจำเป็นต้องเข้ามารับฟังและหาทางแก้ปัญหา รวมถึงคำถามที่สำคัญกว่านั้นคือ สุดท้ายแล้วรัฐบาลจะมีแนวนโยบายต่อเรื่องนี้อย่างไร จะหาสมดุลระหว่างเศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม และสุขภาพของประชาชนอย่างไร
“ถึงที่สุดแล้ว ธุรกิจบางอย่างก็เป็นสิ่งที่ประเทศที่พัฒนาแล้วเขาไม่อนุญาตให้ทำ หรือหากจะทำต้องมีระบบที่ดี รับผิดชอบต่อสังคม หากทำไม่ได้ก็ต้องถูกสั่งปิดและเลิกกิจการไป สิ่งเหล่านี้รัฐในฐานะผู้กำกับดูแลต้องเข้ามาจัดการ ขอให้รัฐบาลใช้โอกาสนี้ในการสังคายนาทั้งระบบด้วย” ณัฐพงษ์กล่าว
cr. เพจ พรรคก้าวไกล – Move Forward Party