เสนอยกเครื่องรับความเปลี่ยนแปลง สร้างแต้มบวกส่งออกแร่สู้ตลาดโลก
สมาคมสินแร่และวัสดุก่อสร้าง เป็นองค์กรที่ภาคเอกชนร่วมกันก่อตั้งโดยมิได้แสวงหากำไร มีนโยบายส่งเสริมให้ผู้ประกอบการที่เป็นสมาชิกร่วมกันใช้ทรัพยากรในประเทศอย่างคุ้มค่าและสร้างสรรค์ เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและชุมชน มีเป้าหมายในการร่วมฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศโดยผลักดันและเสนอแนะต่อรัฐบาลให้มีการออกกฎหมายหรือแก้ไขกฎระเบียบที่เป็นอุปสรรคต่อการดำเนินงานของผู้ประกอบการ
เมื่อเร็ว ๆ นี้สมาคมสินแร่และวัสดุก่อสร้างได้จัดสัมมนาเพื่อให้ความรู้และแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับผู้ประกอบการที่เป็นสมาชิก โดยเชิญศาสตราจารย์ ดร.ลาลิต โจห์รี ที่ปรึกษาสมาคมฯ บรรยายพิเศษ เรื่องแนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจไทยในภาวการณ์แข่งขันของโลกปัจจุบัน ซึ่งสรุปสาระสำคัญได้ดังนี้
1.ปรับปรุงกฎระเบียบ นโยบาย และองค์กรภาครัฐเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงเศรษฐกิจที่เผชิญอยู่ โดยเน้นการปรับปรุงองค์กรภาครัฐให้ทันสมัยโดยใช้ดิจิทัลแพลตฟอร์ม บล็อกเชนในการบริการภาครัฐและประชาชน เพื่อสะดวกในการดำเนินธุรกิจและกิจกรรมต่างๆ เนื่องจากอุตสาหกรรมได้เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว เช่นปัญญาประดิษฐ์ (AI) หุ่นยนต์ ระบบอัตโนมัติ เทคโนโลยี
2.นำเทคโนโลยีทันสมัยไปสู่การปฎิบัติ ภาครัฐเป็นศูนย์กลางทำงานร่วมภาคเอกชน สถาบันการศึกษา พัฒนาเทคโนโลยีที่ทันสมัยไปใช้ในการผลิต การเกษตร โลจิสติกส์ การสื่อสารและการบริการ ภาครัฐควรสร้างระบบนิเวศน์ในการสร้างธุรกิจเกิดใหม่ที่ดี และมีประสิทธิภาพ
3.สร้างบุคลากรที่มีทักษะทันสมัย และผู้นำการเปลี่ยนแปลง ภาครัฐและเอกชน ทำงานร่วมกันตั้งศูนย์อบรมให้ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและทักษะในการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัล และอบรมความเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลง ปรับปรุงระบบและหลักสูตรการศึกษาใหม่ เพื่อให้นักศึกษามีการคิดวิเคราะห์และคิดนวัตกรรม
4.ยกระดับตลาดทุนและตลาดการเงินให้สนับสนุนด้านการเงินตลอดจนห่วงโซ่อุตสาหกรรมรวมการวิจัยพัฒนาการผลิต การตลาด ปรับโครงสร้างธุรกิจ ภาครัฐควรจัดสรรกองทุน ร่วมทุนในธุรกิจเทคโนโลยี สตาร์ทอัพ โดยร่วมมือกับภาคเอกชนพัฒนาสินเชื่อบุคคลและชนบทให้เพียงพอและเข้าถึงง่าย
5.สร้างโครงสร้างพื้นฐานในด้านต่างๆ รวมทั้งด้านดิจิทัล โดยเฉพาะในเขตชนบทเพื่อกระจายความเจริญในด้านที่อยู่อาศัย สุขภาพ การศึกษา ไฟฟ้า น้ำประปา เกษตรกร
6.บริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่ดี บริหารจัดการที่ดินชลประทาน พัฒนาด้านการเกษตรให้ทันสมัย เพื่อยกระดับรายได้ของเกษตรกร โดยคำนึงถึงการรรักษาสิ่งแวดล้อมและเป้าหมายพัฒนาอย่างยั่งยืน นำทรัพยากรแร่มาใช้ประโยชน์ด้านอุตสาหกรรมและการเกษตร
7.สร้างความร่วมมือในระดับนานาชาติในด้านการพัฒนาถ่ายทอดเทคโนโลยีด้านต่างๆ เช่น การศึกษา อาหาร ยานยนต์ การเกษตร การขยายการส่งสินค้าออก
ขณะที่นางสาวโชติกา โชติกานนท์ กรรมการสมาคมสินแร่และวัสดุก่อสร้างได้ให้ข้อมูลว่า สินแร่อโลหะที่ส่งออกไปเป็นวัตดุดิบอุตสาหกรรมในแถบเอเชียในปี 2566 ประกอบด้วยแร่ที่สำคัญคือ แร่แกรนิต โดโลไมท์ ไลม์สโตน ยิปซั่ม แอนไฮไดรท์ ซึ่งนำไปใช้ในอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ โรงงานผลิตเหล็ก อุตสาหกรรมก่อสร้างมีมูลค่าประมาณ 6,500 ล้านบาท มีส่วนสำคัญในการนำเงินตราเข้าประเทศ
ในอดีตสินแร่อโลหะสามารถทำมูลค่าส่งออกได้สูงถึง 8,500 – 9,000 ล้านบาทต่อปี ต่อมาช่วงหลังเกิดคู่แข่งสำคัญในการแบ่งตลาดคือสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (UAE) โอมาน เวียดนาม ฟิลิปปินส์ โดยเฉพาะ UAE และโอมานมีต้นทุนการผลิตต่ำกว่าถึงแม้มีค่าขนส่งที่สูงกว่า แต่ราคาส่งถึงปลายทางในภูมิภาคเอเชียถูกกว่าเพราะรัฐบาลของประเทศดังกล่าวได้สนับสนุนการส่งออกหลายด้านอย่างมาก
หากจะให้การผลิตและส่งออกแร่ของไทยสามารถแข่งขันกับต่างประเทศได้ รัฐบาลไทยควรให้สนับสนุนในด้านต่างๆ อาทิ สินเชื่อการส่งออก รักษาค่าเงินบาทไม่แข็งค่า ปรับปรุงแก้ไขระเบียบการทำเหมืองแร่ควรยืดหยุ่นและคล่องตัวเช่นลดขั้นตอนการอนุญาตประทานบัตร เพื่อให้ผู้ประกอบการไทยมีแต้มบวกในการออกไปต่อสู้กับตลาดโลก