<ห้าเสือโรงพัก>
สถานีตำรวจ หรือ สน. หรือ สภ. หนึ่งแห่งนั้น โดยหลักการทั่วไป มี ผกก. เป็น หน. และยังมี รอง ผกก.ป., รอง ผกก.สส., สวป., สว.สส. รวมกันเรียกว่า <ห้าเสือโรงพัก>
เวลามีอาชญากรรมเกิดขึ้นไม่ว่าจะเป็นเรื่องอะไร เช่น เกี่ยวกับชีวิตร่างกาย ทรัพย์ เพศ ยาเสพติด และสถาบัน เหล่านี้เป็นต้น <ห้าเสือโรงพัก> จะรับผิดชอบ ทำการสืบสวน ปราบปราม และจับกุมดำเนินคดี
การบังคับใช้กฎหมายนั้น หาใช่มีเพียงตำรวจหน่วยเดียวไม่ ความผิดตาม พ.ร.บ.ต่าง ๆ ก็มีหน่วยงานที่รับผิดชอบอยู่เช่นกัน บางหน่วยงาน ก็มีหน้าที่คล้ายตำรวจทำงานควบคู่กันไป ในพื้นที่เดียวกัน คือเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง
มีความผิดทางอาญาบางประเภท ที่เป็นเหมือนไม้เบื่อไม้เมากับตำรวจ เช่น พ.ร.บ.สถานบริการ พ.ร.บ.การพนัน เป็นต้น
ถ้ามีการฝ่าฝืน มีการทำผิดกฎหมายขึ้นมาเมื่อไหร่ ตำรวจจับกุมดำเนินคดีถือว่าเป็นเรื่องปกติ ถือว่าเป็นการปฏิบัติการตามหน้าที่
แต่ถ้าบังเอิญหน่วยงานฝ่ายปกครอง เป็นฝ่ายจับกุม โดยตำรวจไม่ได้เข้าร่วมจับกุมด้วย ตำรวจจะกลายเป็นจำเลยของสังคม และกลายเป็นเหยื่ออันโอชะของผู้บังคับบัญชาทันที
<ห้าเสือโรงพัก> จะโดนเล่นงาน โดยมีคำสั่งให้ไปปฏิบัติงานที่อื่น เช่น ศปก. โดยอ้างว่า เพื่อความสะดวกในการสอบสวน ตรวจสอบข้อเท็จจริง ใช้เวลาเป็นเดือน หรือหลาย ๆ เดือน ลงโทษบ้าง ไม่ลงโทษบ้าง พอถึงฤดูกาลแต่งตั้ง โยกย้าย อยู่ที่เดิมบ้าง โดนย้ายบ้าง ไม่มีหลักเกณฑ์ที่แน่นอน
ผมมีความสงสัย มานานเนกาเลแล้วว่า <เวลาที่หน่วยงานฝ่ายปกครองออกโรงจับกุมความผิดตาม พ.ร.บ.สถานบริการ หรือ พ.ร.บ.การพนัน ทำไมผู้บังคับบัญชาของตำรวจ ต้องสั่งดำเนินการลงโทษกับ <ห้าเสือโรงพัก>
เพราะทุก ๆ ครั้งที่ตำรวจ เป็นฝ่ายจับกุมเพียงฝ่ายเดียว หน่วยงานฝ่ายปกครองไม่ได้ร่วมจับกุมด้วย ผู้บังคับบัญชาของฝ่ายปกครอง ไม่เคยสั่งให้ลูกน้องที่ดูแลพื้นที่ไปปฏิบัติราชการที่อื่น หรือสั่งลงโทษลงทัณฑ์แต่อย่างใด ไม่เคยเห็น ไม่เคยได้ยิน ไม่เคยได้ข่าวจริง ๆ มีแต่ตำรวจเท่านั้นที่ตื่นเต้น ตูมตาม ไปตามกระแส>
<ห้าเสือโรงพัก> จำต้องกลายร่างเป็น <ห้าแพะโรงพัก> ถูกเซ่นสังเวยทันที เพื่อทำให้ผู้บังคับบัญชา รู้สึกดีและดูดี
แต่ถ้ามีพยานหลักฐานว่า <ห้าเสือโรงพัก> รู้เห็นเป็นใจ มีผลประโยชน์ มีส่วนได้ส่วนเสีย หรือปล่อยปละละเลยในการกระทำความผิดนั้น ๆ ในพื้นที่ ก็ต้องพิจารณาลงทัณฑ์ไปตามโทษานุโทษ
ทั้งนี้ทั้งนั้น ผู้บังคับบัญชา ที่อยู่ระดับเหนือ <ห้าเสือโรงพัก> ขึ้นไป ก็จักต้องเป็นผู้มีความบริสุทธิ์ ไม่รู้เห็นเป็นใจ ไม่รับผลประโยชน์ ไม่มีส่วนได้เสีย กับการกระทำความผิดเหล่านั้นทั้งทางตรงและทางอ้อมด้วย ไม่ทำตัวแบบ <เกลียดตัวกินไข่ เกลียดปลาไหลกินน้ำแกง>
การตรวจสอบ ต้องดำเนินการไปให้ถึงที่สุด แบบที่เรียกว่า <สุดซอย>
ถ้าพบว่า มีหน่วยงานใดเข้ามาเกี่ยวข้อง ในการกระทำผิดด้วย ก็ต้องแจ้งผู้บังคับบัญชาระดับสูงขึ้นไป ของหน่วยงานนั้นทราบ ส่วนเขาจะดำเนินการอะไร อย่างไร ก็เป็นดุลยพินิจของเขา ถือว่าตำรวจ ได้ทำหน้าที่สมบูรณ์แล้ว
มีวิธีการตั้งมากมาย ที่จะทำให้ผู้ใต้บังคับบัญชามีความเข้มงวดกวดขัน ในการปฏิบัติหน้าที่ รักเกียรติ รักศักดิ์ศรี มีวินัย โดยตัวผู้บังคับบัญชาเองจักต้องมีหลักเกณฑ์ในการทำงานที่มากกว่าทำตามกฎหมายและระเบียบวินัย อาทิเช่น มี <หลักธรรมาภิบาล> คือ นิติธรรม คุณธรรม ความโปร่งใส การมีส่วนร่วม ความรับผิดชอบ และความคุ้มค่า
มี <อิทธิบาท 4> คือ ฉันทะ วิริยะ จิตตะ วิมังสา
มี <พรหมวิหาร 4> คือ เมตตา กรุณา มุฑิตา อุเบกขา
ต้องไม่มี <พรหมพินาศ 4> คือ บ้าอำนาจ ฉ้อราษฎร์บังหลวง หลอกลวงลูกน้อง ยกย่องคนเลว <ไม่มีอยู่ในตำราใด ๆ แต่นายบางคนชอบทำ>
ต้องสนับสนุนอุปกรณ์การทำงาน ไม่ใช่ให้ลูกน้องหาซื้อมาเอง ด้วยเงินลูกน้อง เพื่อทำงานให้หลวง มันอุบาทว์ มันน่าอาย
ไม่หักหรืออมเบี้ยเลี้ยง ต้องจ่ายเต็มตามสิทธิ์ งานใดที่มีเบี้ยเลี้ยงพิเศษ ต้องจัดสรรอย่างเป็นธรรมตามยอดจริง มิใช่ <เป็นธรรมตามยอดที่เป็นเท็จ>
ขั้น ต้องให้ตามความรู้ความสามารถ และผลงาน
ยศ ตำแหน่ง ต้องเป็นไปตามที่บัญญัติไว้ในกฎหมาย ไม่ข้ามกฎ งดระเบียบ เพื่อใครบางคน บางกลุ่ม หรือบางพวก
การเป็นผู้บังคับบัญชาในปัจจุบันนี้ กฎหมายรัฐธรรมนูญ ยังได้มีการกำหนดเรื่อง <จริยธรรม> เอาไว้ด้วย
<จริยธรรม> นั้น ค่อนข้างกว้าง มีตัวอย่างมาแล้วหลายคนที่โดนศาลฎีกาตัดสินว่า <ผิดจริยธรรม> แม้จะไม่มีความผิดทางกฎหมายอาญาก็ตาม
ผู้บังคับบัญชา จึงจักต้องประพฤติ ปฏิบัติตน ให้เป็นแบบอย่างที่ดีแก่ผู้ใต้บังคับบัญชา
ทำให้ <เสือ> เป็นเสือจริง ๆ อย่าให้เป็น <แพะ> เลย อายหน่วยอื่นเขา อายชาวบ้านเขา
<เมื่อลูกน้อง ไม่ต้องเป็น <แพะ> ที่ถูกบูชายัญ นาย ก็ไม่ต้องเป็น <เด็กเลี้ยงแกะ> ที่คอยพูดเพื่อเอาตัวรอด>
<เมื่อลูกน้องเป็น <เสือ> ที่น่าเกรงขาม นายก็จะเปรียบเสมือน <สิงห์> ที่สง่างาม>
ถ้าทำให้ลูกน้องดีไม่ได้ นายก็ควรพิจารณาตัวเอง
พล.ต.ต.ไอยศูรย์ สิงหนาท
ป.ล.
คุณ ป.มท. คุณมาตำหนิตำรวจได้อย่างไร ในเมื่อต้องรับผิดรับชอบร่วมกันตามหน้าที่ หน้างาน อยู่แล้ว สถานบริการ คุณก็มีหน้าที่ออกใบอนุญาตเล่นการพนันบางประเภท คุณก็มีหน้าที่ออกใบอนุญาต พูดอย่างนี้ เขาเรียกว่า ตีหัวเข้าบ้าน เอาตัวรอด ไม่แมนเลย