วันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2567 นายพันธ์ทอง ลอยกุลนันท์ ที่ปรึกษาด้านการพัฒนาและบริหาร การจัดเก็บภาษี ในฐานะโฆษกกรมศุลกากร เปิดเผยว่า ตามที่ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง มีนโยบายให้กรมศุลกากรเข้มงวดในการป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการลักลอบหลีกเลี่ยงนำเข้า–ส่งออกซึ่งของที่มีภาระค่าภาษี ของผิดกฎหมาย ของต้องห้าม ต้องจำกัด นายธีรัชย์ อัตนวานิช อธิบดีกรมศุลกากร ได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่ศุลกากรเพิ่มความเข้มงวดในการตรวจสอบของติดตัวผู้โดยสารทั้งการนำเข้ามาในและการนำออกไปนอกราชอาณาจักร
โดยเมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2567 กรมศุลกากร โดยสำนักงานศุลกากรตรวจของผู้โดยสารท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ส่วนควบคุมทางศุลกากร ฝ่ายสืบสวนและปราบปราม ได้บูรณาการร่วมกับกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช กรมประมง และบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) สามารถจับกุมผู้โดยสารชาวมองโกเลียพยายามลักลอบนำสัตว์มีชีวิตออกไปนอกราชอาณาจักร เดินทางจากท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ปลายทางกรุงอูลานบาตอร์ ประเทศมองโกเลีย โดยพบ สัตว์ที่อยู่ภายใต้การควบคุมตามอนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศซึ่งชนิดสัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้สูญพันธุ์ (CITES) ชนิดพันธุ์ในบัญชีหมายเลข 1 ได้แก่ มังกรโคโมโด จำนวน 2 ตัว,เต่าดาวอินเดีย จำนวน 6 ตัว ชนิดพันธุ์ในบัญชีหมายเลข 2 ได้แก่ อิกัวน่า จำนวน 8 ตัว, งูหลาม จำนวน 5 ตัว, งูเหลือม จำนวน 1 ตัว นอกจากนี้ยังพบสัตว์มีชีวิตประเภทปลา ได้แก่ ปลาหางนกยูง จำนวน 22 ตัว, ปลากัด จำนวน 2 ตัว รวมทั้งสิ้น จำนวน 46 ตัว โดยของกลางทั้งหมดบรรจุอยู่ในกระเป๋าเดินทางที่ผู้โดยสารจะโหลดใต้ท้องเครื่อง
โฆษกกรมศุลกากร กล่าวต่อว่า การกระทำดังกล่าวเป็นความผิดฐานพยายามส่งออกไปนอกราชอาณาจักรซึ่งของที่ยังมิได้ผ่านพิธีการศุลกากร ตามมาตรา 242 ประกอบมาตรา 166 และ 252 แห่งพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ.2560 ประกอบกับสัตว์ดังกล่าวบางรายการอยู่ภายใต้การควบคุมตามอนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศซึ่งชนิดสัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้สูญพันธุ์ (CITES) ชนิดพันธุ์ในบัญชีหมายเลข 1 และบัญชีหมายเลข 2 ภายใต้พระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2562 มาตรา 23 วรรคแรก
และมาตรา 112 และเป็นความผิดตามมาตรา 31 แห่งพระราชบัญญัติโรคระบาดสัตว์ พ.ศ.2558 และมาตรา 92 วรรค 2 แห่งพระราชกำหนดการประมง พ.ศ.2558