หนังสือประวัติศาตร์การเมืองการปกครองของไทยที่ควรอ่าน
๑. บันทึกพระยาทรงสุรเดช ๒. ปฏิวัติ ๒๔๗๕ โดย กุหลาบ สายประดิษฐ์
คุณนริศ จรัสจรรยาวงศ์ ได้นำเนื้อหาสาระในหนังสือของผมบางตอนไปเขียนเผยแพร่ ให้แพร่หลายในวงกว้าง คือหยิบเอาคำสัมภาษณ์ของผมที่เคยสัมภาษณ์ท่านปรีดี พนมยงค์ ที่ประเทศฝรั่งเศสเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๒๔ เกี่ยวกับการอภิวัฒน์เปลี่ยนแปลงการปกครองของไทยมาเป็นประชาธิปไตยโดยมีพระมหากษัตริย์เป็นองค์พระประมุข ซึ่งเป็นคำตอบของจากผู้มีความคิดริเริ่มโดยตรง
อันที่จริงแม้จะมีคนสนใจผลงานหนังสือเล่มนั้นของผมไม่มากนัก แต่ผมถือว่าการได้เข้าพบและสัมภาษณ์ท่านในครั้งนั้นซึ่งเป็นที่มาของหนังสือชื่อ “รัฐบุรุษอาวุโสปรีดี พนมยงค์” เป็นงานที่ผมภูมิใจที่สุดในชีวิตการทำงานสื่อ เพราะเป็นการช่วยเผยแพร่ความจริงทางประวัติศาสตร์ให้ประจักษ์
หนังสือปฏิวัติ 2475 ที่ปรีดี พนมยงค์ แนะนำให้อ่าน
นริศ จรัสจรรยาวงศ์
“อรุณ : ผมเป็นคนรุ่นหลัง และคนรุ่นหลังผมยังมีต่อไปตามลำดับ ผมเห็นว่าเหตุการณ์เปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ.2475 มีคนแต่งมีคนบันทึกกันมากเหลือเกิน บางเล่มก็ขัดกันเอง ไม่ทราบว่าจะเอาอะไรมาสันนิษฐานว่าเล่มไหนเชื่อถือได้บ้าง
ท่านปรีดี : ก็มีที่ เจ้าคุณพหลฯ ให้สัมภาษณ์ไว้ลงพิมพ์ ในหนังสือ สุภาพบุรุษ-ประชามิตร นั้นแหละพอจะเชื่อได้ เพราะเจ้าคุณพหลฯ ท่านเป็นคนดี คนตรง บทความเรื่องนี้ ดูเหมือนคุณกุหลาบ สายประดิษฐ์ เคยรวมพิมพ์เป็นเล่มมาแล้ว
อรุณ : แล้วบันทึกของ พระยาทรงสุรเดช เชื่อถือได้หรือเปล่าครับ
ท่านปรีดี : หลังจาก เจ้าคุณทรงฯ เสียชีวิตไปแล้ว คุณหญิงทรงฯ ได้เอาต้นฉบับให้ผมและได้มีการจัดพิมพ์ขึ้น ในเล่มนี้ก็เชื่อได้เช่นกัน[1]”
บทสนทนาข้างต้นระหว่าง อรุณ เวชสุวรรณ และ ปรีดี พนมยงค์ มันสมองของผู้ก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครองผู้รับรองความถูกต้องของหนังสือ 2 เล่มเกี่ยวเนื่องกับการปฏิวัติเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ.2475 บังเกิดขึ้น ณ บ้านเลขที่ 173 VILLE ANTONY ARISTIDE-BRIAND ชานกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส เมื่อวันที่ 7 สิงหาคม พ.ศ.2524 เวลา 14.00 น. เศษ
อรุณ เวชสุวรรณ ขณะสัมภาษณ์ ปรีดี พนมยงค์ ในวาระ 91 ปีแห่งการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ.2566 ผู้เขียนจะขอพาไปทำความรู้จักกับเอกสารชั้นต้น 2 ชิ้นดังกล่าวผ่านบทความดังต่อไปนี้
หนังสือของ ‘เบอร์หนึ่ง’ และ ‘เบอร์สอง’ คณะราษฎร
ผู้อาวุโสสูงสุดของคณะผู้เปลี่ยนแปลงการปกครองคือ 4 ทหารเสือคณะราษฎรประกอบด้วยนายทหารบรรดาศักดิ์ชั้นพระยา 3 ท่านและชั้นพระ 1 ท่าน มี 3 ท่าน เรียนจบนายร้อยจากเยอรมัน คือ พระยาพหลพลพยุหเสนา (พจน์ พหลโยธิน พ.ศ.2430-2490) พระยาทรงสุรเดช (เทพ พันธุมเสน พ.ศ.2435-2487) และพระประศาสน์พิทยายุทธ (วัน ชูถิ่น พ.ศ.2437-2492 ) มีเพียง พระยาฤทธิอัคเนย์ (สละ เอมะศิริ พ.ศ.2432-2509) ท่านเดียวที่ไม่ได้จบเมืองนอก[2] หนังสือที่อาจารย์ปรีดีแนะนำอรุณไว้เพื่อศึกษาฉากการเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อ 24 มิถุนายน พ.ศ.2475 คืออัตชีวประวัติภาคปฏิวัติของสองผู้อาวุโสมากที่สุดของคณะ คือ พระยาพหลพลพยุหเสนา และ พระยาทรงสุรเดช
‘เบื้องหลังการปฏิวัติ 2475 (พ.ศ.2484)’
เรื่องเล่าเชิงลึกของคณะผู้เปลี่ยนแปลงการปกครองจำต้องรอจนกาลล่วงผ่านแล้วกว่าเกือบหนึ่งทศวรรษ กว่าจะปรากฏในบรรณพิภพ กล่าวคือเมื่อ กุหลาบ สายประดิษฐ์ (พ.ศ.2448-2517) สบโอกาสได้สัมภาษณ์หัวหน้าผู้ก่อการ พระยาพหลพลพยุหเสนา (พจน์ พหลโยธิน) โดยเริ่มทยอยเผยแพร่เป็นตอนๆ ในหนังสือพิมพ์สุภาพบุรุษ เริ่มต้นตั้งแต่วันที่ 3 พฤษภาคม พ.ศ.2484 เปิดเรื่องด้วยประโยคที่นิยามคุณสมบัติของ ‘เชษฐบุรุษ’ คณะนี้ไว้ว่า “อ่อนโยนเหมือนแกะ กล้าหาญเหมือนสิงห์” ทว่า ระหว่างตีพิมพ์บทสัมภาษณ์นี้ปรากฏว่าถูกต่อต้านอย่างสูงจากเหล่าบริวารหลวงพิบูลสงคราม (แปลก ขีตตะสังคะ)[3] นายกรัฐมนตรีขณะนั้น โดยเฉพาะ นายมั่น-นายคง ได้กล่าวโจมตีหนังสือเล่มนี้ผ่านสื่อวิทยุของกรมโฆษณาการ จนเกิดเป็นวิวาทะที่กุหลาบ สายประดิษฐ์ ต้องตอบโต้ด้วยข้อเขียน และท้ายที่สุดจำต้องยุติการนำเสนอเมื่อเรื่องดำเนินมาถึงตอนที่ 16 เมื่อวันที่ 11 มิถุนายน พ.ศ.2484
กุหลาบ สายประดิษฐ์ ‘ศรีบูรพา’
บทสัมภาษณ์ชิ้นสมบูรณ์ต้องรอจนถึงสงครามมหาเอเชียบูรพาสิ้นสุดลง ในสมัยนายกรัฐมนตรีชื่อ ปรีดี พนมยงค์ มีสำนักพิมพ์ 2-3 แห่งหยิบยื่นข้อเสนอให้กุหลาบ สายประดิษฐ์ เพื่อขอจัดพิมพ์หนังสือเล่มนี้ เมื่อถึงราวกลาง พ.ศ.2489 สนิท กิจเลิศ ได้เข้าพบกุหลาบพร้อมกับ ‘ส่งม้วนเรื่องทั้งหมด’ ให้เจ้าของบทสัมภาษณ์ พลางเสนอว่า “ผมจัดรวบรวมเรื่องสำหรับคุณจะได้ตรวจ เรียบร้อยแล้วครับ” จนแล้วสุดกุหลาบคำนึงนึกในใจว่า “เขาเป็นผู้มีอุตสาหะและมีการตระเตรียมดี สมควรที่เขาจะได้รับตามที่เขาปรารถนา” อีกทั้งสนิทก็เคยทำงานร่วมกันในสำนักงานของกุหลาบมาก่อน กุหลาบจึงตกปากรับคำและให้จัดพิมพ์หนังสือเบื้องหลังการปฏิวัติสมปรารถนา รวมถึงระยะนั้นกุหลาบเองก็ต้องการเงินเพื่อตระเตรียมเดินทางไปศึกษาต่อยังประเทศออสเตรเลีย
ที่สำคัญ เขาให้เหตุผลในการรวบรวมพิมพ์เป็นเล่มครั้งแรกนี้ไว้ว่า “เหตุอีกข้อหนึ่งที่ทำให้ข้าพเจ้ามิสู้กระตือรือร้นในการจัดพิมพ์หนังสือเรื่องนี้ขึ้นเป็นเล่มนั้นก็คือ ความมุ่งหมายพิเศษของข้าพเจ้าในการเขียนเรื่องนี้ อยู่ที่จะหาวิธีใหม่ต่อต้านมรสุมของระบอบเผด็จการในเวลานั้น
ข้าพเจ้านำพฤติการณ์ของการปฏิวัติมาเรียบเรียงลงไว้ก็ประสงค์จะให้เป็นข้อตักเตือนแก่นักปฏิวัติกลุ่มหนึ่งที่ถืออำนาจการปกครองในสมัยนั้นได้สำเหนียกถึงอุดมคติของการปฏิวัติว่า เขาได้แสดงไว้อย่างไรและความประพฤติที่เขาปฏิบัติอยู่เป็นปฏิปักษ์ต่ออุดมคติของเขาอย่างไร ข้าพเจ้าหวังจะให้เขาเหล่านั้นบังเกิดความละอายใจ และได้สำนึกตนว่า เมื่อเขาทรยศต่ออุดมคติของเขา ซึ่งในเวลาต่อมาได้กลายเป็นอุดมคติของประชาชนไปแล้ว ก็เท่ากับว่าเขาได้ทรยศต่อประชาชนนั่นเอง เมื่อเป็นดังนั้น เขาก็จะหวังได้รับนับถือและความสนับสนุนจากประชาชนต่อไปไม่ได้ เมื่อข้าพเจ้ามีความมุ่งหมายพิเศษดังกล่าวเช่นนี้ และเมื่อสมัยของการปกครองอันเป็นที่ชิงชังของประชาชนได้กลายเป็นอดีตไปแล้ว ข้าพเจ้าจึงเห็นว่า กิจของเรื่องนั้นได้เสร็จสิ้นลงในส่วนหนึ่งและดังนั้นจึงมิได้หวลคำนึงถึงมันอีก
แต่เรื่อง ‘เบื้องหลังการปฏิวัติ’ นั้น มันก็มีประวัติของมันอยู่ และมีพฤตติการณ์บางเรื่องเกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ ที่ยังมิได้รับการเปิดเผย ฉะนั้นหากข้าพเจ้าจะลำดับและชี้แจงเหตุการณ์ทั้งที่ได้เปิดเผยแล้วและยังมิได้เปิดเผยไว้ในที่นี้ก็จะทำให้การพิมพ์หนังสือเรื่องนี้สมบูรณ์ขึ้น”
กุหลาบ สายประดิษฐ์ บันทึกคำนำหนังสือฉบับรวมพิมพ์ครั้งแรกนี้ไว้เมื่อวันที่ 20 มกราคม พ.ศ.2490 ณ ซอยพระนาง สนามเป้า
เบื้องหลังการปฏิวัติ ๒๔๗๕ พิมพ์รวมเล่มครั้งแรก พ.ศ.2490
สองเดือนถัดมา ทางสำนักพิมพ์จำลองสารจัดพิมพ์หนังสือเล่มเล็กขนาดพกพาปกสีเทาอมฟ้า ประดับภาพหมุดคณะราษฎรคมชัดขนาดใหญ่ที่เมื่อครั้งมีพิธีฝังหมุด 10 ปีก่อนหน้า กุหลาบเคยเขียนบทความลงในหนังสือพิมพ์ประชาชาติแสดงความชื่นชมคณะราษฎรไว้[4] ทั้งแบบปกแข็งและปกอ่อนด้วยความหนาจำนวน 268 หน้า ปรากฏชื่อว่า ‘เบื้องหลังการปฏิวัติ 2475’ และวางจำหน่าย เมื่อวันที่ 28 มีนาคม พ.ศ.2490
เมื่อกล่าวถึงบริบทการพิมพ์หนังสือเล่มนี้ อาจนับได้ว่าเป็นหนึ่งในหนังสืออนุสรณ์ระลึกถึงพระยาพหลฯ อีกเล่มหนึ่ง เนื่องด้วยระหว่างรอจัดพิมพ์ หัวหน้าผู้ก่อการ 2475 ผู้ให้สัมภาษณ์ท่านนี้ถึงแก่อสัญกรรมลงเมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ ศกเดียวกัน และจัดพิธีฌาปนกิจช่วงสงกรานต์ปีนั้น หรืออีกครึ่งเดือนนับจากหนังสือ ‘เบื้องหลังการปฏิวัติ’ เผยโฉมสู่บรรณโลก
อย่างไรก็ดี ชะตากรรมของหนังสือเล่มนี้นับว่าอาภัพไม่แพ้หนังสืออีกหนึ่งเล่มที่ปรีดีแนะนำไว้กับอรุณ กล่าวคือเมื่อเกิดการรัฐประหาร 8 พฤศจิกายน พ.ศ.2490 ปลายปีเดียวกับที่จัดจำหน่าย ส่งผลให้จอมพล ป.พิบูลสงคราม ผงาดกลับคืนสู่อำนาจอีกครั้ง แน่นอนว่าในวาระแรกของผู้นำท่านนี้เคยเกิดข้อพิพาทในการจัดพิมพ์เรื่องดังกล่าวไปแล้ว ฉะนั้น ต่อมาหนังสือเล่มนี้จึงดูเสมือนถูกทอดทิ้งและไม่ได้ถูกนำกลับมาผลิตซ้ำอีกเลยตลอดทศวรรษ 2490 ที่จอมพล ป.ครองอำนาจ มิหนำซ้ำเมื่อล่วงถึงสมัยเผด็จการ สฤษดิ์-ถนอม-ประภาส (พ.ศ.2500-2516) อันเป็นยุคฟื้นฟูแนวคิดราชาชาตินิยม ‘เบื้องหลังการปฏิวัติ’ ยิ่งเหมือนถูกเสกให้อันตรธานไปจากโลกหนังสืออย่างไร้ร่องรอย
กว่าหนังสือประวัติศาสตร์ 2475 เล่มสำคัญนี้จะฟื้นคืนชีพก็ล่วงถึงหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม พ.ศ.2516 เลยไปจนถึงปี พ.ศ.2518 ค่อยมีการนำกลับมาจัดพิมพ์ใหม่ อันห่างเหินจากการพิมพ์ครั้งแรก พ.ศ.2484 ถึง 34 ปี และห่างจากเวลารวมเล่มจัดจำหน่ายครั้งแรกเมื่อ พ.ศ.2490 ถึง 28 ปี!
หนึ่งในเหตุผลของการปฏิเสธบทสัมภาษณ์พระยาพหลฯ เมื่อ พ.ศ.2484 ภายใต้ยุครัฐบาลของหลวงพิบูลสงคราม พออนุมานได้ว่าคงเป็นเพราะเนื้อหาเหตุการณ์เมื่อครั้งเปลี่ยนแปลงการปกครองนั้นแสดงถึงบทบาทสำคัญของพระยาทรงสุรเดชในการวางแผนเมื่อวันปฏิวัติ แต่ในบริบทกลางปี พ.ศ.2484 เพิ่งบังเกิดกรณี ‘กบฏกรมขุนชัยนาทฯ พ.ศ.2481’ ได้ไม่นาน พร้อมปรากฏรายชื่อผู้ร่วมก่อการกบฏ ทั้งพระยาทรงสุรเดช รวมถึงสมาชิกคณะราษฎรท่านอื่นๆ เช่น พระยาฤทธิอัคเนย์ (สละ เอมะศิริ) หลวงชำนาญยุทธศิลป์ (เชย รมยะนันท์) เป็นต้น การกบฏครั้งนั้นส่งผลให้พระยาทรงสุรเดชถูกเชิญออกนอกประเทศไปสู่ดินแดนอินโดจีนจนเสียชีวิตในต่างแดน
ครั้งกุหลาบเผยแพร่บทสัมภาษณ์เมื่อกลางปี พ.ศ.2484 ประเทศไทยเพิ่งพิชิตชัยสงครามอินโดจีนด้วยการเกื้อหนุนจากประเทศญี่ปุ่น ที่สำคัญ พระยาทรงสุรเดชยังดำเนินชีวิตอยู่ในอินโดจีน และเป็นช่วงต้นของการถูกเนรเทศ เมื่อ พ.ศ.2482 นี้เอง ที่ ‘เบอร์สอง’ ของคณะราษฎรเริ่มเขียนหนังสือเล่มสำคัญเล่าถึงเหตุการณ์ปฏิวัติ 2475 อย่างละเอียด ซึ่งต่อมารู้จักกันดีในชื่อว่า ‘บันทึกพระยาทรงสุรเดช’
‘บันทึกพระยาทรงสุรเดช พ.ศ.2482’
พระยาทรงสุรเดช (เทพ พันธุมเสน) นับเป็นผู้อาวุโสอันดับสองและเป็นคนวางแผนการเมื่อ ‘ย่ำรุ่ง 24 มิ.ย.’ หรือที่สายลับพระปกเกล้าฯ โพยม โรจนวิภาต ในนามปากกา ม.27 เรียกเหตุการณ์ครั้งนั้นไว้ว่า ‘ต้มหมู’[5] อย่างไรก็ตาม เล่ากันว่านักเรียนนายร้อยจากเยอรมันผู้นี้มีทัศนคติไม่ต้องกันกับนักเรียนนายร้อยจากฝรั่งเศสชื่อก้อง คือหลวงพิบูลสงคราม (แปลก ขีตตะสังคะ-จอมพล ป.ในเวลาต่อมา)
การกระทบกระทั่งของคู่นี้ดำเนินเรื่อยไปจนถึงปีที่ 6 หลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง ทันทีที่หลวงพิบูลสงครามขึ้นสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรี รัฐบาลทำการกวาดล้างปฏิปักษ์ในทันที เกิดเป็นกรณี ‘กบฏกรมขุนชัยนาทฯ พ.ศ.2481’ พร้อมเชิญให้พระยาทรงสุรเดชรีบเร่งเดินทางออกจากประเทศไทย เมื่อปลาย พ.ศ.2481 ด้วยข้อหามีส่วนร่วมในกลุ่มกบฏ จนจำต้องใช้ชีวิตที่เหลืออีก 6 ปีอย่างสุดแสนลำเค็ญในดินแดนอินโดจีนตลอดวาระการครองอำนาจของจอมพล ป.สมัยแรก (พ.ศ.2481-2487) จนท้ายที่สุดถึงแก่อนิจกรรม เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน พ.ศ.2487
ร่างของท่านได้รับการฌาปนกิจ ณ เมรุวัดปทุมวดี กรุงพนมเปญ ประจวบกับว่าภายหลังพระยาทรงสุรเดชลาโลกเพียงไม่ถึงสองเดือนในช่วงเข้าปีสุดท้ายของสงครามมหาเอเชียบูรพานี้ จอมพล ป.พิบูลสงครามก็ต้องพ้นจากอำนาจอย่างไม่คาดฝันด้วยการขับเคลื่อนเกมทางรัฐสภาของปรีดี พนมยงค์ ส่งผลให้อัฐิของพระยาทรงสุรเดชผู้เคยเป็นปฏิปักษ์กับจอมพลสามารถหวนคืนกลับสู่มาตุภูมิในปีเดียวกัน และประกอบพิธีใหญ่อย่างสมเกียรติ ณ วัดมหาธาตุ[6]
การณ์ครั้งนั้นยังไม่พบว่ามีการจัดพิมพ์อนุสรณ์งานศพให้พระยาทรงสุรเดชแต่อย่างใด อย่างไรก็ตาม 3 ปีถัดมา ส.ส.จังหวัดนครพนม นายปั่น แก้วมาตย์ ได้ช่วยเรียบเรียงหนังสือ ‘บันทึกพระยาทรงสุรเดช’ จากต้นฉบับที่พระยาทรงสุรเดชเริ่มเขียนไว้ตั้งแต่ช่วงต้นของการลี้ภัย เมื่อ พ.ศ.2482 โดยต่อมานายทหารคนสนิทคือ สำรวจ กาญจนสิทธิ์ ฝากบันทึก ‘การปฏิวัติ 24 มิ.ย.75’[7] ฉบับลายมือของพันเอกพระยาทรงฯ ไว้กับพันโทหลวงจรูญฤทธิไกร (หนึ่งในกบฏบวรเดชที่ลี้ภัยไปอินโดจีน) ให้นำกลับมาประเทศไทย
‘บันทึกพระยาทรงสุรเดช’ ฉบับ ปั่น แก้วมาตย์ พิมพ์ครั้งแรกและถูกจัดจำหน่ายโดย ประยูร พิศนาคะ ด้วยความหนาถึง 313 หน้า ภาพปกเป็นรูปพวงหรีดเหนือกระถางธูป ภายในยังประกอบด้วยรูปที่ไม่พบเห็นบ่อยนักของพระยาทรงฯ 2 ภาพ โดยบันทึกท่อนหนึ่งของ ส.ส.ปั่น กล่าวไว้ว่า “…ฉะนั้นโดยที่ผู้รวบรวมเป็นคนจน ได้หยิบยืมบรรดาเพื่อนฝูงที่เคารพมารวบรวมพิมพ์ขึ้น เพื่อให้ประชาชนได้ทราบถึงความเป็นมาอันแท้จริงของการปฏิวัติในวันที่ 24 มิถุนายน ว่าใครแน่เป็นผู้ทำใคร และใครตามใคร แต่ทั้งผู้นำและผู้ตามต่างก็มุ่งผลดีด้วยกันและทำความดีเพื่อส่วนรวมแล้ว ชาวไทยขอสดุดีและขอเคารพในผลกรรมดีที่ผู้ก่อการได้เสียสละ จนได้รัฐธรรมนูญ…”[8]
บันทึกพระยาทรงสุรเดช พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ.2490
พระยาทรงสุรเดช และ ท.ส.สำรวจ กาญจนสิทธิ์
‘บันทึกพระยาทรง’ ในบท ‘การปฏิวัติ 24 มิ.ย.75’ ขึ้นต้นด้วยว่า “ต่อไปนี้ทั้งหมดเป็นบันทึกของท่าน พ.อ. ซึ่งเขียนไว้เมื่อเดือนมิถุนายน 2482 ที่ห้องแถวเลขที่ 36 ถนนรีโช ตำเกา ไซง่อน การปฏิวัติวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ.2475 (บันทึกโดยนายทหารผู้หนึ่งซึ่งได้เห็นและทราบเรื่องนี้โดยตลอด)”[9] จากฉบับ ส.ส.ปั่น นับจากหน้า 254 ถึง 303 เฉพาะส่วนนี้กว่าจะได้นำกลับมาพิมพ์ซ้ำก็คล้ายคลึงกับ ‘เบื้องหลังการปฏิวัติ’ ของกุหลาบ สายประดิษฐ์ กล่าวคือต้องรอจนถึงทศวรรษ 2510 คือวันที่ 5 มิถุนายน พ.ศ.2514 เมื่อ นรนิติ เศรษฐบุตร อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้รับอนุญาตจากคุณหญิงทรงสุรเดช (ห่วง) ให้จัดพิมพ์บันทึกนี้ได้ โดยได้ ชาญวิทย์ เกษตรศิริ ขณะยังเป็นนักศึกษาปริญญาเอกที่อเมริกามาช่วยทำเชิงอรรถ[10]
ต่อมาในปลายทศวรรษ 2510 จนถึงต้น พ.ศ.2520 นายทหารคนสนิทของพระยาทรงสุรเดช สำรวจ กาญจนสิทธิ์ ยังเพิ่มพูนข้อมูลเรื่องราวชีวิตของเจ้านายผู้วางแผนก่อการ 2475 ไว้อีก 2 เล่ม ในชื่อว่า ‘ท.ส.(ทหารคนสนิท) พระยาทรงสุรเดช เรื่องจริงในอดีตจากชีวิตต่อสู้ผจญภัยของพระยาทรงสุรเดช’ และ ‘บันทึกชิ้นสุดท้ายของพระยาทรงสุรเดช ชีวิตพระยาทรงฯ ในต่างแดน’ และเมื่อถึง พ.ศ.2535 ในวาระครบ 60 ปีประชาธิปไตย อาจารย์สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ ได้มานั่งเป็นบรรณาธิการให้กับหนังสือของ เสทื้อน ศุภโสภณ ชื่อเล่มว่า ‘ชีวิตและการต่อสู้ของพระยาทรงสุรเดช’
บันทึกพระยาทรงสุรเดช ฉบับพิมพ์ พ.ศ.2527
ปิดท้าย
ปฏิเสธไม่ได้ว่าหนังสือสองเล่มนี้นับเป็นหลักฐานชั้นต้นเกี่ยวกับการปฏิวัติ 2475 ที่ใช้อ้างอิงสูงสุด ที่สำคัญยังนับว่าเขียนขึ้นในระยะเวลาไม่ห่างจากเหตุการณ์มากนัก หากจะเทียบเคียงกับบันทึกของสองพลเรือนผู้ริเริ่มก่อการคือ ปรีดี พนมยงค์ และ ประยูร ภมรมนตรี ที่คู่หลังนี้ล้วนแต่เขียนบอกเล่าเรื่องราวในส่วนดังกล่าวเมื่อชีวิตล่วงถึงปัจฉิมวัยแล้ว ในแง่ประวัติหนังสือของสองพระยาทหารเสือคณะราษฎรนี้ก็นับว่าน่าศึกษาในแง่บริบทการเมืองที่จัดพิมพ์ ถึงแม้ว่าสองผู้อาวุโสสูงสุดคณะราษฎรจะบอกเล่าไว้ระหว่าง พ.ศ.2482 (บันทึกพระยาทรงฯ) และ พ.ศ.2484 (เบื้องหลังการปฏิวัติ 2475-บทสัมภาษณ์พระยาพหลฯ) แต่กว่าจะรวมเล่มพิมพ์จำหน่ายก็เป็นปีเดียวกันคือ พ.ศ.2490 ในสมัยเรืองรองของปรีดี พนมยงค์ และก็ต้องมาซบเซาไปอีกมากกว่าสองทศวรรษต่อมาภายใต้สมัยเผด็จการทหาร ก่อนฟื้นคืนชีพกลับคืนมาให้ผู้คนศึกษาในกลางทศวรรษ คือ พ.ศ.2514 (บันทึกพระยาทรงฯ) และ พ.ศ.2518 (เบื้องหลังการปฏิวัติ 2475-บทสัมภาษณ์พระยาพหลฯ โดย กุหลาบ สายประดิษฐ์)
ชาญวิทย์ เกษตรศิริ ผู้เคยมีส่วนร่วมในการชำระความหนังสือบันทึกพระยาทรงสุรเดชเมื่อปี พ.ศ.2514 แสดงทัศนะไว้ว่า “คนเดือนตุลาฯ มองไม่ค่อยเห็นความสำคัญของการปฏิวัติ พ.ศ.2475 จะมองไม่ค่อยเห็นความสำคัญของคณะราษฎร ผมว่ามาถึงรุ่นปัจจุบันนี่แหละ เจนเนอเรชั่น Z นี้แหละ คนรุ่นใหม่พยายามกลับไปมองว่า คณะราษฎรสมัยนั้นน่ะเขาทำอะไรกัน”[11] ซึ่งพอจะสะท้อนให้เห็นผ่านบริบทผ่านการจัดพิมพ์หนังสือ ‘เบื้องหลังการปฏิวัติ พ.ศ.๒๔๗๕’ ที่กว่าจะได้ผลิตซ้ำก็ล่วงเลยถึงปี พ.ศ.2518 หรือหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาฯ ล่วงแล้วสองปี
อนึ่ง ยังคงมีอัตชีวประวัติของอีกสองทหารเสือคณะราษฎรคือ พระประศาสน์พิทยายุทธ (วัน ชูถิ่น) และ พระยาฤทธิอัคเนย์ (สละ เอมะศิริ) ที่ทั้งคู่ได้บอกเล่าเหตุการณ์เมื่อครั้งปฏิวัติ 2475 ได้อย่างมีอรรถรสไว้ด้วยเช่นกัน ผู้เขียนคงจะได้สรรหามาเขียนเล่าในวาระต่อไป
ภาพปกหนังสือบทสัมภาษณ์ของปรีดี พนมยงค์ โดย อรุณ เวชสุวรรณ
[1] อรุณ เวชสุวรรณ, รัฐบุรุษอาวุโส ปรีดี พนมยงค์ บิดาแห่งระบอบประชาธิปไตยของไทย, น.31-32.
[2] รายละเอียดของคณะเปลี่ยนแปลงการปกครอง ดู นริศ จรัสจรรยาวงศ์, 2475 ราษฎรพลิกแผ่นดิน, พ.ศ.2564, (มติชน).
[3] ขณะนั้นยังไม่ได้เป็นจอมพล ถัดมาอีกเพียงสองเดือนจึงได้อวยยศเป็น “จอมพล ป.” เมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ.2484.
[4] นริศ จรัสจรรยาวงศ์, พิธีฝังหมุดคณะราษฎร กับ กุหลาบ สายประดิษฐ์ และ ข้างหลังภาพ จุดเชื่อมต่อ https://pridi.or.th/th/content/2022/11/1333
[5] “กว่าบรรดาผู้ถูก “ตุ๋น” จะรู้สึกตัว ก็ถึงขนาด “เปื่อยยุ่ย” จนต้องตกอยู่ภายใต้อำนาจของฝ่ายผู้ก่อการอย่างดิ้นไม่หลุดเสียแล้ว” ดู “อ.ก.รุ่งแสง”, พ.27 สายลับพระปกเกล้าฯ เล่ม 1,( โรงพิมพ์ไทยเขษม, 2521 ),น. 194.
[6] ปั่น แก้วมาตย์, บันทึกพระยาทรง, (การพิมพ์กรุงเทพ : 2490), น. 231-233.
[7] ปั่น แก้วมาตย์, บันทึกพระยาทรง, (การพิมพ์กรุงเทพ : 2490),น.254-303.
[8] ปั่น แก้วมาตย์, บันทึกพระยาทรง, (การพิมพ์กรุงเทพ:2490), น. ฆ.
[9] ปั่น แก้วมาตย์, บันทึกพระยาทรง, (การพิมพ์กรุงเทพ:2490), น.254.
[10] นรนิติ เศรษฐบุตร และชาญวิทย์ เกษตรศิริ, บันทึกพระยาทรงสุรเดช เมื่อวันปฏิวัติ 24 มิถุนายน 2475, พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ.2514 (โรงพิมพ์อักษรไทย) และ พิมพ์ครั้งที่สอง พ.ศ.2527 (สำนักพิมพ์แพร่พิทยา).
[11] ดู ชาญวิทย์ เกษตรศิริ, รวม 5 HILIGHT ในงาน ‘24 มิถุนายน วันมหาศรีสวัสดิ์’ ที่ราสดรทั้งหลายไม่ควรพลาด! https://www.facebook.com