<กล้องวงจรปิด>
มือปราบ นักสืบ ยุคโบราณ ไม่ต้องย้อนไปไกลนักเดี๋ยวจะไม่รู้จักเอาแค่สมัย พล.ต.ต.ขุนพันธรักษ์ราชเดช, พล.ต.อ.สล้าง บุนนาค, พล.ต.ท.ชลอ เกิดเทศ, พล.ต.ท.วรรณรัตน์ คชรักษ์, พล.ต.ท.ทวี ทิพย์รัตน์ มาถึงยุค พล.ต.อ.ภาณุพงศ์ สิงหรา ณ อยุธยา, พล.ต.ต.ปรีชา ธิมามนตรี, พล.ต.ต.วีระศักดิ์ มีนะวาณิชย์, พ.ต.อ.ประมวลศักดิ์ ศรีสมบุญ, พ.ต.อ.บรรดล ตัณฑไพบูลย์ และอีกหลากหลายท่าน ขออภัย ไม่อาจเอ่ยนามได้ครบถ้วน
ในการสืบสวน หาพยานหลักฐาน เพื่อมัดตัวผู้กระทำความผิดล้วนแล้วแต่ใช้ฝีไม้ลายมือของตนเองและทีมงาน ไม่ว่าจะเป็นการแกะรอย การสอบขยายผล การซุ่มโป่ง รวมทั้งต้องเก่งต้องแม่นในข้อกฎหมาย เวลาเบิกความชั้นศาล
โลกยุคปัจจุบัน วิทยาการก้าวหน้า เทคโนโลยีก้าวไกล กลุ่มคนหัวใสไร้คุณธรรมกลับนำมาใช้เป็นเครื่องมือในการประกอบอาชญากรรมต่าง ๆ เช่นการพนันออนไลน์ โรแมนซ์สแกม หลอกขายสินค้าไม่ตรงปก แก๊งคอลเซ็นเตอร์ เป็นต้น
ตำรวจ ซึ่งมีอำนาจหน้าที่ในการป้องกันปราบปรามอาชญากรรมทุกประเภท ทั้งในราชอาณาจักรและเกี่ยวพันนอกราชอาณาจักร ต้องหากลยุทธ ยุทธวิธี เพื่อขับเคี่ยวจัดการกับแก๊งพวกเดนคนเหล่านี้ โดยการจัดตั้งหน่วยงานต่าง ๆ ขึ้น เช่น ตำรวจป้องกันปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ตำรวจไซเบอร์ ตำรวจป้องกันปราบปรามอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ ตลอดจน ตำรวจป้องกันปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบ หรือ <ปปป.> ที่ พล.ต.ต.จรูญเกียรติ ปานแก้ว ได้สร้างชื่อเสียงในการทำงานไว้
นอกจากนี้ อาชญากรรมที่เกี่ยวกับชีวิตร่างกาย และทรัพย์สิน แก๊งวัยรุ่นวัยคะนอง นักศึกษาต่างสถาบันยกพวกตีกัน ก็เกิดขึ้นทุกหัวระแหง ทุกเมืองท่องเที่ยว ทุกที่ชุมชน ทุกแหล่งเศรษฐกิจ ไม่ว่าจะเป็นเวลากลางวันหรือกลางคืน
ผมขอแบ่งกำลังพลตำรวจ แบ่งเป็น 3 ส่วน คือ ฝ่ายปฏิบัติการตามพื้นที่ ฝ่ายสนับสนุน และฝ่ายอำนวยการ
ตำรวจไม่ใช่พระพรหมสี่หน้า พระนารายณ์สี่กร ตำรวจไม่สามารถดูแลทุกเรื่องที่เกิดขึ้นได้อย่างรวดเร็วทั่วถึง ด้วยความจำกัดในด้านกำลังพล อุปกรณ์ที่ทันสมัย และงบประมาณ
ผมชอบดูหนังแนวสืบสวน สอบสวน ไม่ว่าจะเป็น หนังฮอลลีวูด บอลลีวูด หนังจีน หนังสเปน ในหนังนั้น ผมเล็งเห็นอุปกรณ์ชิ้นหนึ่ง คือ <กล้องวงจรปิด> ติดตั้งอยู่ตามสถานที่ต่าง ๆ ทั่วไปทั้งเมือง
มีเจ้าหน้าที่ประจำห้องควบคุมการปฏิบัติการ ดูภาพดูเหตุการณ์ ตามหน้าจอของทุกกล้อง แล้ววินิจฉัยสั่งการให้ตำรวจเข้าไประงับยับยั้งเหตุร้าย หรือดูว่า คนก่อเหตุหลบหนีไปที่ใด ? เส้นทางใด ? เพื่อสะกัดจับกุม
มีประโยชน์มากในการทำงานของตำรวจยุคโลกาภิวัฒน์
ถ้า ตร. หรือปัจจุบันที่เรียกว่า สตช. จัดทำโครงการขึ้นมาเสนอต่อรัฐบาลเพื่อติดตั้งกล้องวงจรปิดที่มีคุณภาพสูงตามจุดต่าง ๆ เช่นที่สาธารณะหรือที่ที่เหมาะสมทุกพื้นที่ทั่วประเทศไทย
โดยตำรวจระดับโรงพัก ระดับ บก. ระดับ บช. จัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการขึ้นมารองรับ มีเจ้าหน้าที่ประจำศูนย์ตลอดยี่สิบสี่ชั่วโมง สามารถมองเห็นภาพที่เคลื่อนไหวในเหตุการณ์ต่าง ๆ ได้ทุกจุดทุกที่ สามารถสั่งการ ประสานการปฏิบัติกับท้องที่เกิดเหตุได้อย่างรวดเร็ว ทันที
สถิติที่เกิดขึ้น จะเป็นสภิติที่แท้จริง นำมาใช้เป็นข้อมูลในการวิเคราะห์ เพื่อวางแผนการป้องกันปราบปรามอาชญากรรมได้
นายกรัฐมนตรี ท่านก็เป็นประธาน ก.ตร. โดยตำแหน่งอยู่แล้ว ผบ.ตร.คนปัจจุบัน ท่านก็มีฤทธิ์มีเดชอยู่แล้ว สองผู้ยิ่งใหญ่ของวงการตำรวจถ้าจับมือกัน คิดร่วมกัน ทำร่วมกัน สนับสนุนส่งเสริม ซึ่งกันและกัน อะไรจะเกิดขึ้น ?
ตำรวจทั้งประเทศจะมีความมั่นคง มั่นใจ ในการปฏิบัติหน้าที่มากขึ้น ทันเหตุการณ์ ทันเวลา ที่หนักจะเป็นเบา ที่ทุเลาจะต้องหาย ที่ตายจะต้องรอด สามารถระงับยับยั้งเหตุได้โดยเร็ว ไม่ให้ลุกลามบาน เพราะมีอุปกรณ์ เครื่องมือที่ทันสมัย ในการต่อกรกับเหล่าร้ายได้
ผู้รับประโยชน์โดยตรง คือพี่น้องประชาชนคนไทยทั้งประเทศ
ผมได้มีโอกาสพูดคุยกับนายตำรวจชั้นประทวน ที่มีคุณวุฒิ ป.โท ป.เอก หลายคน แต่ละคนก็แสดงความคิดเห็นที่เป็นประโยชน์ ด้วยความรักความห่วงใยใน <องค์กรตำรวจ> องค์กรที่ทำหน้าที่เป็น <ผู้พิทักษ์สันติราษฏร์> ที่มีเพียงองค์กรเดียวในแผ่นดินนี้
มีความเห็นพ้องต้องกันเรื่องกล้องวงจรปิด เพราะน้อง ๆ นายตำรวจชั้นประทวนเหล่านี้ส่วนมาก ล้วนแล้วแต่เป็นตำรวจผู้ปฏิบัติการตัวจริง มีประสบการณ์ เปี่ยมด้วยสติปัญญา และความรู้ วิเคราะห์ได้ วิจัยเป็น บางคนเป็นอาจารย์พิเศษนอกเวลาทำงานด้วย
ก็ไม่รู้ว่า กระบอกเสียงเล็ก ๆ เสียงนี้ จะส่งถึง นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล ผบ.ตร. หรือไม่ ? ถ้าไม่ถึงก็แล้วไป ถ้าถึงแล้ว คิดว่าดี คิดว่ามีประโยชน์ก็ช่วยสานต่อ ถ้าคิดว่าไร้สาระก็ทิ้งไป
และผมขออภัยที่รบกวนเวลาท่านครับ
พล.ต.ต.ไอยศูรย์ สิงหนาท
2 ก.พ. 2567 : 16.22 น.