คำ “สวัสดี” ภาษาที่ใช้ในปักษ์ใต้มาก่อนได้ใช้เป็นทางการในไทย
วันที่ ๒๒ มกราคม พ.ศ. ๒๔๘๖ เป็นวันที่รัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม นำคำ “สวัสดี” อันเป็นภาษาที่ใช้กันอยู่ในปักษ์ใต้โบราณมาใช้เป็นคำทักทายโดยประกาศให้ราษฎรไทยใช้เป็นวันแรก ผู้เสนอให้ใช้ศัพท์นี้คือ พระยาอุปกิตศิลปสาร (นิ่ม กาญจนชีวะ) อาจารย์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเป็นผู้นำเสนอให้ใช้ศัพท์นี้ และได้ยืนยันว่าเป็นคำทักทายของชาวปักษ์ใต้สมัยโบราณ
จอมพล ป.พิบูลสงคราม ผู้ซึ่งบางคนได้ประณามท่านต่าง ๆ นานา แต่ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงผลงานบางอย่างที่ท่านทำไว้กับประเทศชาติได้ เช่นการใช้คำ “สวัสดี” การเปลี่ยนชื่อ “สยาม” เป็น “ประเทศไทย” การให้คนไทยเลิกนุ่งผ้าโจงกระเบน (ตามแขกอินเดียโบราณ) การเคารพธงชาติ การให้คนไทยเลิกกินหมาก ฯลฯ
คำ “สวัสดี” เป็นภาษาในสมัยศรีวิชัย เป็นศัพท์ในภาษาสันสกฤต – บาลี ของอินเดียที่แพร่มาสู่ภาคใต้ของไทยพร้อมกับพุทธศาสนาและศาสนาพราหมณ์ มีอายุกว่า ๑๒๐๐ ปี ปรากฎอยู่ในหลักศิลาจารึก หลักที่ ๒๓ ข. ซึ่งหลักศิลาจารึกนี้สถานที่พบยังไม่แน่นอนนัก (บ้างก็ว่าพบที่อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี) แต่ถือกันเป็นทางการว่าพบที่วัดเสมาเมือง นครศรีธรรมราช ผู้แปลศิลาจารึกหลักนี้คือศาสตราจารย์ยอร์จ เซเดส์ ชาวฝรั่งเศสซึ่งเคยมาทำงานช่วยราชการอยู่ในประเทศไทย ขึ้นต้นคำแปลว่า “สวัสดี ผู้เป็นเจ้าแห่งพระราชาทั้งหลาย…..” แสดงถึงหลักฐานการใช้ (ระบุศักราชในจารึกนั้นไว้ด้วย) มีอายุกว่า ๑๒๐๐ ปีมาแล้ว ตามภาพประกอบ
ประเทศไทย คนไทยส่วนมากได้รับการสั่งสอนให้เชื่อว่าคนไทยมีอาณาจักรสุโขไทย เป็นอาณาจักรแรก แต่ในศิลาจารึกสุโขทัย หลักที่ ๑ (รัชกาลที่ ๔ พบที่สุโขทัย) ได้กล่าวถึงสุโขทัยได้การรับพุทธศาสนามาจากนครศรีธรรมราช แสดงว่าก่อนหน้านั้นนครศรีธรรมราชเจริญมาก่อนแล้ว และเมื่อได้อ่านเรื่องตำนานพุทธเจดีย์สยาม ของสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ อ่านหนังสือเกี่ยวกับพุทธศิลป์ในประเทศไทยของนักวิชาการด้านศิลปะต่างก็ยืนยันกันว่าเจดีย์รูปทรง “โอคว่ำ” ที่มีในภาคกลาง ภาคเหนือของไทย ล้วนได้รูปแบบไปจากพระบรมธาตุนครศรีธรรมราช และพอมาอ่านพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ พระเจ้าตากได้นำพระไตรปิฎกและคัมภีร์วิสุทธิมรรคจากนครศรีธรรมราชมาใช้เป็นบรรทัดฐานของพุทธศาสนาในไทยจนถึงปัจจุบัน เพราะของเดิมที่ใช้สืบต่อมาตั้งแต่สมัยสุโขทัยถูกเผาหมดครั้งเสียกรุงเมื่อ พ.ศ.๒๓๑๐ ทำให้เชื่อได้ว่าพุทธศาสนาที่แพร่หลายเป็นหลักอยู่ในไทยปัจจุบันนี้แพร่หลายมาจากภาคใต้ของไทย
พุทธศาสนาและอารยธรรมแบบอินเดียจากประเทศอินเดียแพร่หลายโดยทางเรือไปลังกามาไทยโดยทางเรือมาเจริญรุ่งเรืองทางภาคใต้ (เรียกว่าสมัยศรีวิชัยก่อนหน้านั้นเรียกกันว่าสมัยทวาราวดีก็มีหลักฐานอยู่ที่ภาคใต้เช่นกัน) แล้วไปสู่เขมรล้านนาลาว เมื่อกรุงศรีอยุธยาเสียแก่พม่าครั้งที่ ๒ พ.ศ. ๒๓๑๐ สมเด็จพระสังฆราชแห่งกรุงศรีอยุธยาก็เสด็จลี้ภัยไปยังนครศรีธรรมราชถิ่นพุทธศาสนาแต่ดั้งเดิม พงษาวดารบันทึกไว้อย่างนั้น ศัพท์ภาษาไทยเก่าๆ ในสมัยสุโขทัยในศิลาจารึกตรงกับศัทพ์ที่คนใต้ใช้กันในปัจจุบันมาก สำเนียงคนใต้คล้ายภาษาพูดของคนเพชรบุรี สุพรรณบุรี หลวงพระบาง มากทีเดียวเป็นเรื่องที่นักภาษาศาสตร์ควรศึกษาค้นคว้ากันต่อไป
คนภาคใต้สมัยโบราณเวลาเรียนหนังสือต้องไหว้ “สัสสดี” (คือสวัสดี) ก่อนนอนต้องไหว้สัสสดี มีการท่องจำเป็นคำกลอนสามารถศึกษาค้นคว้ามาอ่านได้
ท่านอาจารย์พุทธทาส ท่านบอกว่ายุคสมัยของไทยยุคศรีวิชัยพุทธศาสนา ศีลธรรม วัฒนธรรมเจริญรุ่งเรืองมาก่อน สมัยนั้นบางกอกอาจจะยังเป็นป่าชายเลนอยู่เลย
วันที่ ๒๒ มกราคม พ.ศ. ๒๔๘๖ เป็นวันที่รัฐบาลไทยสมัย จอมพล ป. พิบูลสงคราม นำศัพท์ “สวัสดี” มาใช้ในไทยเป็นวันแรก ขอนำหลักฐานคือศิลาจารึกหลักที่ ๒๓ อันเป็นที่มาของคำ “สวัสดี” มาเสนอกันครับ