คอลัมนิสต์

“Soft Power” กับ “โซนนิ่งสงกรานต์”


15 มกราคม 2024, 17:21 น.

 

<Soft Power> กับ <โซนนิ่งสงกรานต์>

 

ได้ติดตามข่าวด้วยความสนใจ ที่สุภาพสตรี ผู้เป็นหัวหน้าพรรคการเมืองพรรคหนึ่ง ซึ่งเป็นแกนนำรัฐบาลจะผลักดันให้เทศกาลสงกรานต์ เป็น Soft Power ของประเทศไทย

 

ผมขอฝากแนวคิดเรื่องความปลอดภัยทางถนนในเทศกาลสงกรานต์ประกอบ Soft Power

 

แนวคิดนี้ <รัฐบาล> ในยุคหนึ่ง เคยประกาศใช้มาแล้วติดต่อกันหลายปี ในอดีตที่ผ่านมา ช่วยลดการเกิดอุบัติเหตุลดความตาย ลดความพิการ ลดความบาดเจ็บ ลดความเสียหายของยานพาหนะและทรัพย์สินได้นับเอนกอนันต์

 

ภาพ : คมชัดลึก

แต่กว่าจะมีโอกาสมาเป็น <โซนนิ่งสงกรานต์> ได้ ต้องอดทนต่อคำวิพากษ์วิจารณ์ต้องอดทนต่อการซ้ำเติมด้วยการกระทำบางอย่างแบบที่ไม่เคยได้รับมาก่อนบนเวทีการนำเสนอ เวทีที่เป็นจุดเริ่มต้นของการแสดงความคิดเห็น

 

โชคดี ที่ความคิดนอกกรอบ ไม่ได้ถูกตีกรอบกั้นไว้จึงมีโอกาสมาต่อยอดเป็น <<โซนนิ่งสงกรานต์>>

 

หลังเทศกาลปีใหม่ 2547 สสส.ได้จัด <สัมมนา> <เรื่องการจัดการเพื่อความปลอดภัยทางถนน> ในพื้นที่ภาคอีสานทั้ง 20 จังหวัด ที่ จว.ขอนแก่น

 

<ผู้จัด ผู้ดำเนินการ> เป็นนายแพทย์ จากส่วนกลาง ที่ทำงานใน สสส.

 

<ผู้ร่วมสัมมนา> คือ ตัวแทนตำรวจกับตัวแทนสาธารณสุขจังหวัด แต่ละจังหวัดภาคอีสาน

 

โดยต้องนำแผนงานโครงการบริหารจัดการเกี่ยวกับความปลอดภัยทางถนนมานำเสนอบนเวทีสัมมนาด้วย

 

ผม ผกก.สภ.ละหานทราย เป็นตัวแทน ภ.จว.บุรีรัมย์ คุณเทียนทอง เป็นตัวแทนสาธารณสุขจังหวัด

 

แต่ละจังหวัดมีการนำเสนอแผนงาน โครงการ ได้รับคำติ คำชมจากนายแพทย์สองสามคนที่นั่งฟังอยู่

 

ถึงคิว จว.บุรีรัมย์ ผมนำเสนอโครงการเรื่อง <การมีส่วนร่วมของภาคประชาสังคม ในการปฏิบัติตามกฎจราจร>

 

หลักการคือ มีการประชุมชี้แจงผู้นำชุมชน ทุกตำบล ทุกอำเภอ ให้ไปบอกชาวบ้านในพื้นที่ตัวเองให้ปฏิบัติตามกฎจราจรอย่างเคร่งครัด

 

เช่น ต้องมีใบอนุญาตขับขี่ ต้องสวมหมวกนิรภัย ต้องทำตามสัญญาณและเครื่องหมายจราจร

 

โดยจะมีเจ้าหน้าที่ตำรวจประจำตำบลและเจ้าหน้าที่ตำรวจจราจร ช่วยกันตรวจตรา กวดขัน ทั้งแนะนำและจับกุม <เน้นการว่ากล่าวตักเตือนตามกฎหมาย>

 

จะมีการจดสถิติการจับกุมและมีการจัดอันดับทุกเดือน คือ <3 หมู่บ้านดีเด่น> กับ <3 หมู่บ้านยอดแย่>

 

ครบ 1 ปี ใช้คะแนนรวมทุกเดือน ตัดสิน ประกาศผลในการประชุมหัวหน้าส่วนราชการ ประจำเดือนของแต่ละอำเภอ

 

มีการมอบรางวัลดีเด่น และ รางวัลยอดแย่

 

ภาพ : Channel news Thailand

 

พอผมนำเสนอเสร็จ นายแพทย์คนหนึ่งได้พูดวิจารณ์ผม

 

<ผู้กำกับคนนี้เพ้อฝันเก่งน่าดู จากการวิจัย 50 ปีย้อนหลังในประเทศสหรัฐอเมริกา การบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจังเคร่งครัดเท่านั้น จึงจะทำให้คนทำตามกฎจราจรได้ การอาศัยความร่วมมือจากผู้จะต้องถูกบังคับ ให้ทำตามกฎจราจร เป็นไปไม่ได้>

 

ผมขออนุญาตพูดต่อ

 

<ขอบคุณครับที่ท่านวิจารณ์และแนะนำ ผมขอเรียนว่า บริบททางสังคมของประเทศสหรัฐอเมริกากับประเทศไทย แตกต่างกันครับ ผมเคยอ่านปรัชญาบทหนึ่งของ <โจเอล บ้าบ> <ชื่อ เขียนเป็นภาษาอังกฤษ จำคำสะกดไม่ได้แล้วแต่ผมเขียนแบบอ่านภาษาไทย> ติดอยู่ที่ฝาผนังห้องสมุดอำเภอละหานทราย>

 

ผมพูดไม่ทันจบ หญิงแต่งชุดนางพยาบาลคนหนึ่ง ที่มานั่งฟังการสัมมนาอยู่แถวหน้า ใช้อะไรสักอย่างเคาะแก้วน้ำ เสียงดังเป๊ง ๆ ๆ

 

หน้าผมเริ่มตึง ตาเริ่มเขม็ง ผมถามว่า

 

<เคาะทำไม ? คนอื่นพูดทำไมไม่เคาะ ถ้าเคาะเพราะหมดเวลา ทำไมไม่บอกกติกา ก่อนมีการพูดนำเสนอ ผมมาไกล
จะพูดต่อให้จบ>

 

ผมสูดลมหายใจลึก ๆ ข่มความรู้สึก แล้วพูดต่อ

 

<หลักปรัชญานั้น มีข้อความ 3 ประโยคว่า <มีวิสัยทัศน์ ถ้าไม่ทำ เท่ากับฝันไป> <ขยันทำ แต่ไม่มีวิสัยทัศน์ เท่ากับสูญเปล่า> <ถ้ามีวิสัยทัศน์และขยันทำด้วย จะเกิดการเปลี่ยนแปลงโลกนี้ได้>

 

ผมจะเอาโครงการของผม ไปทำในท้องที่ผม ขอบคุณครับ>

 

ลุกขึ้น ลงจากเวที ไร้เสียงปรบมือเหมือนคนอื่น ๆ ที่นำเสนอ

 

คุณเทียนทอง หน้าซีด ผมหน้าชา เดินทางกลับบุรีรัมย์ด้วยความเงียบเหงา

 

วันรุ่งขึ้น ผมไปทำงานที่ สภ.ละหานทราย ตามปกติ มีเสียงโทรศัพท์ในห้องทำงานดังขึ้น ผมยกหูพูดรับสายไปว่า

 

<สวัสดีครับ>

 

เสียงผู้หญิงพูดว่า <ผู้กำกับไอยศูรย์ โรงพักละหานทรายใช่มั้ยคะ ?>

 

ผมตอบไป <ใช่ครับ>

 

เสียงพูดกลับมา <ดิฉันเป็นเจ้าหน้าที่ของ สสส. ค่ะ อาจารย์หมอที่ฟังท่านพูดเมื่อวานนี้ ที่ขอนแก่น ขอเชิญท่านมาร่วมประชุมต่อที่ กทม. ค่ะ>

 

ผมตอบสวนกลับไป <ผิดคนหรือเปล่าครับ ? เพราะโครงการของผมไม่ได้รับการตอบรับนี่ครับ>

 

มีเสียงตอบมาว่า <ไม่ผิดหรอกค่ะ หลังจากเสร็จสิ้นการสัมมนา ระหว่างเดินทางกลับ อาจารย์หมอได้พูดคุยกันหลายเรื่อง และพูดเรื่องโครงการของผู้กำกับด้วยความสนใจว่า น่าทดลองทำ เพราะเป็นแนวทางใหม่ที่ให้ภาคประชาชนมามีส่วนร่วม>

 

ผมถามกลับไปแบบคนมีความหวัง <ถ้าสนใจโครงการผม ผมเขียนโครงการแผนงานขอรับการสนับสนุนเงินจาก สสส. เพื่อทำโครงการนี้ได้มั้ยครับ ?>

 

เสียงตอบกลับมาทันทีว่า <ได้เลยค่ะ งบประมาณ โครงการละไม่เกิน 3,000,000.00 บาท บางโครงการได้มาก บางโครงการได้น้อย แล้วแต่คณะกรรมการจะพิจารณาค่ะ ขอเบอร์โทรสารท่านด้วย จะส่งกำหนดการประชุมพร้อมรายละเอียดต่าง ๆ ไปให้ค่ะ>

 

คำตอบสุดท้ายของผม <ได้ครับ ขอบคุณครับ>

 

ภาพ : verbling.com

 

ผมโทรศัพท์ไปหาคุณเทียนทอง เล่ารายละเอียดให้ฟัง คุณเทียนทอง ดีใจมากและอาสาเขียนโครงการแผนงาน
เพื่อขอรับเงินสนับสนุนจาก สสส. เอง

 

ได้รับงบประมาณมาเกือบเต็มกรอบ คือ 2,997,000.00 บาท ถูกตัดเพียง 3,000 บาท ทำในพื้นที่จังหวัดบุรีรัมย์

 

งบในส่วนของตำรวจที่ได้รับการจัดสรรมาผมนำเสนอ ผบก.ภ.จว. บุรีรัมย์ ให้เป็นผู้บริหารจัดการ

 

<<การประชุมสัมมนาใน กทม.>>

 

จัดที่โรงแรมแห่งหนึ่งย่านถนนรัชฎาภิเษก ระหว่างวันที่ 26 – 28 ก.พ. 2547

 

มีนายแพทย์จาก สสส. เจ้าหน้าที่สาธารณสุข เจ้าหน้าที่ ปภ. และเจ้าหน้าที่ตำรวจหลายระดับชั้นจากทุกภาคทั่วประเทศ มาประชุมสัมมนามากมาย

 

ผมได้เสนอโครงการใหม่ <<โซนนิ่งสงกรานต์>> โดยมีหลักการคือ <ถนนแห้ง ไม่มีเหตุ> <ห้ามสาดน้ำบนถนนสายหลัก สายรองยกเว้นถนนที่อยู่ในสถานที่ ที่ได้กำหนดไว้ให้ > <มีการกำหนดพื้นที่เฉพาะให้เล่นสงกรานต์> เพราะถนนเปียกจะทำให้เกิดอุบัติเหตุได้

 

บริเณหน้าโรงพยาบาล ทางเข้าสนามบิน สถานีขนส่งทางบก สถานีรถไฟ และท่าเรือโดยสาร ซึ่งเป็นที่ผู้คนจะต้องเดินทางไปมาห้ามจัดให้มีโซนนิ่ง

 

มีเสียงคัดค้านดังขรมไปหมดแม้กระทั่งตำรวจด้วยกันเอง

 

<สงกรานต์มันเป็นประเพณีห้ามเล่นน้ำสาดน้ำไม่ได้>

 

<เด็ก ๆ เขาจะมีความสุขสนุกกับการสาดน้ำใส่คนใส่รถ ที่ผ่านไปมา จัดโซนนิ่งก็หมดสนุกซี> ฯลฯ

 

ผมนั่งฟังทุกความเห็น และพูดไปว่า

 

<สถิติอุบัติเหตุจากการจราจรทางบก แล้วมีคนบาดเจ็บ พิการ ตาย รถยนต์เสียหาย ในช่วงเทศกาลสงกรานต์
มากกว่าเทศกาลปีใหม่ เพราะสงกรานต์เป็นเทศกาล แห่งความสนุกสนาน ปีใหม่เป็นเทศกาลแห่งการส่งความสุข การอวยพร และท่องเที่ยวกับครอบครัว การเล่นสาดน้ำสงกรานต์ตามถนน ซึ่งทำให้ถนนเปียก ถนนจะลื่น ทำให้เกิดอุบัติเหตุได้ การไปยืนขวางหน้ารถ เดิน วิ่ง ห้อมล้อมรถ ซึ่งกำลังเคลื่อนที่ ล้วนแล้วแต่เป็นต้นเหตุให้เกิดอุบัติเหตุทั้งนั้น

 

ผมอยากจะถามว่า ความสนุกสนานจากการเล่นสงกรานต์ บนความเจ็บปวด ความพิการ และความตาย รถยนต์เสียหาย มันคุ้มค่าหรือ ?

 

แต่การเล่นสงกรานต์ในที่ ๆ จัดไว้ให้ก็สนุกได้เช่นกัน และสามารถลดอุบัติเหตุ ลดความบาดเจ็บ ลดความตาย ลดความเสียหายได้ด้วย>

 

ผลสรุป สสส. รับข้อเสนอ โครงการ <โซนนิ่งสงกรานต์> <<รัฐบาล>> ก็เอาด้วย

 

ภาพ : ไทยรัฐออนไลน์

 

ต่อมา ได้มี <หนังสือคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ลงวันที่ 15 มีนาคม 2547> ลงนามโดย นายจาตุรนต์ ฉายแสง รองนายกรัฐมนตรี ในข้อที่ 7 ว่า <<ให้ทุกจังหวัดจัดให้มีโซนนิ่งสงกรานต์>>

 

ผลลัพธ์ที่ปรากฏเมื่อหมดเทศกาล 7 วัน ปรากฎว่า ทั้งประเทศ สถิติอุบัติเหตุจากการจราจรทางบก สถิติผู้บาดเจ็บ ตาย จากอุบัติเหตุการจราจรทางบก <ลดลงเกือบครึ่ง> เมื่อเปรียบเทียบกับเทศกาลเดียวกันในปีที่ผ่านมา

 

โครงการนี้ได้มีการดำเนินการต่อเนื่องไปอีกหลายปี ลดความตาย ความพิการ ความบาดเจ็บ ลดอุบัติเหตุได้ทุกปี โดยเปรียบเทียบกับปีก่อนหน้านี้ที่ไม่มี <โซนนิ่งสงกรานต์>

 

แล้วก็เป็นไปตามหลักธรรม โครงการโซนนิ่งสงกรานต์เมื่อเกิดขึ้น ดำรงอยู่ แล้วก็ดับไป ตามกาลเวลา

 

จากข่าวว่า จะมีการผลักดันให้เทศกาลสงกรานต์ เป็น Soft Power ของไทย ผมรู้สึกภาคภูมิใจไปพร้อม ๆ กับคนไทยทั่วประเทศ

 

แต่ถ้า Soft Power นี้ มาพร้อมกับสถิติอุบัติเหตุรายวันอันเป็นข้อเท็จจริงที่มีคนตาย คนบาดเจ็บ มีรถยนต์ทรัพย์สินเสียหาย เป็นจำนวนมาก

 

มันจะส่งผลต่อต่อความรู้สึกของคนในชาติอย่างไร ?

 

มันจะส่งผลต่อความรู้สึกของคนต่างชาติ ที่เข้ามาท่องเที่ยว เทศกาลสงกรานต์ นี้อย่างไร ?

 

โดยเฉพาะ ถ้ามีอุบัติเหตุและเป็นเหตุให้คนต่างชาติต้องบาดเจ็บ ล้มตาย หรือพิการไป

 

ความสุข ความสนุกสนานของกลุ่มคนต่างชาติที่มาด้วยกันย่อมจางหายไปและก่อเกิดผลกระทบต่อ Soft Power ของเทศกาลสงกรานต์ โดยตรง

 

ภาพจาก : โพสต์ทูเดย์

 

จึงขอฝากแนวคิดแนวทางปฏิบัติ <โซนนิ่งสงกรานต์> มาประกอบการจัดทำ Soft Power ในการช่วยเหลือคนไม่ให้บาดเจ็บ ไม่ให้พิการ ไม่ให้ตายและไม่ให้ทรัพย์สิน ยานพาหนะเกิดความเสียหายจากอุบัติเหตุจราจรทางบก

 

หรือถ้ามันจะเกิดเหตุขึ้นก็สามารถทำให้มันเกิดน้อยที่สุดได้ตามแนวทางนี้หรือจะต่อยอดออกไปในแนวทางอื่น ก็สุดแท้แต่

 

หวังว่า วันใดวันหนึ่งถ้าฟ้ามีตา เทวดามีใจ สวรรค์เปิดทางให้

 

<<โซนนิ่งสงกรานต์>>

 

อาจจะกลับมาช่วยชีวิตคนอีกครั้งก็ได้

 

พล.ต.ต.ไอยศูรย์ สิงหนาท

 

 

ข่าวในหมวดเดียวกัน

เพิ่มเติม...

การเมือง

คอลัมนิสต์

คมในความ

มหาราษฎร์ Shorts

ภาพเก่าเล่าอดีต

ไฮไลท์

ข่าวประชาสัมพันธ์

ตำรวจ ทหาร อัยการ ศาล คุก

ท่องเที่ยว

ศาสนา

สุขภาพ

แวดวงนักรบ

สังคม

บทบาทบุคคล

< กลับหมวดคอลัมนิสต์

เรื่องล่าสุด