คอลัมนิสต์

เบี้ยเลี้ยง น้ำมัน อุปกรณ์เครื่องมือเครื่องใช้ ในการทำงานของตำรวจ


5 มกราคม 2024, 22:28 น.

 

<เบี้ยเลี้ยง น้ำมัน อุปกรณ์เครื่องมือเครื่องใช้ ในการทำงานของตำรวจ>

 

ช่วงเดือน พ.ย. 2547 ถึง พ.ย. 2549 ผมเป็น ผกก.สภ. เดชอุดม จว.อุบลราชธานี

 

ผมปรับเปลี่ยนการบริหารงานในหน่วยใหม่ แบบพลิกฟ้าพลิกดิน ให้ตำรวจทุกนาย ทุกระดับชั้นยศ ชั้นตำแหน่ง ทั้งฝ่ายปฏิบัติการ และ ฝ่ายอำนวยการ มีสิทธิหน้าที่ สิทธิประโยชน์ อันพึงมีพึงได้ ตามสิทธิ์ของตน ตามระบบราชการ เหมือนกันทั้งหมด

 

ผมพูดในที่ประชุมครั้งแรกของ สภ.เดชอุดม ประมาณนี้

 

<<เบี้ยเลี้ยง>>

 

<ด.ต.ธนศักดิ์ เจ้าหน้าที่การเงินบอกว่า ในอดีตที่ผ่านมาหลายยุคทุกสมัย มีการหักเงินเบี้ยเลี้ยงชั้นประทวน คนละ 100 บาท สัญญาบัตร คนละ 1,000 บาท รวมแล้วประมาณเกือบ 30,000 บาท เอาไว้ให้ ผกก.บริหารงาน ผมขอยกเลิกทั้งหมด>

 

ผมกวาดสายตามองหน้าทุกคนในที่ประชุม แล้วพูดต่อไปว่า <จะไม่มีการหักเบี้ยเลี้ยงในทุกกิจกรรม จ่ายเต็มตามสิทธิ์ ไปราชการ ก็สามารถเบิกได้ตามสิทธิ์>

 

ด.ต.ธนศักดิ์ ทำหน้าฉงน พูดขึ้นมาว่า <แล้วท่านจะเอาเงินที่ไหนมาบริหารงานล่ะครับ ?>

 

ผมตอบว่า <มี 10 บาท บริหาร 10 บาท มี 100 บาท บริหาร 100 บาท มีเท่าไหร่ ก็บริหารเท่านั้น ใช้<หัวใจ>ทำงาน>

 

ด.ต.ธนศักดิ์ ยิ้ม หัวเราะ

 

<<น้ำมันรถยนต์>>

 

<ด.ต.ธนศักดิ์ บอกว่า มีค้างหนี้เก่าอยู่กว่า 70,000 บาท ผกก. คนเก่าท่านเกษียณอายุราชการแล้ว บอกปั๊มแล้วกันว่า ผมจะทยอยจ่ายหนี้ให้ทุกเดือน สำหรับทุกแผนกงานจะมีน้ำมันใช้สำหรับติดต่องานกับ บก.ภ.จว. ผู้บังคับบัญชา ส่วนราชการอื่น ๆ และเมื่อไปราชการ เช่น ภ.3 หรือ ตร. ก็เบิกน้ำมันได้ตามสิทธิ์ นายตำรวจตั้งแต่ รอง ผกก. ลงไป ถึง ร.ต.ต. ผมจะจัดสรรน้ำมันรถให้ใช้ไปราชการเบิกได้อีกต่างหาก>

 

ตำรวจทุกนายในที่ประชุม มองมาที่ผม ใบหน้ามีรอยยิ้ม ฟังผมพูดการบริหารงานต่อ

 

<<อุปกรณ์ เครื่องมือ เครื่องใช้ในการทำงาน>>

 

<ผมขอพูดให้ชัดเจนว่า ถ้าเบิกหลวงไม่ได้หรือไม่มี แต่จำเป็นต้องใช้ ไม่ยังงั้นงานเสียหายก็ให้มาบอกผม จะได้ให้เงินไปซื้อมาจากร้านค้า ถ้าผมไปประชุมหรือไปราชการ ก็ให้ซื้อเชื่อไว้แล้วผมกลับไปจ่ายเอง>

 

<<การทำงาน>>

 

<ทำงานตามหน้าที่ถ้ามีปัญหา ไม่ว่าเรื่องอะไรผมปกป้อง ต่อสู้ให้เต็มที่ ถ้าผิดพลาดไปโดยความประมาท พลาดพลั้ง ไม่ตั้งใจ ผมให้อภัย แก้ไขให้ และแนะนำสั่งสอน แต่ถ้าตั้งใจทำผิดต่อหน้าที่ราชการ ทั้ง ๆ ที่รู้ว่าไม่ถูกต้อง ก็ว่าตามระเบียบราชการเช่นเดียวกัน>

 

หลังจากการประชุมขี้แจงนโยบายการบริหาร และการทำงานของผมตำรวจได้จับกลุ่มคุยกันมีเสียงเล็ดลอดออกมาว่า

 

<จะไปไหวไหมน้อ !> 

 

ตำรวจทั้งโรงพักมีความตื่นตัวในการทำงาน เพราะอะไร ๆ ที่เป็นสิทธิ์ ของพวกเขาดูคล่องตัวไปหมด

 

ผลงานล่ะ เป็นอย่างไร ?

 

<<งานฝ่ายอำนวยการ>>

 

ทุกหน้างาน เลื่อนไหลไปด้วยดีไม่มีสะดุด

 

<<งานปฏิบัติการ>>

 

มีผลงานได้ตามเป้าหมายที่ผู้บังคับบัญชามีคำสั่ง ทั้งการป้องกัน การปราบปราม และการจับกุม

 

ช่วงหนึ่ง ผู้บังคับบัญชามีคำสั่งถึงทุก สภ. ให้ระดมจับกุมบุคคลตามหมายจับ

 

หมายจับออกโดย<ศาล> <หมายจับที่มีปัญหา ?> คือหมายจับที่มีแต่ตำหนิรูปพรรณผู้กระทำความผิด ไม่รู้ตัวผู้กระทำความผิด
และหมายจับที่มีแต่ชื่อเล่น ไม่รู้ชื่อจริง นามสกุลจริงของผู้กระทำความผิด

 

ปัญหาหมายจับในส่วนนี้ ผมได้ไปปรึกษากับท่านผู้พิพากษาหัวหน้าศาลจังหวัดเดชอุดม

 

ผมบอกท่านว่า <ตำรวจอาจจะผิดพลาดในการจับกุมผู้ต้องหาตามหมายจับผิดตัว หรือไม่อย่างนั้น ก็จะกลายเป็นหมายจับค้างเก่าตลอดไปเพราะไม่รู้จะจับใคร ? การแก้ไขคือ ศาลสามารถยกเลิกหมายจับ หรือเพิกถอนยกเลิกหมายจับ ได้หรือไม่ ?>

 

ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลจังหวัดเดชอุดม เห็นด้วย แต่บอกว่า <หมายจับนั้น ออกโดยผู้พิพากษาแต่ละท่าน หลายท่านก็ย้ายไปแล้ว ขอปรึกษากับผู้พิพากษาท่านอื่น ๆ ดูก่อน>

 

ต่อมา ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลจังหวัดเดชอุดม ให้ผมนำหมายจับ ชุดที่มีปัญหา ไปพบท่าน ที่ศาลจังหวัดเดชอุดม ท่านได้กรุณาทำการเพิกถอนหรือยกเลิกหมายจับที่มีปัญหา ของ สภ.เดชอุดม รวมยี่สิบกว่าหมาย ผมรายงานผู้บังคับบัญชาทราบถึงแนวทางปฏิบัติ

 

ผมไปสัมมนาเรื่องหมายจับที่ ตร. ผมก็พูดเรื่องนี้ มีทั้งเห็นด้วย มีทั้งชื่นชม มีทั้งบอกว่า ไม่น่าเป็นไปได้ ที่ศาลจะเพิกถอนหรือยกเลิกหมายจับ ถ้าไม่ใช่ตัวผู้พิพากษาผู้ออกหมายเอง

 

นานาจิตตัง นานาเหตุผล

 

<แต่ทำไมต้องไปคิดแทนผู้พากษาด้วย ?>

 

ในส่วนของโรงพัก

 

<ผมมอบหมายให้ตำรวจฝ่ายปฏิบัติการ รับผิดชอบหมายจับคนละ 1 หมาย>

 

ด.ต.สุดี ตำรวจหน้าห้องมาบอกผมว่า <มีลูกน้องมาขอพบท่านหลายคนครับ>

 

ผมบอกให้เข้ามาได้

 

ตำรวจที่มาขอพบ ล้วนแล้วแต่เป็นตำรวจที่ทำหน้าที่ฝ่ายอำนวยการ มีนายหนึ่งพูดขึ้นว่า <ท่านผู้กำกับครับ พวกผมมาขอหมายจับครับ>

 

ผมมองและฟังตัวแทนตำรวจฝ่ายอำนวยการพูด ด้วยความสุขใจ แล้วผมก็พูดว่า <ช่วยผมทำงานอำนวยการอย่างเต็มที่แล้ว จะไปลุยภาคสนามอีกหรือ ?>

 

ตำรวจอีกนายพูดว่า <พวกผมส่วนมากเป็นคนพื้นที่ อีกหลาย ๆ คนแม้ไม่ใช่คนพื้นที่ ก็อยู่ที่นี่มานาน รู้จักคนเยอะครับ>

 

อีกนายพูดว่า <หมายจับคดีฆ่า ผู้ต้องหาคนนี้ผมรู้จักบ้าน รู้จักพ่อแม่เขาดี ได้ตัวแน่ครับ>

 

ตำรวจอีกนายหนึ่งก็พูด <พวกผมไม่เคยอาสาเจ้านายคนไหนทำงานนะครับ แต่ท่านสนใจพวกผม เข้าใจพวกผม ดูแลพวกผมดี พวกผมจึงอยากช่วยงานท่านครับ>

 

ผมฟังแล้ว ปลื้มใจมาก จนถึงมากที่สุด ที่มีลูกน้องเช่นนี้ จึงพูดว่า <ขอบคุณครับ ขอบคุณทุกคนที่มีน้ำใจ งั้นเอาไปคนละหมายนะ เลือกเอาเลยครับ>

 

จากกรณีที่ฝ่ายอำนวยการมาขอหมายจับนี้ ทำให้ผมได้พิจารณาใช้เป็นแนวทางในการมอบหมายจับ ให้ตำรวจทุกนายในโรงพักรับผิดชอบหมายจับอย่างน้อยคนละ 1 หมาย

 

ขอบอกว่า ทุกคนแสดงท่าทีเต็มใจและให้ความร่วมมือมาก มีตำรวจทั้งฝ่ายปฏิบัติการและฝ่ายอำนวยการอีกหลายนายที่ทำการจับกุมผู้ต้องหาตามหมายจับได้แล้วมาขอหมายจับเพิ่มอีก

 

น้ำใจลูกน้องในการทำงาน ช่างยิ่งใหญ่มหาศาลจริง ๆ

 

ในการประชุมบริหารของ ภ.จว.อุบลราชธานี วาระเรื่องการเร่งรัดจับกุมบุคคลตามหมายจับ สภ.เดชอุดม มีสถิติ ผลการจับกุมสูง และติดอันดับ 1 ใน 3 มาตลอด

 

ผกก.สภ.ใหญ่ ๆ บางแห่ง ส่งชุดสืบสวน มาสอบถามข้อมูลแนวทางปฏิบัติ พอรู้ว่ามีตำรวจฝ่ายอำนวยการมาขอหมายจับไปติดตามจับกุมบุคคลตามหมายจับเองด้วย ก็ทำสีหน้างง ๆ ว่า เป็นไปได้อย่างไร ?

 

อย่างงเลย ! ตำรวจหน้าที่อะไร ? ก็เป็นตำรวจทั้งนั้น เคยผ่านการฝึกอบรมมาเหมือนกันหมด ทั้งการตรวจค้น การจับกุมการควบคุม การใช้เครื่องพันธนาการ เป็นต้น ที่สำคัญ มีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายด้วย

 

<เพียงแต่งานที่ทำด้วยใจ งานที่ผู้ทำเอาใจใส่ และใส่ใจเข้าไปด้วย ย่อมมีความงดงามของผลสัมฤทธิ์ และความสำเร็จตามมาเสมอ>

 

ป.ล.

<อดีต>ที่ผ่านมา งบประมาณ เบี้ยเลี้ยงน้ำมัน อุปกรณ์เครื่องมือเครื่องใช้ก็ได้เหมือน ๆ กัน

 

โรงพักใหญ่ กำลังพลเยอะพื้นที่แยะ ก็ได้มากหน่อย โรงพักเล็ก กำลังพลน้อย พื้นที่นิด ก็ได้ลดหลั่นกันลงมา มันเป็นเช่นนี้มานานเนกาเลแล้ว ทุกอย่าง <อยู่ที่กึ๋นของการบริหารจัดการ>

 

แต่โลก<ยุคปัจจุบัน>มันเปลี่ยนแปลงไปเร็วมาก

 

ฟัง ส.ส.หญิง พูดเรื่องเกี่ยวกับตำรวจในสภา มันก็น่าฟังอยู่นะ มันแฝงความจริงอยู่นะ

 

ถ้าจะเปรียบเทียบไป คนร้ายใช้นิ้วเดียวกดปุ่มก่อวินาศกรรมได้ แต่ตำรวจ ก็ยังใช้หมามาดมกลิ่นอยู่เลย

 

ตำรวจใหญ่ ที่มีคุณวุฒิ ป.โท ป.เอก ก็มีอยู่ แต่ตำรวจผู้น้อย ที่มีคุณวุฒิ ป.โท ป.เอก ก็มีมากมายหลายร้อยนาย ทำไมไม่ส่งเสริม ไม่เอามาใช้งาน

 

ถ้าเฉยเมยต่อไป จะมีตำรวจคนไหนอยากพัฒนาตัวเองบ้างล่ะ ?

 

ตร. ควรทำอย่างไร ? รัฐบาล ควรทำอย่างไร ?

 

นายกรัฐมนตรี ผู้บังคับบัญชาโดยตรง ควรบริหารงานตำรวจอย่างไร ?

 

ขอให้รีบคิด รีบทำ นะครับ

 

พล.ต.ต.ไอยศูรย์ สิงหนาท

ข่าวในหมวดเดียวกัน

เพิ่มเติม...

การเมือง

คอลัมนิสต์

คมในความ

มหาราษฎร์ Shorts

ภาพเก่าเล่าอดีต

ไฮไลท์

ข่าวประชาสัมพันธ์

ตำรวจ ทหาร อัยการ ศาล คุก

ท่องเที่ยว

ศาสนา

สุขภาพ

แวดวงนักรบ

สังคม

บทบาทบุคคล

< กลับหมวดคอลัมนิสต์

เรื่องล่าสุด