ข่าวประชาสัมพันธ์

คุ้มครองสิทธิฯ แจง “ทนายพัช” เป็นทนายความส่วนตัวของแอม ไซยาไนต์ ไม่ใช่ทนายความที่รัฐจัดหาให้


4 มกราคม 2024, 18:37 น.

 

จากกรณีที่ปรากฎข่าว การให้สัมภาษณ์สื่อมวลชน ของทนายความท่านหนึ่ง เกี่ยวกับแนวทางการต่อสู้คดีของนางสาวสรารัตน์ รังสิวุฒาภรณ์ หรือ แอม โดยทนายความผู้ให้สัมภาษณ์นั้น ได้แต่งกาย สวมเสื้อกั๊ก ปักเครื่องหมายของกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ และเครื่องหมายศูนย์ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทภาคประชาชน อาจทำให้ประชาชนหลายท่านเข้าใจว่า เป็นทนายความที่รัฐจัดหาให้ เพื่อต่อสู้คดีตามสิทธิของผู้ต้องหาหรือจำเลย นั้น

 

 

นายธีรยุทธ แก้วสิงห์ ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านพิทักษ์สิทธิและเสรีภาพ ในฐานะโฆษกกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ เปิดเผยว่า นางสาวธันย์นิชา เอกสุวรรณวัฒน์ (ทนายพัช) เป็นทนายความส่วนตัวของคุณสรารัตน์ รังสิวุฒาภรณ์ (แอม) ซึ่งได้ให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชน เกี่ยวกับแนวทางการต่อสู้คดีของลูกความ (คุณแอม) ซึ่งเป็นสิทธิและเสรีภาพโดยชอบ ที่ทนายความสามารถแสดงความคิดเห็นต่าง ๆ ในการต่อสู้คดีได้ ส่วนกรณีที่มีหลายคนสงสัยว่า ทนายพัช เป็นทนายความที่รัฐจัดหาให้ในการต่อสู้คดีหรือไม่ เนื่องจากการแต่งกายของทนายพัช สวมเสื้อกั๊กปัก โลโก้กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพและศูนย์ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทภาคประชาชน นั้น ขอเรียนว่า กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม ร่วมกับ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เปิดหลักสูตรการพัฒนาและฝึกอบรมเพื่อขึ้นทะเบียนเป็นผู้ไกล่เกลี่ย ตามพระราชบัญญัติการไกล่เกลี่ยข้อพิพาท พ.ศ. 2562 ซึ่งเมื่อผ่านการฝึกอบรมแล้ว ได้ขออนุญาตจัดทำเสื้อกั๊กยูนิฟอร์มและมอบให้ผู้ไกล่เกลี่ยที่ขึ้นทะเบียนใส่ปฏิบัติงาน โดยทนายพัช ได้ผ่านการอบรมและขึ้นทะเบียนเป็นผู้ไกล่เกลี่ยตามกฎหมาย ซึ่งทนายพัช มีสิทธิในการสวมใส่เสื้อกั๊กยูนิฟอร์มดังกล่าว ส่วนกรณีของ ทนายพัช ที่ได้ปฏิบัติหน้าที่ในคดีของคุณแอมนั้น เป็นกรณีที่ลูกความจัดหาเอง ไม่ได้เป็นทนายความที่รัฐจัดหาให้

 

นายธีรยุทธ ฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า การเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมทางอาญา รวมทั้ง รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย กำหนดให้รัฐจัดหาทนายความให้แก่ผู้ต้องหาในคดีอาญา ซึ่งอาจมีหลายรูปแบบ เช่น “ทนายอาสา” เป็นทนายความที่เป็นอาสาสมัคร ทำหน้าที่ให้คำปรึกษาทางกฎหมายกับประชาชนฟรี จะขึ้นทะเบียนกับหน่วยงานต้นสังกัด เช่น สภาทนายความ ศาล หรือสำนักงานอัยการ ส่วน “ทนายขอแรง” เป็นทนายความที่ศาลตั้งให้กับจำเลยในคดีอาญา หากจำเลยนั้นไม่มีทนายความและต้องการทนายความช่วยแก้ต่างในทางคดี โดยจำเลยไม่ต้องเสียค่าจ้างทนายความ นอกจากนี้ กระทรวงยุติธรรม โดย กองทุนยุติธรรม ได้จัดบริการให้ประชาชนเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมได้อย่างเท่าเทียมกัน โดยจัดหาทนายความฟรี ไม่มีค่าใช้จ่าย ให้ความช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อน กรณีไม่มีเงินจ้างทนาย ไม่มีเงินขึ้นศาล ซึ่งสามารถติดต่อขอรับบริการได้ที่กระทรวงยุติธรรม ถนนแจ้งวัฒนะ หรือสำนักงานยุติธรรมจังหวัดทุกแห่ง ทั่วประเทศ

 

…………………………………..

ขอบคุณภาพจาก : PPTV36

ข่าวในหมวดเดียวกัน

เพิ่มเติม...

การเมือง

คอลัมนิสต์

คมในความ

มหาราษฎร์ Shorts

ภาพเก่าเล่าอดีต

ไฮไลท์

ข่าวประชาสัมพันธ์

ตำรวจ ทหาร อัยการ ศาล คุก

ท่องเที่ยว

ศาสนา

สุขภาพ

แวดวงนักรบ

สังคม

บทบาทบุคคล

< กลับหมวดข่าวประชาสัมพันธ์

เรื่องล่าสุด