“อนุทิน” แจงงบประมาณมหาดไทยกว่า 30% ถูกจัดสรรเป็นงบลงทุน มุ่งพัฒนาให้ประชาชนได้รับบริการ “ทันโลก ทันสมัย ทันท่วงที” เน้นความสำคัญสูงสุดสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางสังคม
น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล เลขานุการ รมว.มหาดไทยและโฆษกกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า วันนี้ (4 ม.ค. 67) เวลา 17.30 น. ที่อาคารรัฐสภา นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.มหาดไทย ได้ชี้แจงเกี่ยวกับงบประมาณที่กระทรวงมหาดไทยได้รับการจัดสรร ต่อที่ประชุมพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567
นายอนุทิน กล่าวว่า แม้จะได้มีการตั้งข้อสังเกตว่ามหาดไทยเป็นกระทรวงที่ได้รับการจัดสรรงบประมาณมากที่สุด และมีสัดส่วนงบลงทุนที่สูงเมื่อเทียบกับกระทรวงอื่นๆ แต่กว่า 30% ของงบประมาณที่ได้รับการจัดสรรทั้งหมด 459,828 ล้านบาทนั้น เป็นการจัดสรรเป็นงบลงทุน ซึ่งทำให้สบายใจในเบื้องต้นว่าเรามาถูกทาง ในเรื่องการจัดสัดส่วนงบประมาณ และถือเป็นสัญญาณที่ดีว่ากระทรวงมหาดไทยได้เน้นไปที่เรื่องของการพัฒนา ให้ประชาชนได้รับบริการและการดูแลที่มีความ “ทันโลก ทันสมัย ทันท่วงที” ตามแนวทางที่วางไว้ และมีส่วนสำคัญในการชดเชยกับความถดถอยที่เกิดขึ้นจากสถานการณ์โควิดทั่วโลก
โดยงบประมาณ 459,828 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 10.53% นั้นถือว่ามีสัดส่วนการเพิ่มที่สอดคล้องกับงบประมาณรัฐบาลในภาพรวม โดยทั้งหมดถูกแบ่งไปยังส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และหากไล่เรียงตามยุทธศาสตร์แล้วยังพบว่ากระทรวงมหาดไทยได้มีการใช้จ่ายเงินเป็นสัดส่วนสูงในยุทธศาสตร์ ด้านการสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางสังคม โดยเป็นวงเงินถึง 344,600 ล้านบาทเศษ หรือคิดเป็นเกือบ 75% ของงบประมาณทั้งหมด ซึ่งมาจากการสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางสังคมเป็นสิ่งที่ต้องให้ความสำคัญอันดับต้นๆ เพื่อตอบสนองการลดความเหลื่อมล้ำ
นายอนุทิน กล่าวว่า กระทรวงมหาดไทยยังได้จัดสรรงบประมาณโดยให้ความสำคัญกับยุทธศาสตร์ด้านอื่นๆ ได้แก่ ด้านการปรับสมดุลและพัฒนาระบบบริหารจัดการภาครัฐ ด้านความมั่นคง ด้านความสามารถในการแข่งขัน ด้านการสร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และ ด้านการพัฒนาและส่งเสริมศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ ซึ่งสอดรับกับยุทธศาสตร์ชาติและนโยบายของรัฐบาล ตลอดจนเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ ไม่ว่าจะเป็นการลดความเหลื่อมล้ำ ขจัดความยากจน การรักษาสิ่งแวดล้อม เพื่อลดปัญหาภาวะโลกร้อน
ทั้งนี้ โครงการลงทุนสำคัญที่กระทรวงมหาดไทยจะดำเนินการในปี 2567 ได้แก่ โครงการก่อสร้างศูนย์ราชการกระทรวงมหาดไทย ระยะที่ 2 โครงการที่เกี่ยวกับการเพิ่มประสิทธิภาพในการบริการประชาชน สนองนโยบาย E-government เช่น โครงการอำนวยการบริหารการเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการ ประชาชน ในการออกหนังสือผ่านแดนด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ หรือ e-Border Pass โครงการพัฒนาระบบรองรับการพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิตัล หรือ Digital ID โครงการสนับสนุนการบูรณาการและการขับเคลื่อนนโยบายในระดับอำเภอ การจัดการ ฐานข้อมูลเพื่อการพัฒนาชุมชน โครงการของกรมที่ดินที่เกี่ยวกับการพัฒนาสำนักงานที่ดินอิเล็กทรอนิคส์ และการจัดการข้อมูลที่ดิน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการของสำนักงานที่ดิน เพื่อรองรับสำนักงานที่ดินอิเล็กทรอนิกส์ และโครงการพัฒนาบริการประเภท One Stop Service ต่างๆ เป็นต้น
ให้ความสำคัญกับโครงการที่จะสร้างความมั่นคงด้านอาชีพและรายได้ให้แก่ประชาชน ไม่ว่าจะเป็นการเสริมสร้างขีดความสามารถในการบริหาร จัดการชุมชน การส่งเสริมการท่องเที่ยวชุมชน ไปจนถึงการสร้างความมั่นคงปลอดภัยในสังคม เช่น โครงการที่เกี่ยวกับการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด การส่งเสริม สนับสนุนการจัดบริการสาธารณะด้านสาธารณสุขของท้องถิ่น ซึ่งโครงการที่กล่าวมานี้เป็นการลงทุนที่นอกเหนือจากงานบริการประชาชน ที่จะต้องพัฒนาไปตามรอบและตามแผนระยะยาวอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการประปาที่กำลังเน้นเรื่องน้ำประปาดื่มได้ ไฟฟ้า เช่นโซลาร์เซลล์ โซลาร์รูฟ งานของกรมโยธาธิการและผังเมือง และงานป้องกันบรรเทาสาธารณภัย
นอกจากการใช้งบประมาณอย่างมีประสิทธิภาพแล้ว กระทรวงมหาดไทย ยังคำนึงถึงการดำเนินการที่ไม่ได้ใช้เงินเพิ่ม แต่สามารถเพิ่มคุณภาพชีวิตหรือรายได้ของพี่น้องประชาชน ไม่ว่าจะเป็นงานป้องกันและบรรเทาสาธารณะภัย การปราบปรามผู้มีอิทธิพลไม่ให้เกิดการทุจริตในท้องที่ การปรับเวลาเปิดสถานบริการที่จะเอื้อให้คนทำมาหากินได้มากขึ้นอย่าง ปลอดภัย การควบคุมอาวุธปืนที่ การสนับสนุนนโยบายฟรีวีซ่าและการเพิ่มประสิทธิภาพในการดูแลนักท่องเที่ยว
นายอนุทิน กล่าวว่า นอกจากการใช้จ่ายงบประมาณในภารกิจหลักของกระทรวงแล้ว มหาดไทยยังได้ให้ความสำคัญกับการการบูรณาการทำงานกับหน่วยงานอื่นๆ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการดูแลประชาชน เช่น การแก้ไขหนี้นอกระบบซึ่งเป็นนโยบายสำคัญของรัฐบาลภายใต้การนำของนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และ รมว.คลัง ที่บูรณาการร่วมกับกระทรวงการคลังและสำนักงานตำรวจแห่งชาติ รวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
รวมถึงการร่วมกันทำงานกับกระทรวงที่อยู่ภายใต้กำกับของผม เองในฐานะรองนายกรัฐมนตรี ได้แก่ กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงแรงงาน กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม รวมถึงสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน) ก็มีการเซ็น MoU เพื่อเป้าหมายร่วมกันในการการผลิตและพัฒนากำลังคนในภาคการศึกษาและภาคแรงงาน โดยเน้นการ Up-skill เพื่อให้เกิดโอกาสในการเพิ่มรายได้
ที่กล่าวมาเป็นการ ตอกย้ำกับทุกท่านว่านอกจากการจัดสรรงบประมาณเชิงยุทธศาสตร์อย่างมีประสิทธิภาพแล้ว การปรับเปลี่ยนวิธีคิดในการทำงาน ก็เป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยให้เกิดงานอย่างมีประสิทธิภาพ หรือใช้ ทรัพยากรให้เกิดประสิทธิผลสูงสุด และนี่คือแนวทางที่ผมใช้กับกระทรวงมหาดไทย และ หน่วยงานในกำกับทั้งหมด และขอเรียนให้ความมั่นใจว่ากระทรวงมหาดไทยจะใช้งบประมาณเพื่อประโยชน์สูงสุดต่อพี่น้องประชาชน