“ศุภมาส” พร้อมดันมหาวิทยาลัยจัดทำแผนที่ทักษะ (Skill Mapping) และทรานสคริปต์โชว์ผลทักษะ (Skill Transcript) เพื่อพัฒนานักศึกษาให้มีทักษะตรงความต้องการของผู้ใช้อย่างครบวงจร ลั่น เป็นมิติใหม่ของอุดมศึกษาไทย
วันที่ 25 ธ.ค.2566 : น.ส.ศุภมาส อิศรภักดี รมว.การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เปิดเผยว่า (อว.) ร่วมกับ มหาวิทยาลัย ในการทำ Skill Mapping หรือแผนที่ทักษะเพื่อระบุทักษะที่สำคัญในการทำงานในสาขาอาชีพสมัยใหม่ และเป็นไปตามความต้องการของประเทศ โดยการทำ Skill Mapping จะใช้ข้อมูลจากการสำรวจความต้องการทักษะของภาคธุรกิจ และจากฐานข้อมูลการทำงานระดับโลก เพื่อทำการวิเคราะห์หาทักษะที่นักศึกษาควรมี โดยขณะนี้ ได้ประกาศทักษะที่พึงประสงค์ไปแล้ว 5 สาขา ได้แก่ เกษตรสมัยใหม่ การตลาดดิจิทัล การท่องเที่ยวสมัยใหม่ ยานยนต์ไฟฟ้า และนักวิทยาศาสตร์ข้อมูล เพื่อให้สถาบันอุดมศึกษา หรือหน่วยงานที่จะพัฒนากำลังคน สามารถนำไปปรับใช้ได้ นอกจากนี้ ยังริเริ่มทำ Skill Transcrip หรือใบรับรองผลการเรียนที่ระบุทักษะของนักศึกษา ว่ามีทักษะที่สอดคล้องกับการทำงานในระดับใดบ้าง เพื่อนักศึกษาและบัณฑิตสามารถนำไปใช้ในการทำงาน หรือ พัฒนาทักษะเพิ่มเติม
“นี่เป็นมิติใหม่ของ (อว.) และอุดมศึกษาไทย ที่จะพัฒนากำลังคนให้สอดรับกับความต้องการของประเทศในอนาคต” น.ส.ศุภมาสฯ กล่าว
ด้าน นายอิสระ ว่องกุศลกิจ ประธานอนุกรรมการสร้างและพัฒนาบัณฑิต คณะกรรมการการอุดมศึกษา (กกอ.) กล่าวเพิ่มเติมว่า ในการทำ Skill Mapping และ Skill Transcript ทาง (กกอ.) ให้ความสำคัญอย่างมาก และได้กำหนดแนวทางในการทำ Skill Mapping ในสาขาที่สำคัญอีกประมาณ 10 สาขา และจะต้องมีการปรับปรุงอย่างต่อเนื่องให้ทันสมัยตลอดเวลา ส่วน Skill Transcript ในขณะนี้ ได้มีการนำร่องแล้วในบางสาขา ใน 6 มหาวิทยาลัย ได้แก่ ม.ขอนแก่น, ม.พะเยา, ม.สงขลานครินทร์, ม.บูรพา, สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) ซึ่ง Skill Transcript นี้วางแผนว่าจะออกให้นักศึกษาได้ทุกปี ไม่จำเป็นต้องออกเมื่อจบการศึกษา เหมือน Transcript จบการศึกษาปกติ ซึ่งการออกเป็นรายปี จะช่วยให้นักศึกษาสามารถนำทักษะที่ได้เรียนรู้ระหว่างปีไปทำงานระหว่างเรียนได้ และให้นักศึกษารู้ตัวแต่เนิ่นๆ ว่าตัวเองต้องพัฒนาทักษะอะไรเพิ่มเติม