<ง่วง หยุดพัก>
สาเหตุรถติด ของการจราจรทางบก ผมรวบรวมได้ดังนี้ ซ่อมถนน ตั้งด่าน อุบัติเหตุ เทศกาล
<การซ่อมถนน> ควรจะทำก่อนถึงเทศกาล
<การตั้งด่าน> ช่วงเทศกาล ไม่น่าจะมี ควรจะเป็นจุดอำนวยความสะดวกแทน
<อุบัติเหตุ> แม้ตนเองไม่ประมาท ก็อาจเกิดเหตุได้ เพราะถูกคนอื่นประมาท ขับมาเฉี่ยวชน
<เทศกาล> เช่น ปีใหม่ หรือสงกรานต์
ในช่วง <เทศกาล> การขับรถยนต์ระยะทางไกล และเป็นเวลานานมันแสนสาหัสสากรรจ์เพราะมีรถยนต์วิ่งอยู่บนถนนจำนวนมาก มากกว่าวันปกติธรรมดา หลายเท่าตัว
แม้จะมีการขอความร่วมมือจากผู้ประกอบการขนส่งรถขนาดใหญ่ เช่นรถสิบล้อขึ้นไป ให้หยุดวิ่งในช่วงเทศกาล
แม้จะมีการเปิดช่องทางพิเศษอีกฝั่งถนน ให้รถวิ่งได้
แม้จะมีเจ้าหน้าที่ตำรวจทางหลวง เจ้าหน้าที่ตำรวจจราจรท้องที่ มาช่วยอำนวยการอย่างเต็มที่ ตลอด 24 ชั่วโมง
แม้จะมีการวิ่งบนไหล่ทางด้วยก็ตาม ก็ไม่อาจทำให้การเดินรถคล่องตัวได้ตามปกติ
ยิ่งถ้ามีอุบัติเหตุ ยิ่งถ้ามีรถเสียจอดอยู่ตามไหล่ทาง รถยิ่งติดหนักขึ้น แบบคนขับรถทุกคน ต้องจำใจยอมรับสภาพ
คุณอิสระ พรหมเดชบุญ ผอ.ทสจ.จว.ชย. เคยเล่าให้ฟังว่า
<เมื่อวันที่ 31 ธ.ค. ของปี พ.ศ.หนึ่ง เคยขับรถยนต์ส่วนตัวจาก จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เวลาประมาณ 16.30 น.
ไปถึง จว.นครราชสีมา เวลาประมาณ 07.00 น. ระยะทางประมาณ 250 ก.ม. ใช้เวลาประมาณ 14 ชั่วโมงเศษ มีป้ายบอกตามข้างทางว่า <ง่วง จอดพัก>
แต่ไม่รู้จะพักตรงไหน ? และไม่รู้ว่าจะปลอดภัยหรือไม่ ?
ต้องจอดพักตามปั๊มน้ำมัน เป็นระยะ ๆ ด้วยความเหน็ดเหนื่อยและอ่อนเพลีย
<ง่วง จอดพัก>
เป็นป้ายคำเตือนที่ดี อย่าฝืนสภาพร่างกาย ขับไม่ไหว ก็จอดนอนพักสักงีบ 5 นาที 10 นาที 15 นาที ก็สดชื่นขึ้น
ขืนฝืน ! อาจ <หลับใน> ได้
แต่ขอถามผู้เกี่ยวข้องว่าจะพักที่ใด ? ตรงไหนปลอดภัย ?
<ส่วนราชการหรือท้องถิ่น> ที่เกี่ยวข้อง ต้องมีจิตอาสาด้วยเมตตา ควรคิดหาสถานที่ <พักคน พักรถ> ระหว่างเส้นทาง ในช่วงเทศกาล เช่น สนามกีฬา ลานกว้างของโรงเรียนริมถนนลานวัดขนาดใหญ่ที่อยู่ข้างถนน
เพื่อใช้เป็นสถานที่จอดรถ และขอใช้ห้องน้ำ
<ทำช่องจอดรถ> ให้เป็นระเบียบ เช่น โรยปูนขาว
ให้ครู นักเรียน ชาวบ้าน มาตั้งซุ้ม <ขายเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์อาหารจานเดียว ขนม> จะได้มีรายได้
<ทำป้าย> บอกเป็นระยะ ก่อนถึงที่พักรถ เช่น อีก 300 เมตร ถึงที่พักรถ สนามโรงเรียน… อีก 200 เมตร ถึงที่พักรถ ลานวัด…
มีเจ้าหน้าที่ฝ่ายต่าง ๆ เช่น ตำรวจ ฝ่ายปกครอง สาธารณสุข ท้องถิ่น อปพร. อส.
เข้าไปอำนวยความสะดวกแวะเวียนไปดูแล
ผู้ใช้รถใช้ถนนจะรู้สึกถึงความปลอดภัย ความสบายใจ เมื่อง่วงก็อยากแวะจอดพัก
ปั๊มน้ำมัน ไม่พูดถึงก็ไม่ได้ เพราะเป็นแหล่งรวมการอำนวยความสะดวก ทั้งเติมน้ำมัน เติมลม เติมน้ำ เข้าห้องน้ำ กินอาหาร จอดพัก จอดนอน แต่สังเกตุดูเถอะ มีรถจอดเต็มจนแน่นขนัดทุกปั๊ม
ดังนั้น รถยนต์ที่ต้องการจอดพักคน พักรถ กินอาหารบ้าง ขนมบ้าง เครื่องดื่มบ้าง เข้าห้องน้ำบ้าง
<แต่ไม่เติมน้ำมัน ไม่เติมลม ไม่เติมน้ำ>
ก็ควรจะไปจอดพักตามสถานที่ที่ได้จัดเอาไว้ คือ สนามโรงเรียน ริมถนน ลานวัด ริมถนน หรือที่ว่างริมทาง
เป็นทางเลือกให้กับผู้ใช้รถใช้ถนนเป็นช่วง ๆ ไป ตลอดเส้นทาง ทั้งประเทศ
นอกจากนี้ ทุก ๆ ระยะทางประมาณ 100 ก.ม. หรือที่คิดว่าเหมาะสม สนามโรงเรียน หรือลานวัด หรือที่ว่างริมทาง
ยังสามารถที่จะกำหนดให้
<เป็นจุดจอดพักรถโดยสารขนส่งประจำทาง และรถตู้โดยสารได้ด้วย>
เพื่อเชิญ <คนขับรถ> และคนประจำรถ <เด็กรถ> ลงจากรถโดยสาร จากนั้น ทำการตรวจวัดแอลกอฮอล์คนขับรถ
ตรวจสอบสภาพร่างกายเบื้องต้น
เจ้าหน้าที่อีกส่วนหนึ่ง ขึ้นไปบนรถโดยสาร สอบถามผู้โดยสารว่า
<คนขับรถ ขับดีมั้ย ? ขับเร็วมั้ย ? ขับแซงซ้ายแซงขวามั้ย ? พูดสบถไปตลอดเหมือนคนเมาหรือเปล่า ?>
ถ้ามีพฤติการณ์ดังนั้น อาจต้องมีการเปลี่ยนตัวคนขับรถทั้งนี้ก็เพื่อความปลอดภัย ของผู้โดยสารและผู้ใช้รถใช้ถนนร่วมทางนั่นเอง
เมื่อเสร็จสิ้นเทศกาลแล้วก็เข้าไปปรับปรุงสนามโรงเรียน ลานวัด ที่ว่างริมทางให้อยู่ในสภาพเดิม หรือดีกว่าเดิมทำความสะอาดห้องส้วม ห้องน้ำ เก็บขยะ และจ่ายเงินบำรุงสถานที่บ้างตามสมควร
ถ้าทำอย่างนี้ ทำนองนี้ ทุกฝ่าย ทุกอย่างก็น่าจะลงเอยด้วยดี
ส่วนราชการ ผู้หลักผู้ใหญ่ผู้มีอำนาจ หรือใครที่มีหน้าที่เกี่ยวข้อง มีจิตอาสาเมตตา ลองบูรณาการดูนะครับ
ที่เสนอมานี้ เป็นเพียงแนวคิด แนวทางปฏิบัติเบื้องต้นเท่านั้น
ผมเชื่อเหลือเกินว่า ถ้าลงมือทำแล้ว จะเกิดแนวคิด แนวทางปฏิบัติตามมาอีกมากมาย
การช่วยให้คนเดินทางอย่างปลอดภัย <ได้กุศลนะครับ>
พล.ต.ต.ไอยศูรย์ สิงหนาท