ศปพ.7 DSI สนธิกำลังกับสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) กรมศุลกากรและสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ ตรวจค้นโกดังพบสินค้ายี่ห้อดังปลอม และเครื่องใช้ไฟฟ้าลักลอบนำเข้าไม่มี มอก. จำนวนกว่าแสนชิ้น
ตามที่อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษได้สั่งการให้กองปฏิบัติการคดีพิเศษภาค ทำการสอบสวนเป็นคดีพิเศษกรณีสืบสวนพบว่า มีกลุ่มบุคคลชาวไทยและชาวจีนประกอบธุรกิจลักลอบนำเข้าสินค้าและใช้โกดังในพื้นที่จังหวัดสมุทรสาครเป็นแหล่งที่พักและกระจายสินค้าที่ไม่ผ่านการรับรองมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก.) โดยน่าเชื่อว่าผู้นำเข้าได้นำของที่ผ่านหรือกําลังผ่านพิธีการศุลกากรเข้ามาในราชอาณาจักรโดยหลีกเลี่ยงข้อจำกัดหรือข้อห้ามอันเกี่ยวกับของนั้น สินค้าบางส่วนอาจเป็นการลักลอบนำเข้ามาในราชอาณาจักรโดยไม่ผ่านพิธีการทางศุลกากรและอาจมีสินค้าที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาด้วย ซึ่งสินค้าดังกล่าวจะจำหน่ายผ่านช่องทางออนไลน์และแอพพลิเคชั่น ซื้อ-ขาย สินค้าออนไลน์ เป็นคดีพิเศษที่ 62/2566
โดยเมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2566 พันตำรวจตรี จตุพล บงกชมาศ ผู้อำนวยการกองปฏิบัติการคดีพิเศษภาค กรมสอบสวนคดีพิเศษ นายเทวา จุฬารี ผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการคดีพิเศษเขตพื้นที่ 7 พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ สนธิกำลังกับ นายเชวงศักดิ์ คำตา ผู้อำนวยการกองตรวจการมาตรฐาน 2 สำนักงานมาตรฐานอุตสาหกรรม เจ้าหน้าที่สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ เจ้าหน้าที่สำนักงานมาตรฐานอุตสาหกรรม เจ้าหน้าที่ศุลกากร นำหมายค้นของศาลจังหวัดสมุทรสาคร เข้าตรวจค้นโรงเก็บสินค้า (โกดัง) จำนวน 3 แห่งในพื้นที่หมู่ 2 ตำบลพันท้ายนรสิงห์ อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสาคร ซึ่งจากการเข้าตรวจค้นพบมีการกระทำความผิด 2 โกดัง โดยพบสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าประเภทต่างๆ เป็นผลิตภัณฑ์ที่ต้องได้รับอนุญาตตามมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม และต้องแสดงเครื่องหมายและหมายเลข (มอก.) บนตัวสินค้า ซึ่งจากการตรวจสอบเบื้องต้นไม่พบว่ามีเอกสารหลักฐานการรับรองมาตรฐานอุตสาหกรรม (มอก.) เช่น หม้อไฟฟ้าอเนกประสงค์ เตาย่างไฟฟ้า ไดร์เป่าผม และสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าอื่นๆ บรรจุในกล่องเตรียมส่งให้กับลูกค้า ซึ่งสินค้าทั้งหมดมีคู่มือการใช้งานเป็นข้อความภาษาจีน นอกจากนี้ยังพบสินค้าที่มีการปลอมเครื่องหมายการค้าอีกหลายรายการ เช่น รองเท้าปลอมยี่ห้อ ADIDAS NIKE กระเป๋าปลอมยี่ห้อ COACH อีกจำนวนมาก รวมจำนวนกว่าแสนชิ้น มูลค่ากว่า 30 ล้านบาท เบื้องต้นเจ้าหน้าที่ได้ทำการยึดสินค้าไว้เพื่อตรวจสอบและจะติดตามตัวเจ้าของสินค้ามาดำเนินคดีตามพระราชบัญญัติมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม พ.ศ.2511 และที่แก้ไขเพิ่มเติม พระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ.2560 และตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 ต่อไป