<ผู้ว่าราชการจังหวัด>
<เจ้าหน้าที่ป่าไม้>
<ม็อบบุกรุกที่>
<ตำรวจ>
ประมาณ ปี พ.ศ.2553 ผมยังเป็น รอง ผบก.ภ.จว. อุบลราชธานี
ที่ อ.สิรินธร มีชาวบ้านกลุ่มหนึ่ง บุกรุกเข้าไปในเขตป่าไม้ ปลูกบ้านพัก ปลูกต้นยาง กระทั่ง 5 – 6 ปีผ่านไป ต้นยางเติบใหญ่สามารถกรีดน้ำยางได้ เกิดฟ้าผ่ากลุ่มชาวบ้าน เจ้าหน้าที่ป่าไม้ ยกกำลังเข้าไปแจ้งให้ชาวบ้านออกจากพื้นที่ และได้ตัดต้นยางทิ้ง ชาวบ้านหมดทางสู้จึงรวมตัวกันประท้วงปิดถนนเส้นทางสิรินธร – ช่องเม็ก การจราจรติดขัดยาวเหยียดการขนส่งสินค้า เข้า – ออก ผ่านชายแดนที่ช่องเม็กไม่สามารถทำได้
ผมได้รับคำสั่ง ทั้งจาก ผบก.ฯ และ ผวจ. อุบลราชธานี ให้ไปเจรจาหาทางยุติเรื่องและเปิดการจราจร
เมื่อไปถึงบริเวณที่ชุมนุมพบเจ้าหน้าที่ป่าไม้ นายอำเภอสิรินธร พ.ต.อ.มงคล ลิ้มสุวรรณ ผกก.สภ.สิรินธร กำลังเจรจากับชาวบ้านอยู่ ผมสอบถามเรื่องราวจากเจ้าหน้าที่ป่าไม้ ได้ความว่า
<ต้องดำเนินการกับชาวบ้านตามกฎหมายเพราะบุกรุกพื้นที่ของป่าไม้โดยไม่ได้รับอนุญาต และต้องตัดต้นไม้ที่ชาวบ้านปลูกตามระเบียบฯ>
ผมสอบถามเรื่องราวจากชาวบ้าน ได้ความว่า
<ไม่มีที่อยู่อาศัยเห็นป่านี้เป็นป่าเสื่อมโทรมจึงชวนกันมาปลูกบ้านพัก ปลูกเพิง เพื่ออยู่อาศัยและปลูกต้นยางเพื่อหวังผลเลี้ยงขีพในอนาคต อยู่มาตั้งหลายปี จนต้นยางโต สามารถกรีดยางได้ ก็มาถูกเจ้าหน้าที่ขับไล่ให้ออกจากพื้นที่และยังตัดต้นยางอีก เสียดาย เพราะกำลังกรีดน้ำยางได้>
ผมฟังข้อมูลทั้งสองฝ่ายจบ คิดวิเคราะห์ และเสนอแนะภาพรวมกับเจ้าหน้าที่ป่าไม้และชาวบ้านที่ชุมนุมแบบทันทีทันใด ดังนี้
<ผืนป่านี้ เป็นที่ของหลวง ไม่มีใครสามารถครอบครองได้ ปลูกต้นไม้ก็ไม่ได้ แต่ชาวบ้านเข้ามาปลูกบ้านอยู่อาศัยนานตั้ง 5 – 6 ปี ปลูกต้นยางจนต้นโตใหญ่ ทำไมเจ้าหน้าที่ป่าไม้ไม่ดำเนินการตั้งแต่ตอนชาวบ้านเริ่มทำ เริ่มบุกรุก>
ทั้งเจ้าหน้าที่ป่าไม้และชาวบ้าน ต่างฝ่ายต่างนิ่งฟังว่าผมจะพูดอะไรต่อ
<ทำอย่างนี้ได้มั้ย ? ป่าไม้ หาผืนป่าเสื่อมโทรมแห่งใหม่แล้วทำตามขั้นตอน ของระเบียบ กฎหมาย หาช่องทางอนุญาต ให้ชาวบ้าน ที่ยากจน ไม่มีที่ทำกินเข้าไปอยู่อาศัยและปลูกต้นไม้เป็นไม้ประเภทที่ป่าไม้ต้องการโดยกำหนดเขตพื้นที่ ให้ชัดเจน แน่นอน
ประโยชน์ที่น่าจะได้ด้วยกันทุกฝ่าย คือ <ป่าไม้> จะได้ต้นไม้มีค่าขึ้นมา จากการปลูกของชาวบ้าน เงื่อนไขในการตัดไม้เพื่อขาย ให้เป็นไปตามระเบียบของป่าไม้ ให้ชาวบ้านช่วยเป็นหูเป็นตา ไม่ให้มีการลักลอบตัดไม้ทำลายป่า และระวังไฟป่าให้ด้วย
<ชาวบ้าน> จะได้มีที่อยู่อาศัยชั่วคราว จะได้ปลูกป่า จะได้ช่วยดูแลป่า จะได้มีรายได้>
ผลการเจรจาเบื้องต้น พ.ต.อ.มงคล นายอำเภอ เห็นด้วย ป่าไม้ขอปรึกษาผู้บังคับบัญชา ชาวบ้านเปิดถนนให้รถวิ่งได้บางช่องทาง ตามที่ผมขอ
<ผลสรุป>
ป่าไม้ตกลงตามที่ผมเสนอ แต่ขอเวลาหาพื้นที่ให้และยอมให้ชาวบ้านอยู่ที่เดิมต่อไปก่อน
ชาวบ้านดีใจมาก <เปิดถนน> ให้รถสัญจรได้ตามปกติ เลิกชุมนุม กลับเข้าไปอยู่บ้านในป่าแบบคนมีความหวัง
ผมโทรศัพท์รายงานทั้ง ผบก.ฯ และ ผวจ.ฯ ฝากให้นายอำเภอ และ พ.ต.อ.มงคล ช่วยกันดูแลทุกข์สุขชาวบ้านแล้วเดินทางกลับที่ตั้ง
ต่อมา อีกประมาณสองชั่วโมงเศษ พ.ต.อ.มงคล โทรศัพท์มาหาผม แจ้งว่า <รองฯ ครับ ม็อบป่าไม้ปิดถนนอีกแล้วครับ>
ผมถามกลับไปว่า <เขามีอะไรไม่พออีกหรือ ?>
พ.ต.อ.มงคล ตอบว่า <พอ รองฯ กลับไปสักพักใหญ่ ๆ ผู้ว่าฯ กับคณะก็มาพบปะกับชาวบ้านในป่าไม่รู้ไปพูดอีท่าไหนชาวบ้านไม่พอใจจึงออกมาปิดถนนอีก ส่วนผู้ว่าฯกับคณะ กลับไปแล้ว รองฯ มาคุยกับชาวบ้านหน่อยนะครับ>
ผมตอบตกลง ให้ พ.ต.อ.มงคล บอกชาวบ้านว่าผมจะมาพบขอให้เปิดถนนสักช่องทางก่อน
ผมไปพบชาวบ้านที่กำลังประท้วงบนถนนอีกครั้ง ชาวบ้านกำลังพูดโจมตีข้าราชการชั้นผู้ใหญ่บางคนด้วยอารมณ์
ผมดีใจที่เห็นชาวบ้านเปิดการจราจรให้รถวิ่งผ่านไปมาได้ ตามที่ผมขอมา แสดงว่า ชาวบ้านยังมีความเชื่อถือตัวผมอยู่ ผมเจรจาสร้างความเข้าใจอีกครั้งเหตุการณ์จบได้ด้วยดี เปิดถนน เลิกประท้วง
<ป.ล.> ผู้ว่าฯ เรื่องม็อบบุกรุกที่นี้ กับเรื่องม็อบตลาดปิดถนน เป็นคนละคนกัน ปัจจุบันนี้เข้าใจว่า ระเบียบกฎหมาย ได้มีการปรับปรุง เปลี่ยนแปลงไปมากมายคงจะแก้ไขแบบเดิมไม่ได้อีกแล้วกระมัง ?
พล.ต.ต.ไอยศูรย์ สิงหนาท