คอลัมนิสต์

ความเก่าความหลัง เลือนหายเหมือนสายน้ำ ไหลไปไม่กลับมา


13 ธันวาคม 2023, 8:31 น.

 

ปีเก่ากำลังจะผ่านไป

ภาพเลือนลาง จางไป เหมือนสายน้ำ
หลายสิบปี ความจำ ก็เลือนหาย
เคยได้รับ ไมตรี มีมากมาย
ดูก็คล้าย น้ำไหลไป ไม่กลับมา

12 ตุลาคม 2566

 

เคยดูหนังและมีเพลงเพราะเรื่อง The river of no return ของมาริลิน มอนโร ในอดีตยุคเดียวกับภาพถ่ายที่นำมาประกอบนี้ (จำชื่อไทยไม่ได้แล้ว เพราะนานมาก) ปัจจุบันเห็นมีเพลงนี้ในยูทูปบ่อย ทำให้นึกถึง คือภาพที่เห็นนี้ เป็นภาพภาพผู้ชายรูปหล่อที่ยืนอยู่ข้างผม เขาคือวันดี ทองประภา เจ้าของโรงงานผลิตยา เขาเป็นนักเลงดังย่านประตูน้ำเป็นบรรณาธิการและนายทุนทำหนังสือพิมพ์ “ตะวันสยาม” คู่กับ “ดาวสยาม” หนังสือพิมพ์ขนาดกลางที่ขายดีพอสมควร เมื่อทำอยู่ได้ 5-6 ปีเขาก็ถูกยิงตาย

 

 

ตะวันสยามแรกเปิด ผมเป็นผู้สื่อข่าวต่างจังหวัดทำข่าวกับหนังสือพิมพ์ฉบับอื่นอยู่ก่อนแล้วจึงทำสกู๊ปข่าวชิ้นหนึ่งให้ตะวันสยาม เป็นข่าวขัดผลประโยชน์ผู้มีอิทธิพล พาดหัวข่าวตะวันสยามอยู่ 4-5 วันทำให้ถูกปองร้าย ต้องเข้ามาประจำกองบรรณาธิการส่วนกลาง เพราะได้เขียนคอลัมน์ประจำอยู่บ้างแล้ว เรื่องนี้ผมเคยเล่าและมีภาพประกอบมาแล้ว

 

ด้วยความห่วงใย คุณวันดีเตือนผมว่า “นี่อรุณ ถ้ามีคนแปลกหน้าเดินเข้ามาในโรงพิมพ์ ใส่เสื้อไว้นอกกางเกง หรือถือถุงกระดาษต้องระวังตัวไว้นะ” สมัยนั้นถุงผ้ายังไม่มีใช้กันแพร่หลายนัก

 

กองบรรณาธิการให้ผมอยู่ฝ่ายข่าวสตรี ทำข่าวสังคมกับคุณหญิงคุณนาย อยู่กับวงการเสริมสวยนางแบบ ทำอยู่นาน พอถึงเทศกาลวันสำคัญ เลี้ยงฉลองต่าง ๆ ดารานางแบบจะมาร่วมกิจกรรมมากมาย คุณวันดีแต่งตัวดีมักไปงานราตรีใส่สูทหรือทักซิโด้อยู่บ่อย ๆ

 

 

เมื่อกิจการหนังสือพิมพ์ดีขึ้นก็เกิดความแตกแยกขึ้นภายใน กองบรรณาธิการก็แยกกันไปอยู่ฉบับอื่น ผมแยกไปทำหนังสือพิมพ์ไทยแลนด์ไทม์กับคุณรังษี เราเจริญ มี พันเอกปราบ โชติกเสถียรเป็นนายทุนและคนอื่นทำอยู่ 2 ปีกว่าก็เลิก

 

ตะวันสยามของคุณวันดี ทองประภา มีนายทุนคนอื่นมาร่วมหุ้น อยู่มาวันหนึ่ง เวลาเที่ยงกว่า ๆ มีคนร้ายเข้ามาในโรงพิมพ์ตะวันสยาม เลขที่ 72 ซอยวรพงษ์ บางลำพู ข่าวว่ามีคนร้ายถือถุงกระดาษ (แบบเดียวกับที่คุณวันดีเคยสอนผมให้ระวัง) ล้วงปืนจากในถุงจ่อยิงที่ศีรษะคุณวันดีล้มลงขณะที่ยืนคุยกับคนร้ายอีกคนอย่างไม่ทันระวังตัว คุณวันดีเป็นนักเลงแบบชอบสู้กันซึ่งหน้า เขาเขียนคอลัมน์ชื่อ “วันดี วันดวล” หน้าสุดท้ายของหนังสือพิมพ์แบบคอลัมน์ “ไว ตาทิพย์ กะพริบที่นี่” ของหนังสือพิมพ์ไทยรัฐยุคนั้น แม้แต่ชื่อคอลัมน์ก็ชอบดวลกับคนอื่นซึ่ง ๆ หน้า

 

พลตำรวจเอกณรงค์ มหานนท์ อธิบดีกรมตำรวจสมัยนี้ซึ่งไปงานศพที่วัดตรีทศเทพ ได้ไปดูสถานที่ยิงด้วยตนเอง

 

 

 

บัดนี้วันเวลาผ่านไปหลายปี ผมเห็นภาพเก่านี้ทำให้คิดถึงความเก่าความหลัง คิดถึงความดีความงาม มันช่างผ่านไปเหมือนสายน้ำที่ไม่มีวันไหลกลับจริง ๆ ครับ

 

เหมือนกับรอยยิ้มและความสวยของเหล่านางแบบที่เคยพบกันก็จืดจางห่างหายกันไปในที่สุดเหมือนกับปีเก่า ๆ คนเก่า ๆ ที่จากกันไปปีแล้วปีเล่า

 

อรุณ เวชสุวรรณ

ข่าวในหมวดเดียวกัน

เพิ่มเติม...

การเมือง

คอลัมนิสต์

คมในความ

มหาราษฎร์ Shorts

ภาพเก่าเล่าอดีต

ไฮไลท์

ข่าวประชาสัมพันธ์

ตำรวจ ทหาร อัยการ ศาล คุก

ท่องเที่ยว

ศาสนา

สุขภาพ

แวดวงนักรบ

สังคม

บทบาทบุคคล

< กลับหมวดคอลัมนิสต์

เรื่องล่าสุด