รมช.เกรียงฯ นำคณะลงพื้นที่ จ.อุดรธานี ติดตามงานของรัฐบาลและภารกิจสำคัญของ มท. เน้นย้ำ !! ปีใหม่นี้ “อุบัติเหตุเป็นศูนย์” พร้อมดันวาระแห่งชาติ “หนี้นอกระบบ ยาเสพติด” ต้องได้รับการแก้ไขอย่างเป็นรูปธรรม ปัญหาภัยแล้งต้องเตรียมพร้อมรับมือ เพื่อบรรเทาปัญหาให้กับ ปชช.
วันนี้ [3 ธันวาคม 2566] เวลา 08.30 น. ที่ห้องประชุมกรมหลวงประจักษ์ศิลปาคม อาคาร 1 ชั้น 5 ศาลากลางจังหวัดอุดรธานี นายเกรียง กัลป์ตินันท์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย พร้อมด้วย นายชูวิทย์ พิทักษ์พรพัลลภ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงมหาดไทย, นายสมชัย อัศวชัยโสภณ ที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย, นางสมหญิง บัวบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์นางสาวอุบลกาญจน์ อมรสิน ประจำสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี, นางสาวรัตมณี จงรักษ์, นายมฆวาน พรรณาภพ, นายศักดิ์ดา จันเทวา, นายธนันท์วรุตม์ ลิ้มทรงพรต, นายธนวุฒิ อินทร์พรหม คณะที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย, นายสมภพ สมิตะสิริ ผู้ตรวจราชการกระทรวงมหาดไทย, นายเธียรชัย ชูกิตติวิบูลย์ รองอธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย, และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ลงพื้นที่จังหวัดอุดรธานีเพื่อประชุมติดตามการดำเนินงานตามนโยบายรัฐบาลและภารกิจสำคัญของกระทรวงมหาดไทย โดยมี นายวันชัย คงเกษม ผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานี, นายวิเชียร ขาวขำ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดอุดรธานี นายอำเภอ หัวหน้าส่วนราชการ ผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมการประชุมและบรรยายสรุปผลการดำเนินงาน
รมช.เกรียง กล่าวว่า วันนี้ ตนได้รับมอบหมายจากนายกรัฐมนตรีและรัฐบาล ให้ลงพื้นที่จังหวัดอุดรธานี ซึ่งเป็น 1 ในจังหวัดกลุ่มภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 1 และเป็นพื้นที่สำหรับการตรวจราชการในการประชุมคณะรัฐมนตรีนอกสถานที่อย่างเป็นทางการ ครั้งที่ 1/2566 เพื่อติดตามการดำเนินงานของรัฐบาลและปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนในพื้นที่ โดยได้กำหนดประเด็นการติดตามฯ อาทิ การป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนในช่วงเทศกาลปีใหม่ 2567, การเตรียมความพร้อมรับสถานการณ์ภัยแล้ง, การแก้ไขปัญหาความยากจน หนี้นอกระบบ และปัญหายาเสพติด
รมช.เกรียง กล่าวต่อว่า นายกรัฐมนตรีและรัฐบาล มีนโยบายที่จะกระตุ้นเศรษฐกิจเพื่อ “สร้างรายได้ ลดรายจ่าย ขยายโอกาส” ให้กับประชาชน แต่ปัญหาอุบัติเหตุในข่วงเทศกาลปีใหม่ ปัญหาภัยแล้ง หนี้นอกระบบ และปัญหายาเสพติด ต่างเป็นก็เป็นปัญหาที่จะเพิ่มภาระและสร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชน ดังนั้น เพื่อเป็นการป้องกันและลดผลกระทบ ตนจึงมาติดตาม เน้นย้ำ พร้อมทั้งมาให้กำลังใจเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงาน โดยให้เตรียมแผนรองรับไว้ล่วงหน้า ซึ่งวันนี้ได้เน้นย้ำกับผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานี ตลอดจนหัวหน้าส่วนราชการที่เข้าประชุมว่า
(1) การป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนน : ต้องบูรณาการทุกภาคส่วนเพื่อรณรงค์สร้างการรับรู้และให้ตระหนักถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้น นอกจากนี้การตั้งด่าน/จุดตรวจ จุดสกัดในปีนี้ต้องมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบและวิธีการ โดยจะกำหนดให้มีการตั้งด่าน/จุดตรวจ จุดสกัดอย่างน้อย 50 กม./ด่าน (ในถนนสายหลัก) เพื่อลดปริมาณด่านเกินความจำเป็นและไม่ทำให้การจราจรติดขัด พร้อมทั้งให้พิจารณาจุดที่ตั้งด่าน ต้องเป็นพื้นที่ที่เป็นจุดเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ โดยเฉพาะจุดโค้งอันตราย ถนนเส้นหลักทางตรงระยะยาว อีกทั้งให้ฝ่ายปกครอง กำนัน/ผญบ. ตั้งด่านเชิงรุกในการเข้าไป “เคาะประตูบ้าน” พบปะพี่น้องประชาชน รณรงค์สร้างการรับรู้เพื่อป้องกันอุบัติเหตุจากการเมาแล้วขับ หรือขับรถด้วยความเร็วเกินกำหนด และการรณรงค์สวมหมวกนิรภัย 100%
(2) การเตรียมพร้อมรับสถานการณ์ภัยแล้ง : ได้สั่งการให้จังหวัดเฝ้าระวังและติดตามประเมินสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง ไม่ให้ประชาชนต้องขาดน้ำในการอุปโภคบริโภค ภาคการเกษตร และเตรียมกำลังเจ้าหน้าที่ เครื่องจักรกล วัสดุอุปกรณ์ และงบประมาณ เพื่อเข้าช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่เสี่ยงภัยแล้ง นอกจากนี้ยังต้องสร้างความรู้ความเข้าใจการใช้น้ำ ทั้งการอุปโภคบริโภคและการเกษตร รวมทั้งเพิ่มประสิทธิภาพแหล่งน้ำธรรมชาติ แหล่งน้ำชุมชน ธนาคารน้ำใต้ดิน เป็นต้น
(3) การแก้ไขปัญหาความยากจนและหนี้สินนอกระบบ : ในด้านการช่วยเหลือ ให้อำเภอประชาสัมพันธ์ให้ลูกหนี้นอกระบบลงทะเบียนผ่านช่องทาง http://debt.dopa.go.th และศูนย์อำนวยการแก้ไขหนี้นอกระบบทุกอำเภอ สายด่วนดำรงธรรม 1567 ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อติดต่อเข้ารับการช่วยเหลือ ในด้านการป้องกัน ให้อำเภอใช้กลไกไกล่เกลี่ยประนอมข้อพิพาท อีกทั้งแจ้งกำชับให้กำนัน ผญบ. คณะกรรมการหมู่บ้าน เฝ้าระวังสอดส่องบุคคลที่มีพฤติการณ์ปล่อยเงินกู้ การทวงถาม การข่มขู่ ทำร้ายร่างกาย และให้รายงานศูนย์ดำรงธรรมอำเภอ/จังหวัด เพื่อดำเนินการตามกฎหมาย ด้านการปราบปราม หากพบเห็นการกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญาว่าด้วยการทวงถามหนี้ รวมถึงกฎหมายอื่น ๆ ให้ชุดปฏิบัติการพิเศษฝ่ายปกครองอำเภอ/จังหวัด เข้าดำเนินการตามกฎหมายทันทีอย่างเป็นธรามต่อทุกฝ่าย นอกจากนี้ เน้นย้ำว่าให้ระมัดระวังเกี่ยวกับ “เรื่องหนี้เทียม” ที่ภาครัฐจะกลายเป็นผู้เสียหายแทน และ
(4) ปัญหายาเสพติด ให้ศูนย์อำนวยการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดจังหวัด (ศอ.ปส.จ.) ศูนย์ปฏิบัติการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดอำเภอ/อปท. (ศป.ปส.อ/ศป.ปส.อปท.) เร่งรัดค้นหาผู้เสพ/ผู้ติดยาเสพติดเข้าสู่กระบวนการบำบัดฟื้นฟู และจริงจังกับการติดตามช่วยเหลือผู้ผ่านการบำบัดฟื้นฟู และให้ความสำคัญกับการจัดระเบียบสังคม สอดส่อง เฝ้าระวัง ติดตามพื้นที่เสี่ยงมั่วสุม สถานบันเทิง สถานบริการ อย่างน้อยเดือนละ 1-2 ครั้ง เพื่อป้องกันมิให้มีการกระทำความผิดที่เกี่ยวกับยาเสพติด อบายมุข สิ่งผิดกฎหมายอื่น ๆ ด้วย
ในตอนท้าย รมช.เกรียง กล่าวว่า ตนรู้สึกยินดีที่ได้มีโอกาสมาเยี่ยมพบปะและให้กำลังใจเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงาน และขอให้กำลังใจเจ้าหน้าที่ทุกคนที่ช่วยกัน “บำบัดทุกข์ บำรุงสุข” ให้กับพี่น้องประชาชน และขอบคุณผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานี นายอำเภอ หัวหน้าส่วนราชการ ผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนผู้เข้าร่วมประชุม ที่ได้ให้การต้อนรับอย่างอบอุ่นและนำเสนอข้อมูลการดำเนินงานตามนโยบายของรัฐบาล ซึ่งเป็นประโยชน์อย่างยิ่ง และตนจะได้นำข้อมูลทั้งหมดนี้กราบเรียนนายกรัฐมนตรีและรัฐบาลให้ทราบถึงความคืบหน้าและการดำเนินการในโอกาสต่อไป