รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานเปิดบริการตรวจสอบเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุและเบี้ยความพิการบนแอปพลิเคชัน “ทางรัฐ”
วันนี้ (27 พ.ย. 66) เวลา 10.00 น. ที่บริเวณโถงหน้าห้องประชุมราชบพิธ อาคารดำรงราชานุสรณ์ กระทรวงมหาดไทย นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานเปิดบริการตรวจสอบเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุและเบี้ยความพิการบนระบบพอร์ทัลกลางเพื่อประชาชน (Citizen Portal) หรือแอปพลิเคชัน “ทางรัฐ” โดยมี นางพวงเพ็ชร ชุนละเอียด รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี นายทรงศักดิ์ ทองศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย นายวราวุธ ยันต์เจริญ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประสำนักนายกรัฐมนตรี นางสาวไตรศุลี ไตรสรณกุล เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย นายอรรษิษฐ์ สัมพันธรัตน์ อธิบดีกรมการปกครอง นายขจร ศรีชวโนทัย อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น นายเฉลิมพล โชตินุชิต รองปลัดกรุงเทพมหานคร ดร.สุพจน์ เธียรวุฒิ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล ข้าราชการ พนักงาน เจ้าหน้าที่ ตัวแทนภาคประชาชน และสื่อมวลชน ร่วมในพิธี
นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า วันนี้เป็นวันที่น่ายินดีที่จะได้เปิดการให้บริการตรวจสอบเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุและเบี้ยความพิการบนระบบพอร์ทัลกลางเพื่อประชาชน (Citizen Portal) หรือแอปพลิเคชัน “ทางรัฐ” ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของความตั้งใจตามนโยบายรัฐบาลที่จะปรับเปลี่ยนการบริหารประเทศให้เข้าสู่ยุค Digital Government โดยเมื่อข้อมูลทั้งหลายถูกนำเข้าสู่ระบบออนไลน์แล้ว ประเทศก็จะได้ทั้งการบริหารงานที่โปร่งใส และการให้บริการที่สะดวกสบาย สำหรับประชาชน
“การนำเทคโนโลยีดิจิทัล มาเป็นเครื่องมือสำคัญในการสร้างสรรค์บริการ ทั้งการพัฒนาบริการเดิม และเสริมบริการใหม่ จะช่วยลดขั้นตอนการติดต่อราชการที่ซ้ำซ้อนลง และสามารถตอบสนองความต้องการของคนยุคนี้ ในการเข้าถึงบริการของรัฐได้ตลอด 24 ชั่วโมง ลดปัญหาดังที่เราทุกคนเคยมีประสบการณ์ของความหงุดหงิดเวลาอยากจะทำอะไรนอกเวลาราชการแล้วทำไม่ได้ ต้องมาเสียเวลาทำการทำงานเพื่อไปติดต่อราชการตามเวลาราชการ “ความรู้สึกแบบนั้นจะหายไป เมื่อเราเข้าสู่ความเป็น Digital Government โดยสมบูรณ์” ซึ่งการรวมศูนย์บริการภาครัฐให้เป็น “พอร์ทัลกลาง” ก็ถือว่าเป็น Game Changer เป็นปัจจัยที่จะทำให้ “รัฐบาลดิจิทัล” เกิดขึ้นได้จริง ทั้งนี้ การที่ “กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น” ได้นำระบบเทคโนโลยีเข้ามาใช้ในการให้บริการตรวจสอบเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุและเบี้ยความพิการ รองรับผู้ใช้งานกว่า 14 ล้านคน ในครั้งนี้ ถือว่าสอดคล้องกับอัตลักษณ์ในการทำงานของชาวกระทรวงมหาดไทยเป็นอย่างยิ่ง คือ การทำงานด้วยความ “ทันโลก ทันสมัย ทันท่วงที” สามารถใช้เทคโนโลยีได้อย่างเหมาะสม สนองตอบความต้องการของประชาชน” นายอนุทินฯ กล่าวเพิ่มเติม
นางพวงเพ็ชร ชุนละเอียด รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า เป็นที่น่ายินดีอย่างยิ่งที่วันนี้ สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (DGA) ซึ่งเป็นหน่วยงานที่มีส่วนร่วมในการสนับสนุนนโยบายของท่านรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ที่มุ่งพัฒนาให้ข้าราชการและหน่วยงานมีความ “ทันโลก ทันสมัย” เป็นที่พึ่งพาของประชาชน สมดังภารกิจของกระทรวงมหาดไทยที่ต้องบำบัดทุกข์ บำรุงสุขให้พี่แก่น้องประชาชนอยู่เสมอ
“การที่กระทรวงมหาดไทย ได้ให้เกียรตินำบริการ “ตรวจสอบเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุและเบี้ยความพิการ” มาไว้ใน Application ทางรัฐ ซึ่งสะท้อนถึงการก้าวสู่องค์กรดิจิทัลที่มีความสอดคล้อง คล่องตัว เหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบัน ที่จะผลักดันให้Application “ทางรัฐ” เสมือน “ซูเปอร์แอปของภาครัฐ” ที่ทำให้ประชาชนสามารถเข้าถึงบริการภาครัฐได้อย่างสะดวก รวดเร็ว และปลอดภัย ในแอปพลิเคชันเดียว ซึ่ง DGA มุ่งมั่นขับเคลื่อนงานร่วมกับกระทรวงมหาดไทย เพื่อสร้างประเทศให้ทันสมัย (Smart Nation) เพื่อชีวิตของคนไทยที่ง่ายขึ้น (Smart Life) ส่งผลให้ประชาชนทุกคน มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นต่อไป” นางพวงเพ็ชรฯ กล่าวเพิ่มเติม
นายขจร ศรีชวโนทัย อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กล่าวว่า สืบเนื่องจากปัญหาที่ประชาชนทั่วไปไม่ทราบ หรือไม่สามารถคำนวณหาช่วงเวลาที่ต้องไปยืนยันตัวตนเพื่อรับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุได้อย่างถูกต้อง มีความเสี่ยงในการไปยืนยันตัวตนล่าช้ากว่าที่ระเบียบกำหนด ส่งผลให้ได้รับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุล่าช้า และจำนวนเงินเบี้ยยังชีพที่ได้รับน้อยลงกว่าสิทธิที่ควรจะได้ หรือต้องการทราบข้อมูลการจ่ายเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ เบี้ยความพิการในแต่ละเดือน ก็จำเป็นที่จะต้องเดินทางมาสอบถามข้อมูลจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งต้องใช้เวลาค่อนข้างเยอะ และยิ่งถ้าต้องการข้อมูลจากหลายหน่วยงานก็ต้องเดินทางไปหลายแห่งอีก จึงเป็นการสร้างภาระค่าใช้จ่ายและความยุ่งยากให้กับประชาชนที่ต้องการความสะดวก ซึ่ง “แอปพลิเคชัน “ทางรัฐ” คือ แอปพลิเคชันที่รวบรวมบริการที่สำคัญของภาครัฐมาไว้ในแอปพลิเคชันเดียว ที่ให้บริการประชาชนได้อย่างสะดวก รวดเร็ว และปลอดภัย โดยในปัจจุบันแอปพลิเคชัน “ทางรัฐ” มีบริการที่พร้อมให้บริการประชาชนกว่า 134 บริการ โดยมีบริการจากภาครัฐที่น่าสนใจมากมาย เช่น บริการตรวจสอบสิทธิประกันสังคม สิทธิการรักษาพยาบาล เงินอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดูเด็กแรกเกิด สิทธิหลักประกันสุขภาพ รวมถึงฐานข้อมูลการจ่ายเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุและเบี้ยความพิการที่จะมีการเปิดตัวในวันนี้ เป็นการดำเนินงานตามพระราชบัญญัติการบริหารงานและการให้บริการภาครัฐผ่านระบบดิจิทัล พ.ศ. 2562 พระราชบัญญัติการปฏิบัติราชการทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2565 รวมถึงแผนพัฒนารัฐบาลดิจิทัลของประเทศไทย พ.ศ. 2566-2570 ซึ่งรัฐบาลมีเจตนารมณ์มุ่งผลักดันให้แผนนี้เป็นระบบกลางของประเทศ (Citizen Portal) ที่รวบรวมงานบริการภาครัฐไว้ในแหล่งเดียว เพื่อให้ประชาชนได้รับประสบการณ์ที่ดีในการติดต่อราชการผ่านทางออนไลน์
“กระทรวงมหาดไทย โดยกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นมีความมุ่งมั่นในการยกระดับการให้บริการประชาชนขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการจัดสวัสดิการทางสังคม การจ่ายเบี้ยยังชีพให้แก่ประชาชนกลุ่มเปราะบาง ได้แก่ ผู้สูงอายุ ผู้พิการหรือทุพพลภาพ เพื่อให้ประชาชนกลุ่มเปราะบางมีคุณภาพชีวิตที่ดี มีความเท่าเทียม และเกิดความเสมอภาคทางสังคม สามารถเข้าถึงบริการภาครัฐได้อย่างสะดวก รวดเร็ว จึงได้ร่วมกับพัฒนารัฐบาลดิจิทัล กรุงเทพมหานคร และเมืองพัทยา เชื่อมโยงฐานข้อมูลการจ่ายเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุและเบี้ยความพิการบนระบบแอปพลิเคชัน “ทางรัฐ” ซึ่งเป็นช่องทางที่รวบรวมงานบริการภาครัฐที่อำนวยความสะดวกให้ประชาชนสามารถเข้าถึงข้อมูลและบริการของรัฐได้อย่างสะดวกและรวดเร็ว สอดคล้องกับพระราชบัญญัติการบริหารงานและการให้บริการภาครัฐผ่านระบบดิจิทัล พ.ศ. 2562” นายขจรฯ กล่าวเพิ่มเติม
กองสารนิเทศ สป.มท.
วันที่ 27 พ.ย. 2566