ไฮไลท์

ไทยพร้อมลง MOU จัดตั้งศูนย์นวัตกรรมอุตสาหกรรมอาเซียน-เกาหลีใต้


22 มีนาคม 2022, 15:27 น.

‘สินิตย์’ เผย ไทยพร้อมเซ็น MOU จัดตั้งศูนย์นวัตกรรมอุตสาหกรรมอาเซียน-เกาหลีใต้ ขับเคลื่อนความร่วมมือรองรับอุตสาหกรรม 4.0 – เกษตรอัจฉริยะ

 

‘สินิตย์’ เผย ไทยพร้อมลงนาม MOU จัดตั้งศูนย์นวัตกรรมอุตสาหกรรมอาเซียน-เกาหลีใต้ (AKIIC) เดินหน้าประสานเกาหลีใต้และสมาชิกอาเซียนกำหนดวันลงนาม ด้าน ‘พาณิชย์’ เตรียมผนึกกำลัง ‘สวทช.’ เร่งรัดจัดตั้งศูนย์ให้สำเร็จโดยเร็ว พร้อมร่วมมือขับเคลื่อนศูนย์ฯ รองรับอุตสาหกรรม 4.0 ทั้งยานยนต์สมัยใหม่ เครื่องมือแพทย์ อุตสาหกรรมบันเทิง และเกษตรอัจฉริยะ

นายสินิตย์ เลิศไกร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ได้รับมอบหมายจากรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ (นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์) ให้ติดตามความคืบหน้าการจัดตั้งศูนย์นวัตกรรมอุตสาหกรรมอาเซียน-เกาหลีใต้ (ASEAN-Korea Industrial Innovation Center: AKIIC) หลังจากที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้เห็นชอบให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ในฐานะผู้แทนไทย ร่วมลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) ว่าด้วยการจัดตั้งศูนย์นวัตกรรมอุตสาหกรรมอาเซียน-เกาหลีใต้ เมื่อวันที่ 1 มีนาคม ที่ผ่านมา ซึ่งคาดว่าการลงนามจะจัดขึ้นในช่วงครึ่งปีแรกของปีนี้ และจะสามารถจัดตั้งศูนย์ AKIIC ภายในปี 2566 ณ ประเทศเกาหลีใต้ 

 

นายสินิตย์ กล่าวว่า สำหรับไทยพร้อมที่จะลงนาม MOU ดังกล่าวแล้ว โดยอยู่ระหว่างการประสานงานกับเกาหลีใต้และประเทศสมาชิกอาเซียนอื่น ๆ อย่างใกล้ชิด เพื่อกำหนดวันที่ลงนาม MOU ร่วมกัน โดยการจัดตั้งศูนย์ AKIIC ครั้งนี้ ถือเป็นจุดเริ่มต้นของความร่วมมือระหว่างเกาหลีใต้กับอาเซียน เพื่อเป็นกลไกสำคัญที่จะช่วยพัฒนาเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันและความร่วมมือด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมอุตสาหกรรมในรูปแบบต่าง ๆ อาทิ การทำวิจัยร่วมกัน การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ การสร้างเครือข่าย การถ่ายทอดเทคโนโลยี และการนำเทคโนโลยีไปใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์  

 

“กระทรวงพาณิชย์จะผนึกกำลังกับสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เป็นทีมไทยแลนด์ เพื่อเร่งรัดผลักดันการจัดตั้งศูนย์ AKIIC ให้เป็นผลสำเร็จ และเห็นพ้องร่วมกันว่า การจัดทำโครงการวิจัยระหว่างไทยกับประเทศอาเซียนและเกาหลีใต้ ภายใต้การดำเนินงานของศูนย์ AKIIC จะทำให้ไทยได้รับองค์ความรู้ด้านนวัตกรรมอุตสาหกรรมจากเกาหลีใต้อย่างเป็นรูปธรรม และสอดรับกับทิศทางการพัฒนาอุตสาหกรรม 4.0 ของไทยในสาขาเป้าหมาย ได้แก่ ยานยนต์สมัยใหม่ แบตเตอรี่ประสิทธิภาพสูง เครื่องมือแพทย์ อุตสาหกรรมบันเทิง และสาขาเกษตรอัจฉริยะ ซึ่งรัฐบาลให้ความสำคัญการนำเทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามาใช้ในกระบวนการผลิตทำการเกษตร เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพ ประหยัดเวลา ลดต้นทุน และช่วยเกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น” รมช.พาณิชย์เสริม

 

ด้าน ดร.เจนกฤษณ์ คณาธารณา รองผู้อำนวยการ สวทช. เป็นผู้กำกับดูแลเขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EECi) ให้ข้อมูลว่า ครม. ได้เห็นชอบให้ผู้แทนจากสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เป็นผู้แทนไทยเข้าร่วมเป็นคณะกรรมการบริหารศูนย์ AKIIC โดย สวทช. พร้อมที่จะทำงานใกล้ชิดกับกระทรวงพาณิชย์ เพื่อขับเคลื่อนความร่วมมือผ่านทางศูนย์ AKIIC ทั้งนี้ ความร่วมมือผ่านแพลตฟอร์ม AKIIC ยังเป็นโอกาสดีที่ไทยจะได้ทำงานร่วมกับหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนชั้นนำของเกาหลีใต้ เพื่อรับการถ่ายทอดเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้และร่วมกันพัฒนานวัตกรรมต่อยอดไปสู่การใช้งานจริงเชิงพาณิชย์ และการลงทุนในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีขั้นสูง นอกจากนี้ ไทยสามารถใช้ EECi ที่ สวทช. ทำหน้าที่เป็นผู้จัดการโครงการ สำหรับเป็นตัวกลางเชื่อมโยงและขับเคลื่อนการทำงานร่วมกับ AKIIC ให้เกิดผลเป็นรูปธรรม

 

เกาหลีใต้ถือเป็นประเทศที่มีความโดดเด่นและมีความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมอย่างก้าวกระโดด จากดัชนีนวัตกรรมโลก หรือ Global Innovation Index ประจำปี 2564 เกาหลีใต้ทะยานขึ้นจากอันดับที่ 10 ของโลกในปี 2563 เป็นอันดับที่ 5 ของโลกในปี 2564 และเป็นอันดับ 1 ของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เอเชียตะวันออกและโอเชียเนีย ขณะที่ไทยติดอันดับที่ 43 ของโลก และอันดับ 9 ของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เอเชียตะวันออกและโอเชียเนีย ประกอบกับรัฐบาลเกาหลีใต้ชุดใหม่ให้ความสำคัญกับการส่งเสริมความร่วมมือกับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งความร่วมมือเพื่อพัฒนาด้านเทคโนโลยี 

 

ทั้งนี้ ในปี 2564 ไทยกับเกาหลีใต้มีการขยายตัวทางการค้ามากที่สุดในรอบ 30 ปี และเกาหลีใต้เป็นประเทศคู่ค้าอันดับ 9 ของไทย โดยไทยส่งออกไปเกาหลีใต้ มูลค่า 5,883 ล้านเหรียญสหรัฐ และนำเข้าจากเกาหลีใต้ มูลค่า 9,919 ล้านเหรียญสหรัฐ สินค้าส่งออกสำคัญ อาทิ น้ำมันสำเร็จรูป เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ผลิตภัณฑ์ยาง และไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ สินค้านำเข้าสำคัญ อาทิ เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ เคมีภัณฑ์ แผงวงจรไฟฟ้า และเครื่องจักรกลและส่วนประกอบ ทั้งนี้ จากสถิติการค้าของไทยนับตั้งแต่ที่ความตกลง AKFTA มีผลใช้บังคับเมื่อปี 2553 จนถึงปี 2564 พบว่า การค้ารวมของไทยมีมูลค่า 15,802 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวเพิ่มขึ้นถึง 92%

——————————-

 กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ

กระทรวงพาณิชย์

22 มีนาคม 2565

ข่าวในหมวดเดียวกัน

เพิ่มเติม...

การเมือง

คอลัมนิสต์

คมในความ

มหาราษฎร์ Shorts

ภาพเก่าเล่าอดีต

ไฮไลท์

ข่าวประชาสัมพันธ์

ตำรวจ ทหาร อัยการ ศาล คุก

ท่องเที่ยว

ศาสนา

สุขภาพ

แวดวงนักรบ

สังคม

บทบาทบุคคล

< กลับหมวดไฮไลท์

เรื่องล่าสุด