กระทรวงมหาดไทย จัดพิธีวางพวงมาลาถวายราชสักการะและพิธีทำบุญตักบาตรถวายพระราชกุศล น้อมรำลึก 113 ปี แห่งการสวรรคต ณ พระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว วัดราชบพิธ เนื่องในวันปิยมหาราช 23 ตุลาคม 2566
วันนี้ (23 ต.ค. 66) เวลา 06.00 น. ที่พระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม ราชวรวิหาร กรุงเทพฯ นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานพิธีวางพวงมาลาถวายราชสักการะพระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และพิธีทำบุญตักบาตรน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณเนื่องในวันคล้ายวันสวรรคต พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เนื่องในวันปิยมหาราช 23 ตุลาคม 2566 โดยได้รับเมตตาจาก สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ เลขานุการสมเด็จพระสังฆราช ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม ราชวรวิหาร นำพระสงฆ์ สามเณร 20 รูป รับบิณฑบาต โดยมี นายพรพจน์ เพ็ญพาส รองปลัดกระทรวงมหาดไทย หัวหน้ากลุ่มภารกิจด้านพัฒนาชุมชนและส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น นายสมคิด จันทมฤก รองปลัดกระทรวงมหาดไทย ด้านบริหาร นายชำนาญวิทย์ เตรัตน์ รองปลัดกระทรวงมหาดไทย หัวหน้ากลุ่มภารกิจด้านกิจการความมั่นคงภายใน นายโชตินรินทร์ เกิดสม รองปลัดกระทรวงมหาดไทย หัวหน้ากลุ่มภารกิจด้านสาธารณภัยและพัฒนาเมือง นายชัยวัฒน์ ชื่นโกสุม อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน นายพงศ์รัตน์ ภิรมย์รัตน์ อธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง นายอรรษิษฐ์ สัมพันธรัตน์ อธิบดีกรมการปกครอง นายขจร ศรีชวโนทัย อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น นายไชยวัฒน์ จุนถิระพงศ์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย นายบุญธรรม หอไพบูลย์สกุล รองอธิบดีกรมที่ดิน นายวิลาศ เฉลยสัตย์ ผู้ว่าการการไฟฟ้านครหลวง นายศุภชัย เอกอุ่น ผู้ว่าการการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค นายภาณุพล รัตนกาญจนภัทร รองประธานกรรมการทำการแทนผู้อำนวยการองค์การตลาด ผู้แทนหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ ข้าราชการ พนักงานรัฐวิสาหกิจ เจ้าหน้าที่ ภาคีเครือข่าย และสมาคมแม่บ้านมหาดไทย ร่วมพิธีเป็นจำนวนมาก
นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชสมภพ เมื่อวันอังคารที่ 20 กันยายน 2396 เป็นพระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระเทพศิรินทราบรมราชินี ทรงมีพระนามเมื่อแรกประสูติว่า เจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ และต่อมาได้รับพระราชทานสุพรรณบัฏจารึกพระนามว่า สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ บดินทรเทพยมหามกุฎ บุรุษยรัตนราชรวิวงศ์ วรุตมพงศบริพัตร สิริวัฒนราชกุมาร โดยเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2411 พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จสวรรคต ซึ่งในขณะนั้น พระองค์ทรงเจริญพระชนมายุครบ 15 พรรษา จึงทรงประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษกครั้งแรก เมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน 2411 โดยได้รับการเฉลิมพระปรมาภิไธยว่า พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ฯ พระจุฬาลงกรณ์เกล้าเจ้าอยู่หัว และต่อมา เมื่อทรงเจริญพระชนมายุครบ 20 พรรษา จึงได้มีการจัดพระราชพิธีบรมราชาภิเษกครั้งที่ 2 ขึ้น เมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 2416 โดยได้รับการเฉลิมพระปรมาภิไธยว่า พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ฯ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ครั้นเมื่อวันที่ 23 ตุลาคม 2453 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จสวรรคต ด้วยโรคพระวักกะ (ไต) ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต สิริพระชนมพรรษาได้ 58 พรรษา ทรงครองสิริราชสมบัติ 43 ปี ซึ่งด้วยพระองค์ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณในการปกครองบ้านเมืองและพระราชทานความร่มเย็นเป็นสุขให้แก่พสกนิกรชาวไทย จึงทรงได้รับการถวายพระราชสมัญญานามของพระองค์ว่า “พระปิยมหาราช” ซึ่งหมายถึง พระมหากษัตริย์ที่ทรงเป็นที่รักยิ่งของปวงชน รัฐบาลจึงกำหนดให้วันที่ 23 ตุลาคมของทุกปี เป็นวันปิยมหาราช (Chulalongkorn Day) เพื่อให้ปวงชนชาวไทยน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ท่านที่ทรงมีต่อพสกนิกรและประเทศชาติบ้านเมือง
นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวต่ออีกว่า ตลอดรัชสมัยการครองสิริราชสมบัติของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณอย่างอเนกอนันต์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการปฏิรูประเบียบบริหารราชการ ได้ทรงปรับปรุงหน้าที่ของกรมต่าง ๆ ที่มีอยู่แต่เดิมให้เป็นระเบียบเรียบร้อยโดยรวมกรมต่าง ๆ ที่มีอยู่มากมายเวลานั้นเข้าเป็นกระทรวง กระทรวงหนึ่ง ๆ ก็มีหน้าที่อย่างหนึ่ง หรือหลายอย่างพอเหมาะสม โดยทรงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมสถาปนากระทรวงมหาดไทยขึ้น และได้ทรงมอบหมายให้สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ เป็นองค์ปฐมเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย โดยทรงจัดรวบรวมหัวเมืองที่สำคัญขึ้นเป็นเขตการปกครองเรียกว่า “มณฑล” และได้ทรงริเริ่มจัดการ “สุขาภิบาล” ในเขตกรุงเทพมหานคร และตำบลท่าฉลอม จังหวัดสมุทรสาคร เพื่อทดลองให้ประชาชนรู้จักการปกครองตนเองในระดับท้องถิ่น และทดลองจัดระเบียบการปกครองระดับตำบล หมู่บ้าน ขึ้นเป็นครั้งแรกที่บ้านเกาะ ณ อำเภอบางปะอิน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา นอกจากนี้ ทรงริเริ่มนำระบบการใช้ธนบัตรและเหรียญบาท มาใช้ในประเทศไทย รวมถึงการทรงริเริ่มสร้างทางรถไฟสายแรก คือ กรุงเทพมหานคร – อยุธยา การก่อตั้งการประปา การไฟฟ้า ไปรษณีย์โทรเลข โทรศัพท์ การสื่อสาร และยังทรงโปรดเกล้าฯ ให้มีการขุดคลองเพื่อการคมนาคม เช่น คลองประเวศบุรีรมย์ คลองแสนแสบ คลองเปรมประชากร คลองทวีวัฒนา คลองรังสิตประยูรศักดิ์ เป็นต้น ทั้งยังทรงโปรดเกล้าฯ ให้ขุดคลองส่งน้ำประปาจากแหล่งน้ำดิบเชียงรากสู่สามเสน ซึ่งพระราชกรณียกิจนานัปการข้างต้นนี้ ยังคงได้รับการสืบสานต่อยอดเพื่อการพัฒนาประเทศไทยจวบจนถึงปัจจุบัน
“พระราชกรณียกิจอันเป็นสิ่งสำคัญยิ่งที่พวกเราคนไทยทุกคนควรน้อมรำลึกและสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณยิ่ง 2 ประการ คือ
1) พระองค์ทรงทำให้พวกเราคนไทยทุกคนได้เป็น “ไท” ด้วยทรงยกเลิกระบบทาส ไพร่ โดยออกพระราชบัญญัติเลิกทาสที่แท้จริงขึ้น เรียกว่า “พระราชบัญญัติทาส ร.ศ.124” (พ.ศ. 2448) เลิกเรื่องลูกทาสในเรือนเบี้ยอย่างเด็ดขาด เด็กที่เกิดจากทาสไม่เป็นทาสอีกต่อไป การซื้อขายทาสเป็นโทษทางอาญา ส่วนผู้ที่เป็นทาสอยู่แล้ว ให้นายเงินลดค่าตัวให้เดือนละ 4 บาท จนกว่าจะหมด ซึ่งแม้ว่าจะใช้ระยะเวลาที่ยาวนาน แต่ด้วยพระปรีชาชาญที่ล้ำลึก ทำให้ประเทศไทยเป็นประเทศเดียวที่สามารถเลิกทาสอย่างไม่มีการนองเลือดหรือเสียชีวิต และ
2) การรักษาเอกราชของชาติไทยให้คงอยู่ปลอดภัยจากลัทธิล่าอาณานิคม ด้วยพระราชอัธยาศัยอันละมุนละม่อมและสุขุมของพระองค์ท่าน และพระวิสัยทัศน์ พระอัจฉริยภาพ ทรงใช้พระปรีชาสามารถอย่างสุดพระกำลังที่จะรักษาประเทศชาติให้รอดพ้นจากวิกฤติการณ์ และทรงสามารถแก้ไขเหตุร้ายของบ้านเมืองได้หลายครั้งหลายโอกาส” นายสุทธิพงษ์ฯ กล่าวเน้นย้ำ
นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวเพิ่มเติมว่า พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเป็นองค์อัครศาสนูปถัมภก และทรงเลื่อมใสในบวรพระพุทธศาสนา ซึ่ง “วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม” ถือเป็นพระอารามหลวงชั้นเอกที่สำคัญที่สุดในรัชสมัยของ “พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว” ทรงพระราชศรัทธาสถาปนาไว้เป็นพระอารามประจำรัชกาลของพระองค์ ในฐานะวัดที่ 1 ในรัชกาลที่ 5 ก่อพระฤกษ์ เมื่อวันที่ 22 มกราคม 2412 โดยทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างถาวรวัตถุสถานสำหรับพระอารามอย่างงดงามวิจิตรด้วยสถาปัตยกรรมและศิลปกรรมชั้นเอก ทรงเอาพระราชหฤทัยใส่ในการสร้างและทำนุบำรุงในทุกรายละเอียด โดยเฉพาะในเขตพุทธาวาส ซึ่งมีไพทียกพื้นขึ้นเป็นสัดส่วน มีอาคารสำคัญประกอบด้วย พระอุโบสถ, พระเจดีย์, พระวิหาร, พระวิหารทิศ, พระวิหารคด และศาลาราย ล้วนแล้วแต่ประดับด้วยกระเบื้องเบญจรงค์เป็นเอกลักษณ์จำเพาะพระอาราม นอกไพทียังมีพลับพลา, ศาลา, ตึก และกำแพงพร้อมเสาสีมา เป็นสิ่งปลูกสร้างอันงดงามลงตัวอยู่โดยรอบ
“เมื่อวันที่ 23 ต.ค. 2553 อันเป็นวาระ 100 ปีแห่งการเสด็จสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้มีพสกนิกรชาวไทยผู้มีศรัทธาอันแรงกล้าร่วมกันบริจาคเงินร่วมบำเพ็ญกุศลเพื่อจัดสร้าง “พระบรมราชานุสาวรีย์” เป็นพระบรมราชานุสรณ์ถึงพระองค์ สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก เมื่อครั้งดำรงสมณศักดิ์ที่สมเด็จพระมหามุนีวงศ์ เจ้าอาวาสวัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม จึงถวายพระพรพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เพื่อทรงทราบ โดยทรงพระมหากรุณาพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ดำเนินการสร้างได้ โดยมี พลอากาศตรี อาวุธ เงินชูกลิ่น ศิลปินแห่งชาติ อดีตอธิบดีกรมศิลปากรผู้ล่วงลับ และคณะช่างจากกรมศิลปากรเป็นผู้ออกแบบ สำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ สนับสนุนการสร้างแท่นฐาน โดยองค์พระบรมรูปขนาดเท่าครึ่งของพระองค์จริง ในพระราชอิริยาบถประทับบนพระราชยาน ทรงเครื่องขัตติยราชอิสริยาภรณ์ตามหลักฐานปรากฏในพระบรมฉายาลักษณ์ซึ่งฉายในโอกาสเสด็จพระราชดำเนินมาบำเพ็ญพระราชกุศลถวายผ้าพระกฐิน ณ วัดราชบพิธ แต่การสร้างพระบรมรูปนี้มิได้ทรงพระชฎา ตามราชประเพณีที่เมื่อเสด็จพระราชดำเนินเข้าสู่เขตพระอาราม จะทรงเปลื้องศิราภรณ์ที่ทรงมาออก ณ พลับพลาเปลื้องเครื่อง ก่อนเสด็จพระราชดำเนินเข้าสู่เขตพุทธาวาส ซึ่งเป็นพระบรมรูปที่ยังไม่เคยปรากฏว่ามีที่ใดสร้างมาก่อน จึงนับเป็นลักษณะเฉพาะแบบนี้แห่งแรกและแห่งเดียวในประเทศไทย พร้อมทั้งงดงามถูกต้อง นอกจากนี้ ยังประดิษฐานบนแท่นหินอ่อนสีขาวจากเมืองคารารา ประเทศอิตาลี ซึ่งเป็นหินอ่อนชนิดที่พระองค์ทรงโปรดปรานยิ่งนัก บริเวณเหนือฉากหลังพระบรมรูป แกะสลักหินอ่อนเป็นรูปตราแผ่นดินแบบเดียวกับที่โปรดเกล้าฯ ให้ปั้นไว้เหนือกรอบประตูพระอุโบสถ โดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเมื่อครั้งดำรงพระอิสริยยศ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร เสด็จพระราชดำเนินมาทรงเททองหล่อพระบรมรูป เมื่อวันที่ 18 ต.ค. 2557″ นายสุทธิพงษ์ฯ กล่าว
นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวในช่วงท้ายว่า แม้ว่าการเสด็จสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจะล่วงเลยมาเป็นระยะเวลานับเนื่อง 113 ปี แต่พระมหากรุณาธิคุณอันล้นเกล้าล้นกระหม่อมยังคงอยู่ในความทรงจำของคนไทยทุกคนด้วยเพราะทรงเป็นพระมหากษัตริย์ผู้พระราชทานอิสรภาพและโอกาสที่ดีของชีวิตคนไทย จนทำให้ประชาชนคนไทยได้รับการส่งเสริมต่อยอดด้านการศึกษา การประกอบอาชีพ ธำรงรักษาและพัฒนาพื้นแผ่นดินไทยให้เป็นประเทศที่มีความเจริญก้าวหน้า และในโอกาสวันปิยมหาราช 23 ตุลาคม 2566 ขอเชิญชวนพี่น้องประชาชนคนไทยทุกคนได้ร่วมกันน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณอันยิ่งใหญ่ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระปิยมหาราช ผู้ทรงเป็นที่รักยิ่งของพสกนิกรชาวไทย ด้วยการมุ่งมั่นตั้งใจปฏิบัติบำเพ็ญประโยชน์เพื่อชาติบ้านเมือง ตั้งมั่นตั้งใจในการทำความดี เพื่อเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศชาติในทุกด้าน และร่วมกันกระตุ้นปลุกเร้าให้เกิดการสืบทอดคุณค่าความดีงามและความเป็นไทยในหมู่เด็กและเยาวชนคนรุ่นใหม่ เพื่อที่จะทำให้ความเป็นไทยได้รับการสืบทอด สืบสาน และก้าวไปสู่การพัฒนาในทุกด้านอย่างยั่งยืน อันเป็นการปฏิบัติบูชาเพื่อน้อมถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระองค์ท่านตลอดไป
กองสารนิเทศ สป.มท.
วันที่ 23 ต.ค. 2566