ภาพเก่าเล่าอดีต

“ขุนพันธ์ฯ ดาบแดง” นายตำรวจเลือดใต้เข้มข้น ฉายาสะท้านเมือง


13 ตุลาคม 2023, 11:46 น.

 

“ขุนพันธ์ฯ ดาบแดง” นายตำรวจเลือดใต้เข้มข้น ฉายาสะท้านเมือง

 

 

วันหนึ่งในปี พ.ศ. ๒๔๙๓ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยเดินทางไปตรวจราชการที่จังหวัดพัทลุง เมื่อผ่านหน้าสถานีตำรวจภูธร รัฐมนตรีก็สะดุ้งตกใจ หน้าสถานีมีไม้ปักอยู่ บนปลายสุดของไม้เสียบศีรษะ เลือดแห้งกรัง รัฐมนตรีถามผู้ว่าราชการจังหวัด

“นั่นอะไร?”

“เสือผัด แก้วเอียด เขาเป็นโจร”

“ทำไมตัดหัวเขามาปักอย่างนี้?”

“เพื่อปรามพวกโจรผู้ร้าย”

“ใครเป็นคนทำ?”

“ตำรวจ”

“เอาออกไป ป่าเถื่อนเหลือเกิน”

“เอาออกไม่ได้ เขาไม่ยอม”

“ใครไม่ยอม ?”

ผู้ว่าราชการจังหวัดตอบว่า “ขุนพันธ์ฯ ดาบแดง”

 

 

บุรุษฉายา ขุนพันธ์ฯ ดาบแดง มีนามเดิมว่า บุตร พันธรักษ์ เป็นชาวใต้โดยกำเนิด เกิดที่บ้านอ้ายเขียว ตำบลดอนตะโก อำเภอท่าศาลา จังหวัดนครศรีธรรมราช ในปี พ.ศ. ๒๔๔๖ เรียนชั้นประถมที่โรงเรียนวัดสวนป่าน อำเภอเมืองนครศรีธรรมราช เมื่อจบชั้นประถมปีที่ ๓ ซึ่งเป็นชั้นสูงสุดของโรงเรียน ก็ไปเรียนต่อชั้นมัธยมที่โรงเรียนวัดท่าโพธิ์ (ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็นโรงเรียนเบญจมราชูทิศ) เรียนชั้นมัธยมไม่จบเพราะป่วยเป็นโรคคุดทะราด รักษาตัวปีกว่าเมื่อหายดีก็เดินทางเข้าไปศึกษาที่กรุงเทพฯ ในวัยสิบสาม อาศัยอยู่กับน้าซึ่งเป็นพระที่วัดส้มเกลี้ยง (วัดราชผาติการาม) เรียนต่อที่โรงเรียนมัธยมวัดเบญจมบพิตร ช่วงนี้เขาเรียนชกมวยและวิชาการต่อสู้จากครูหลายคน อายุยี่สิบสองสมัครเข้าเรียนต่อที่โรงเรียนนายร้อยตำรวจห้วยจระเข้ จังหวัดนครปฐม หลังจากสำเร็จการศึกษาในปี พ.ศ. ๒๔๗๒ ถูกส่งไปรับราชการตำแหน่งนักเรียนทำการนายร้อย ที่กองบังคับการตำรวจภูธรจังหวัดสงขลา ทำงานอยู่หกเดือนก็ได้เลื่อนยศเป็นว่าที่ร้อยตำรวจตรี

 

ปี พ.ศ. ๒๔๗๔ ย้ายไปรับตำแหน่งผู้บังคับหมวดที่กองเมืองจังหวัดพัทลุง ที่นี่เองเป็นจุดเริ่มต้นของงานปราบปรามโจร เวลานั้นพัทลุงเป็นถิ่นโจร ผู้ร้ายสำคัญของจังหวัดพัทลุง คือ เสือสัง ที่แหกคุกมาจากเมืองตรัง เสือสังรูปร่างสูงใหญ่ เป็นคนในสังกัดของกำนันตำบลป่าพยอม อำเภอควนขนุน จังหวัดพัทลุง จึงกำเริบเสิบสาน ทางการไม่กล้าปราบ จนกระทั่ง บุตร พันธรักษ์ ไปประจำการที่นั่น ก็ปราบเสือสังสำเร็จ ทำให้ชาวบ้านเห็นว่าตำรวจใหม่คนนี้เอาจริงและไม่กลัวใคร ผลงานการปราบเสือร้ายทำให้ผู้ใหญ่เห็น และเลื่อนยศเขาเป็นร้อยตำรวจตรี

 

ตลอดเวลาที่ประจำการในภาคใต้ นายตำรวจหนุ่มปราบโจรอย่างไม่ไว้หน้า โจรหลายคนสิ้นชื่อ เช่น เสือเมือง เสือทอง เสือย้อย ฯลฯ ผลงานพิชิตทรชนเหล่านี้ทำให้ได้รับบรรดาศักดิ์เป็น ขุนพันธรักษ์ราชเดช และได้รับการเลื่อนยศเป็นร้อยตำรวจโท ไต่เต้าขึ้นไปเรื่อย ๆ จนเป็นร้อยเอก

 

 

ขุนพันธ์ฯ ไว้หนวดยาวโง้งเป็นเอกลักษณ์ประจำตัว อาวุธคู่กายคือดาบ เล่ากันว่าเป็นดาบที่ตกทอดมาจากพระยาพิชัยดาบหัก เขาเก็บดาบในถุงผ้าแดง ชาวบ้านจึงขนานนามว่า ขุนพันธ์ฯ ดาบแดง หลังเปลี่ยนแปลงการปกครองสยาม โจรชาวมุสลิมนาม อะแวสะดอตาและ อาละวาดแถบจังหวัดนราธิวาส โจรแห่งเขาแกและผู้นี้มีพ่อเป็นโต๊ะใหญ่ เป็นมุสลิมอยู่บ้านตะโล๊ะบากู นราธิวาส ชาวบ้านเชื่อว่าโจรผู้นี้มีวิชาอาคม หนังเหนียว อยู่ยงคงกระพัน พกเครื่องรางของขลังเต็มตัว อะแวสะดอ ตาและ เป็นโจรการเมือง ปล้นฆ่าเฉพาะคนไทยพุทธเท่านั้น ไม่ปล้นจีน ฝรั่ง แขก วิธีฆ่าเหยื่อทารุณยิ่ง แทงกริชเข้าปากแยงคอชักไส้ออกมา ทางการปราบหลายครั้ง แต่ไม่สำเร็จ

 

แต่โจรมุสลิมผู้นี้ก็หนีไม่พ้นเงื้อมมือของขุนพันธ์ฯ ถูกจับได้ ผลงานชิ้นนี้ทำให้ได้รับเลื่อนยศเป็นร้อยตำรวจเอก

 

อาชีพตำรวจทำให้ต้องโยกย้ายไปรับราชการที่จังหวัดต่าง ๆ พ.ศ. ๒๔๘๒ ขุนพันธ์ฯ ถูกย้ายมาเป็นผู้บังคับกองเมืองพัทลุง สามปีต่อมารับตำแหน่งรองผู้กำกับการตำรวจภูธร จังหวัดสุราษฎร์ธานี ปราบโจรหลายราย เช่น เสือสาย เสือเอิบ

 

ปี พ.ศ. ๒๔๘๖ ถูกย้ายไปเป็นผู้กำกับการตำรวจภูธรที่จังหวัดพิจิตร เช่นเคย ขุนพันธ์ฯ ปราบโจรผู้ร้ายจนราบคาบ โจรสำคัญคือ เสือโน้ม ก็สิ้นชื่อเพราะตำรวจดาบแดงผู้นี้ ขุนพันธ์ฯ จึงได้รับเลื่อนยศเป็นพันตำรวจตรี

 

 

ในช่วงปี ๒๔๘๘ พื้นที่แถบจังหวัดชัยนาทและสุพรรณบุรีมีโจรผู้ร้ายชุกชุมมาก จนกรมตำรวจต้องตั้งกองปราบพิเศษขึ้น คัดเลือกเฉพาะตำรวจมือดี พ.ต.ต. สวัสดิ์ กันเขตต์ เป็นผู้อำนวยการกองปราบ ขุนพันธรักษ์ราชเดชเป็นรองผู้อำนวยการ และย้ายไปดำรงตำแหน่งผู้กำกับการตำรวจภูธรจังหวัดชัยนาท ที่ชัยนาท ขุนพันธ์ฯ ดาบแดงปราบปรามเสือร้ายมากมายหลายคน เช่น เสือฝ้าย เสือครึ้ม เสือปลั่ง เสือใบ เสือดำ เสือไหว เสือมเหศวร เสือย่อง เสือผ่อน ฯลฯ

 

เล่ากันว่าเสือฝ้ายพยายามติดสินบนขุนพันธ์ฯ ดาบแดงถึง สองหมื่นบาทเพื่อไม่ให้มายุ่ง แต่นายตำรวจมือปราบเดินหน้าปราบ ปรามโจรอย่างไม่ไว้หน้า ฝีมือเป็นที่ครั่นคร้ามของพวกมิจฉาชีพทั่วไป

 

ขุนพันธ์ฯ ดาบแดงปราบเสือร้ายที่ชัยนาทสามปี ก็ย้ายไปรับตำแหน่งผู้กำกับการตำรวจภูธรที่อยุธยา ชีวิตการงานสะดุดวูบ เนื่องจากถูกใส่ร้ายว่าเป็นโจร หลวงอดุลเดชจรัส อธิบดีกรมตำรวจ ยังเชื่อมือเชื่อใจลูกน้องคนนี้ จึงแต่งตั้งให้ไปดำรงตำแหน่ง ผู้กำกับการตำรวจภูธร จังหวัดกำแพงเพชรในปี พ.ศ. ๒๔๙๒ ที่จังหวัดนั้นขุนพันธ์ฯ ปราบโจรใหญ่ เช่น เสือไกร เสือวัน แห่ง อำเภอพรานกระต่าย

 

วันหนึ่งอธิบดีกรมตำรวจเรียกขุนพันธ์ฯ ดาบแดงไปพบ

 

“ชาวพัทลุงลงชื่อยาวเหยียดส่งจดหมายมาถึงผม ขอให้คุณกลับไปที่นั่น เพื่อปราบโจรผู้ร้าย ตอนนี้คนพัทลุงเดือดร้อนเพราะโจรผู้ร้ายชุกชุม”

“แล้วท่านเห็นว่าอย่างไรครับ?”

“อนุมัติตามที่ชาวบ้านขอ”

 

ขุนพันธ์ฯ ดาบแดงหวนกลับมาเป็นผู้กำกับการตำรวจภูธรจังหวัดพัทลุงอีกครั้ง โจรหลายคนได้ยินว่า ขุนพันธ์ฯ กลับมา ก็เผ่นออกจากพื้นที่ คราวนี้ปราบเสือร้ายสำคัญหลายคนจนสิ้นฤทธิ์ ด้วยวิธีการเฉพาะตัว บางรายขุนพันธ์ฯ ก็ขอให้กลับเนื้อกลับตัว บางรายที่โหดเหี้ยมก็ถูกฆ่าแล้วตัดหัวเสียบประจาน

 

 

รัฐมนตรีเอ่ย “ตัดหัวเสือผัดนี้เป็นรายแรก ?”

 

ผู้ว่าราชการจังหวัดว่า “ไม่ใช่ครับ ยังมีเสือช้อง เป็นโจรในกลุ่มเสือโถ บ้านเกิดอยู่ที่สทิงพระ จังหวัดสงขลา ปล้นทรัพย์ขโมยวัวชาวบ้านอำเภอเมือง อำเภอเขาชัยสน อำเภอสทิงพระ เมื่อเผชิญหน้ากับขุนพันธ์ฯ ก็ถูกยิงตาย แล้วตัดศีรษะไปเสียบประจานไว้ในที่สาธารณะ เพื่อบอกโจรทั้งหลายว่า เอาจริง”

 

“เขาเป็นคนโหดอย่างนี้เสมอหรือ?”

 

“เปล่าครับ ขุนพันธ์ฯ ปราบโจรจริงจัง แต่มิใช่เป็นคนโหดร้าย เขาเป็นตำรวจนักเลง ลูกผู้ชาย ตรงไปตรงมา ตลอดชีวิตขุนพันธ์ฯปราบโจรแบบนักเลงโบราณ ครั้งหนึ่งโจรเสือวัดนก อำเภอสรรคบุรี จังหวัดชัยนาท ท้าให้ขุนพันธ์ฯ ไปพบที่วัดนก ถิ่นของโจร เวลาบ่ายสองโมง พาคนไปได้แค่สามคน…

 

“ขุนพันธ์ฯ รับคำท้า ชวนนายอำเภอกับผู้กองอำเภอสรรคบุรีไปด้วย ทั้งสองคนลังเลเพราะโจรกลุ่มนี้มีถึง ๔๐-๕๐ คน ขุนพันธ์ฯ ถามทั้งสองว่า ‘คุณนับถือศาสนาอะไร?’ ทั้งสองตอบว่า ‘พุทธ’ ขุนพันธ์ฯ ถามต่อว่า ‘เชื่อเรื่องเครื่องรางของขลัง โชคชะตาราศีหรือไม่? ’ ทั้งสองตอบว่าเชื่อ ขุนพันธ์ฯ จึงบอกว่า ‘งั้นก็ไม่ต้องกลัว ไปนั่นแหละดีแล้ว’…

 

“ทั้งสามคนขี่ม้าไปหาพวกโจรถึงที่ ขุนพันธ์ฯ พกไปเฉพาะดาบ มีด และสนับมือ ขณะที่เสือทุกคนมีมีดพก ปืน ลูกระเบิด นอกจากนี้ยังมีปืนกลตั้งขาหยั่ง พวกโจรกระจายกำลังไปทั่วเขตวัด แต่ขุนพันธ์ฯ ไม่แสดงความกลัวแต่อย่างใด ความกล้าแบบนักเลงของขุนพันธ์ฯ ดาบแดงชนะใจพวกเสือวัดนก ทำให้พวกนี้เลิกทำชั่ว ขุนพันธ์ฯ ปราบโจรแบบนักเลง ถ้าโจรคนใดสัญญาว่าจะเลิกเป็นโจร ก็ให้โอกาสใหม่ ถ้าโจรร้องขอชีวิต ก็จะไม่ฆ่า…”

 

ผู้ว่าราชการจังหวัดพัทลุงกล่าวกับรัฐมนตรี “ตอนปี ๒๔๗๕ มีรายหนึ่งคือเสือคง หากินอยู่แถวพัทลุง ฆ่ากำนันตาย ประกาศท้าขุนพันธ์ฯ ไปชกกัน ทางการต้องการจับตาย แต่เมื่อจับมันได้ ขุนพันธ์ฯ กลับไว้ชีวิตมัน ผมต่อว่าขุนพันธ์ฯ ว่า คุณไว้ชีวิตมันได้ยังไง เขาตอบว่า ‘ทำไม่ลง เสือคงไม่สู้ ไม่มีปืน มันยกมือไหว้ขอชีวิต’ หลังจากนั้นเสือคงก็ถูกศาลพิพากษา จำคุกยี่สิบปี

 

“ครั้งหนึ่งขุนพันธ์ฯ จับเสือสายได้ที่สุราษฎร์ธานี เสือสายได้รับบาดเจ็บสาหัสจากการต่อสู้ ตอนที่คุมตัวทางเรือไปส่งจังหวัด อาการของเสือสายร่อแร่ ขุนพันธ์ฯ ก็หาหมอมาช่วยจนรอดชีวิต ทั้งที่จะปล่อยให้ตายก็ไม่มีใครว่า เสือสายขอบุหรี่ ขุนพันธ์ฯ ก็ยื่นให้ เสือสายแพ้น้ำใจ

 

“การตัดหัวเสือร้ายเสียบประจานมิได้ผิดธรรมเนียม มันปฏิบัติกันมาแต่โบราณ เพื่อมิให้ใครถือเป็นแบบอย่าง อีกประการ เขาทำเฉพาะโจรบางรายที่โหดเหี้ยมมากเท่านั้น เขาไม่ยอมให้เอาหัวออก เขาบอกว่าต้องการให้ท่านรัฐมนตรีเห็นว่า เหตุการณ์ที่พัทลุงเป็นอย่างไร ชาวบ้านอยู่กันยังไง ทางการจะได้ดูแลประชาชนดีขึ้น” รัฐมนตรีไม่ได้ขอให้เก็บศีรษะโจรอีก

 

ขุนพันธ์ฯ ดาบแดงประจำการที่พัทลุงได้สองปีเศษ ก็ไปรับตำแหน่งรองผู้บังคับการตำรวจภูธรเขต ๘ จังหวัดนครศรีธรรมราช ในปี พ.ศ. ๒๔๙๔

 

 

ที่นครศรีธรรมราช ก็มีเรื่องเล่ากันว่า ตอนนั้นมีเสือใหญ่อยู่สิบคน เช่น เสือข่อย เสือจ้อย เสือหวน ฯลฯ ขุนพันธ์ฯ ดาบแดงเรียกตัวเสือร้ายเหล่านั้นมาพบ บอกว่า “พวกมึงจงกลับตัวกลับใจเสีย เลิกประพฤติเป็นโจร บวชเป็นพระทั้งหมด”

 

โจรถามว่า “ถ้าเราไม่ทำตาม?”

 

“กูจะยิงทิ้ง” ผลก็คือเสือร้ายหลายคนยอมบวช ยกเว้นเสือข่อยที่ยังฮึกเหิมเป็นโจรร้าย

 

ตำนานเล่าว่าเสือข่อยถูกขุนพันธ์ฯ ดาบแดงยิง แต่ไม่ตายเพราะหนังเหนียวยิงไม่เข้า ขุนพันธ์ฯ จึงให้ลูกน้องใช้ของแหลมแทง สวนทวาร เสือข่อยก็ตาย มันอาจเป็นตำนานเสริมแต่ง แต่บอกว่าขุนพันธ์ฯ เอาจริงเอาจังมากในการปราบโจร

 

ดาบแดงคือดาบแรง เมื่อลงดาบแรง โจรผู้ร้ายก็หายหน้า บ้านเมืองสงบสุข ขุนพันธ์ฯ ดาบแดงทำงานจนถึงปี พ.ศ. ๒๕๐๓ ได้รับเลื่อนตำแหน่งเป็นผู้บังคับการตำรวจภูธรเขต ๘ ประดับยศพลตำรวจตรี และเกษียณในปี พ.ศ. ๒๕๐๗ เป็นตำรวจโดยจิตวิญญาณ เป็นมือปราบที่ทำให้ราษฎรอุ่นใจ

 

ความวุ่นวายในบ้านเมืองล้วนเกิดมาจากคนไม่เคารพกฎหมาย คนไม่ยำเกรงกฎหมาย เพราะผู้รักษากฎหมายหย่อนยาน ชีวิตขุนพันธ์ฯ ดาบแดงชี้ให้เราเห็นว่า ความศักดิ์สิทธิ์ของกฎหมายอยู่ที่ผู้รักษากฎหมาย เมื่อเอาจริง สันติสุขก็ปรากฏขึ้นเอง

 

หมายเหตุ

พล.ต.ต. ขุนพันธรักษ์ราชเดช ถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ ๕ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๔๙ ที่บ้านในจังหวัดนครศรีธรรมราช อายุ ๑๐๓ ปี

 

ข่าวในหมวดเดียวกัน

เพิ่มเติม...

การเมือง

คอลัมนิสต์

คมในความ

มหาราษฎร์ Shorts

ภาพเก่าเล่าอดีต

ไฮไลท์

ข่าวประชาสัมพันธ์

ตำรวจ ทหาร อัยการ ศาล คุก

ท่องเที่ยว

ศาสนา

สุขภาพ

แวดวงนักรบ

สังคม

บทบาทบุคคล

< กลับหมวดภาพเก่าเล่าอดีต

เรื่องล่าสุด