ข่าวประชาสัมพันธ์

ปลัดมหาดไทย เปิดการอบรมหลักสูตรนักปกครองระดับสูง รุ่นที่ 81 พร้อมบรรยายพิเศษ “ทำไมต้อง Change for Good”


27 กันยายน 2023, 9:53 น.

 

ปลัดมหาดไทย เปิดการอบรมหลักสูตรนักปกครองระดับสูง (นปส.) รุ่นที่ 81 พร้อมบรรยายพิเศษ “ทำไมต้อง Change for Good” เน้นย้ำ ผู้อบรม นปส. ทุกคนคือผู้นำที่ต้องเป็นรวงข้าวสุกโน้มเข้าหาประชาชน น้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง สร้างทีมที่เข้มแข็ง เพื่อประชาชนมีความสุข ประเทศชาติมั่นคงและยั่งยืน

 

 

วันนี้ (26 ก.ย. 66) เวลา 07.00 น. ที่ห้องประชุม War room ชั้น 2 ศาลาว่าการกระทรวงมหาดไทย นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานในพิธีเปิดโครงการศึกษาอบรมหลักสูตรนักปกครองระดับสูง (นปส.) รุ่นที่ 81 พร้อมบรรยายพิเศษในหัวข้อ “ทำไมต้อง Change for Good” ผ่านระบบประชุมออนไลน์ (Zoom Cloud Meeting) ไปยังศูนย์ศึกษาและพัฒนาชุมชนจังหวัดนครนายก โดยมี รศ.วรวรรณ โรจนไพบูลย์ ผศ.พิเชฐ โสวิทยสกุล ผู้ช่วยปลัดกระทรวงมหาดไทย นายบุญธรรม ถาวรทัศนกิจ ผู้อำนวยการสถาบันดำรงราชานุภาพ คณาจารย์ และผู้เข้ารับการอบรม ร่วมรับฟัง

 

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า หลักสูตรนักปกครองระดับสูง (นปส.) เป็นหลักสูตรที่กระทรวงมหาดไทยมีความภาคภูมิใจ เพราะเป็นหลักสูตรแรกของประเทศไทยที่ได้ริเริ่มให้มีการศึกษาอบรมข้าราชการเพื่อให้มีสมรรถนะการเป็นผู้บริหารระดับสูงของส่วนราชการ จนได้รับการยอมรับจากสำนักงาน ก.พ. ว่า “ผู้ที่ผ่านการอบรมหลักสูตรนี้จะมีคุณสมบัติในการดำรงตำแหน่งผู้บริหารระดับสูงได้” ซึ่งปัจจุบันกระทรวงมหาดไทยได้ดำเนินการฝึกอบรมมาจนถึงรุ่นที่ 81 แล้ว ซึ่งตนหวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะได้เห็นผู้ผ่านการฝึกอบรมนักปกครองระดับสูงรุ่นนี้เป็นนักปกครองระดับสูง หรือผู้บริหารระดับสูง ที่มีสมรรถนะสูง ดังที่ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย (มท.1) ท่านได้มอบนโยบายและแนวทางทำงานที่สำคัญไว้ก็คือว่า “สั่งงานวันนี้ ต้องเสร็จเมื่อวาน” ซึ่งจากประโยคดังกล่าวนั้น สะท้อนนัยสำคัญที่ถือเป็นจุดอ่อนของข้าราชการจนกลายเป็นปัญหาของระบบการทำงานราชการของไทย เพราะข้าราชการไทยถูกฝึกให้คิด ให้ทำ เฉพาะเท่าที่ได้รับคำสั่ง เราไม่ได้ถูกฝึกมาเพื่อกระตุ้นให้คิด ให้หาคำตอบ จึงเป็นจุดอ่อนที่ทำให้ประเทศไทยมีปัญหาในเชิงระบบ ดังนั้นในฐานะของผู้บังคับบัญชา เราอยากเห็นลูกน้องหรือผู้ใต้บังคับบัญชาของเรา ทำสิ่งที่ดี Change for Good ให้กับสังคมโดยที่ไม่ต้องสั่ง ช่วยกันคิด ริเริ่ม นำเสนอผู้บังคับบัญชาให้ทำในสิ่งที่ดีที่พวกเราคิดและเสนอ

 

 

“จึงเป็นที่มาของการอบรมหัวข้อ “ทำไมต้อง Change for Good” ในหลักสูตรนักปกครองระดับสูง (นปส.) นี้ เพราะผู้นำในระบบราชการมีหน้าที่ในการขับเคลื่อนดูแลสังคมให้มีความสงบสุข ดูแลทุกคนไม่ให้มีใครถูกทิ้งไว้ข้างหลัง โดยเฉพาะผู้ยากไร้ ผู้ด้อยโอกาส ที่เราต้องทำให้ทุกคนมีโอกาสที่ดีของชีวิตในการได้รับการพัฒนา ยกระดับคุณภาพชีวิตด้วยตัวเอง จึงขอให้พวกเรามีหัวใจนักปราชญ์ มีหัวใจของนักวิทยาศาสตร์ และมีหัวใจของพุทธศาสนิกชนที่ดี คือ เมื่อได้รับข้อมูลแล้วต้องคิด วิเคราะห์ อย่างเป็นระบบ อย่างมีเหตุผล เพราะประเทศไทยจะดีขึ้นอย่างยั่งยืนได้ ต้องอาศัยจิตสำนึกของข้าราชการที่ดีในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งพระองค์ทรงมีพระราชประสงค์ที่อยากเห็นประชาชนคนไทยมีความสุข ประเทศชาติมีความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน และมีเอกราชความเป็นปึกแผ่น โดยมีผู้นำในระบบราชการทำหน้าที่เป็นผู้นำการขับเคลื่อนบูรณาการสร้างการมีส่วนร่วมของพี่น้องประชาชน เพื่อนำไปสู่ความสำเร็จ คือ “ประชาชนทุกคนมีความสุขอย่างยั่งยืน” ซึ่งการทำให้พี่น้องประชาชนมีส่วนร่วมนั้นต้องอาศัยข้าราชการที่ประพฤติตนเป็นเหมือน “รวงข้าวสุกโน้มตัวเข้าหาประชาชน” หรือ “เข้าหาแผ่นดิน” โดยมีภาคีเครือข่ายลงไปปลุกเร้าและไปสร้างสิ่งที่ดีของสังคมไทย นำสิ่งที่เคยมีในอดีตให้กลับมา เพราะอดีตเรามีผู้นำตามธรรมชาติที่เข้มแข็ง เช่น เจ้าอาวาสที่เป็นทั้งผู้นำชุมชนและเป็นทั้งศูนย์รวมจิตใจของคนไทย อีกทั้งเป็น “ครู คลัง ช่าง หมอ” จนทำให้กระทรวงมหาดไทยได้ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ตามโครงการ “วัด ประชา รัฐ สร้างสุข” และตามโครงการ “บทบาทในการเกื้อหนุนระหว่างวัดและชุมชน” โดยได้รับเมตตาจากเจ้าประคุณสมเด็จพระมหาวีรวงศ์ กรรมการมหาเถรสมาคม เลขานุการสมเด็จพระสังฆราช ประธานคณะกรรมการฝ่ายสาธารณูปการของมหาเถรสมาคม และเจ้าประคุณสมเด็จพระมหาธีราจารย์ กรรมการมหาเถรสมาคม ประธานคณะกรรมการฝ่ายสาธารณสงเคราะห์ของมหาเถรสมาคม รวมถึงการลงนาม MOU ร่วมกับกับองค์การสหประชาชาติประจำประเทศไทย ประกาศเจตนารมณ์ “76 จังหวัด 76 คำมั่นสัญญา เพื่อความเท่าเทียม เพื่อความยั่งยืน” โดยผู้ว่าราชการจังหวัดทั้ง 76 จังหวัด ด้วยการขับเคลื่อนไปสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) ทั้ง 17 เป้าหมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งข้อที่ 17 คือ การเป็นหุ้นส่วน (Partnership) ซึ่งกระทรวงมหาดไทยให้ความสำคัญและเสริมสร้างความตระหนักรู้กับข้าราชการอย่างต่อเนื่อง เพราะงานทุกงานจะยั่งยืนได้นั้น เราจะทำโดยคนคนเดียว หรือกลุ่มเดียวไม่ได้ “ต้องเกิดการมีส่วนร่วมของทุกภาคีเครือข่าย” ซึ่ง SDGs นั้น เป็นสิ่งที่นานาชาติได้นำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร มาขยายความ ขยายผล และจัดทำเป็นหลักการที่สำคัญของสากลที่ทุกประเทศสมาชิกของ UN ต่างได้นำมาเป็นเจตจำนงร่วมในการสร้างสรรค์สิ่งที่ยั่งยืนให้กับโลกใบเดียวนี้” นายสุทธิพงษ์ฯ กล่าวในช่วงต้น

 

 

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวต่ออีกว่า พระบรมราชโองการของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชทาน เมื่อปี พ.ศ. 2562 ว่า “ประเทศชาติมั่นคง ประชาชนมีความสุข แก้ไขในสิ่งผิด สืบสานในพระราชปณิธาน ภายใต้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” เป็นหลักชัยที่สำคัญในการขับเคลื่อนการปฏิบัติราชการและสร้างสรรค์สิ่งที่ดีให้เกิดขึ้นกับประเทศชาติบ้านเมืองของพวกเราทุกคน ซึ่งเราต้องยอมรับว่า “มีสิ่งที่ผิดเกิดขึ้นในสังคมไทย” ไม่ว่าจะเป็นการบริหารจัดการในระบบราชการ การบริหารจัดการน้ำ หรือการกระทำใด ๆ ที่บรรพบุรุษไม่ได้ตั้งใจจนเกิดสิ่งที่ผิดขึ้น ดังนั้น การอบรมหลักสูตร นปส. นี้ เป็นการสร้างแรงบันดาลใจให้กับพวกเราในการที่จะสามารถไปทำสิ่งที่ดีร่วมกับภาคีเครือข่าย เพราะในฐานะของผู้บริหารระดับสูง การคิดและตัดสินใจต่าง ๆ จะมีผลต่อองค์กรและประเทศชาติ จึงเป็นหน้าที่สำคัญที่เราจะต้องไปช่วยกันกระตุ้นผู้ใต้บังคับบัญชาในหน่วยงานให้ลุกขึ้นมาทำสิ่งที่ดี ช่วยกันขับเคลื่อนน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อให้เกิดความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน ด้วยอุดมการณ์ ด้วย “Passion” ที่มุ่งมั่น Change for Good ทำสิ่งที่ดี พร้อมทั้งให้ความสำคัญกับภาคีเครือข่าย เพราะว่าเราทุกคนนั้นมีความรู้ความสามารถไม่เท่ากัน จึงต้องเทรนนิ่งหรือโค้ชชิ่งให้คนในทีมเกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ โน้มน้าวจิตใจที่จะเชิญชวนให้มาร่วมกันขับเคลื่อนทำสิ่งที่ดี ควบคู่กับทำ 3 งานสำคัญ (3-R) คือ 1) งานประจำ (Routine Job) 2) งานพิเศษ (Extra Job) 3) การรายงานและการสื่อสาร (Report) เพื่อสร้างความรับรู้ให้กับสังคม ซึ่งทั้งหมดต้องอาศัยการบูรณาการร่วมกันกับภาคีเครือข่าย และ 4 กระบวนการตามหลักการทรงงาน คือ ร่วมพูดคุย ร่วมคิด ร่วมทำ และร่วมรับประโยชน์

 

 

“ขอให้ผู้เข้ารับการอบรม นปส.81 ทุกคนได้ช่วยกันแลกเปลี่ยนเรียนรู้ น้อมนำเอาสิ่งที่ดีงามของบรรพบุรุษของเรา โดยเฉพาะอย่างยิ่งพระราชปณิธานอันแน่วแน่ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่พระองค์ท่านทรงปรารถนาให้ “ประเทศชาติมั่นคง ประชาชนมีความสุข แก้ไขในสิ่งผิด สืบสานในพระราชปณิธาน ภายใต้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” มาใช้เป็นหลักชัยในชีวิตของเรา ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะเกิดขึ้นได้ พวกเราทุกคนต้องช่วยกันเสาะแสวงหาความรู้ แลกเปลี่ยนเรียนรู้ ทำให้ทุกคนและทุกสีที่นั่งอยู่ในห้อง เป็น “สีแห่งความเหนียวแน่น” ที่จะยึดโยงด้วยความรัก ความปรารถนาดี ด้วย Passion ที่จะทำให้ทุกคนมาร่วมเป็นหุ้นส่วน (Paernership) ของการพัฒนาประเทศชาติของเรา เริ่มจากการ “แก้ไขในสิ่งที่ผิดในตัวของเราเองก่อน” แล้วช่วยกันทำให้ “เกิดทีม” ที่เต็มไปด้วยความรัก ความสามัคคี เป็นทีมจิตอาสาและทีมที่เป็นทางการที่มีความเข้มแข็ง เพื่อทำให้ประเทศชาติของเราอยู่ได้ และที่สำคัญยิ่ง คือ การทำให้พวกเราทุกคนได้มั่นใจว่าเราได้ทำหน้าที่ในข้าราชการที่ดีในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ร่วมกันสร้างความภาคภูมิใจความเป็นไทย รับผิดชอบงานทุกงานในทุกอำเภอ ตำบล หมู่บ้าน ร่วมกับทุกหน่วยงานที่รับผิดชอบ ตลอดจนสร้างความสนิทสนมคุ้นเคย กับเพื่อน ๆ ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน เพื่อจะยังประโยชน์ให้เกิดขึ้นกับพี่น้องประชาชน สร้างตัวตนในการเป็นข้าราชการผู้ทำหน้าที่ดูแลทุกข์สุขให้กับพี่น้องประชาชน สมกับที่พวกเราได้มาเป็นส่วนหนึ่งของการอบรมหลักสูตรนักปกครองระดับสูงอันเป็นหลักสูตรที่เก่าแก่ที่สุดของประเทศ และภายหลังการฝึกอบรมแล้วเสร็จ ขอให้ได้ช่วยกันทำให้สังคมไทยเป็นสังคมที่ดีงามร่วมกันอย่างยั่งยืน” นายสุทธิพงษ์ฯ กล่าวในช่วงท้าย

 

กองสารนิเทศ สป.มท.
วันที่ 26 ก.ย. 2566

ข่าวในหมวดเดียวกัน

เพิ่มเติม...

การเมือง

คอลัมนิสต์

คมในความ

มหาราษฎร์ Shorts

ภาพเก่าเล่าอดีต

ไฮไลท์

ข่าวประชาสัมพันธ์

ตำรวจ ทหาร อัยการ ศาล คุก

ท่องเที่ยว

ศาสนา

สุขภาพ

แวดวงนักรบ

สังคม

บทบาทบุคคล

< กลับหมวดข่าวประชาสัมพันธ์

เรื่องล่าสุด