ตำรวจ ทหาร อัยการ ศาล คุก

สืบสวนนครบาล ร่วมกับ สืบ 112 รวบแอร์ราเชน เซียนนักตบมือถือ เหยื่อนับร้อย ความเสียหายนับล้าน


2 กันยายน 2023, 0:55 น.

 

สืบสวนนครบาล ร่วมกับ สืบ 112 รวบแอร์ราเชน เซียนนักตบมือถือ เหยื่อนับร้อย ความเสียหายนับล้าน

 

 

แอร์-ราเชน เซียนนักตบมือถือรางวัลออสก้า ตระเวนก่อเหตุ “หลอกซื้อโทรศัพท์มือถือ” ทั่วเมืองกรุง เหยื่อนับร้อย ความเสียหายนับล้าน แผนประทุษกรรมสุดและแยบยลทำเอา “ผู้การจ๋อ” โปรไฟล์เลอร์นักวิเคราะห์แผนประทุษกรรมชื่อดัง ถึงกับเส้นกระตุก ส่งชุดสืบนครบาลและ นักเรียนสืบรุ่น 112 จับกุมตัวได้ แต่ยังไม่สิ้นสุดการแสดง คนร้ายปล่อยโฮเรียกน้ำตาจระเข้ สร้างสตอรี่ชีวิตรันทดหดหู่ เรียกคะแนนสงสารชุดจับกุม แต่ไม่ได้ผลเมื่อเหล่ากฐินจากผู้เสียหายตามมาดูตัวและให้ข้อมูลกับเจ้าหน้าที่ จนสุดท้ายเจ้าตัวยอมรับ ทำไปเพราะติดพนันและเปย์ ไซด์ไลน์ ล่าสุดผู้การจ๋อติดประกาศเปิดเผยใบหน้า ท่านใดเคยตกเป็นเหยื่อรีบแจ้งเบาะแสมาที่เพจ สืบนครบาล IDMB

 

เมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 2566 พล.ต.อ.ดํารงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผบ.ตร. สั่งการให้ พล.ต.ท.ธิติ แสงสว่าง ผบช.น., พล.ต.ต.นพศิลป์ พูลสวัสดิ์ รอง ผบช.น., พล.ต.ต.ธีรเดช ธรรมสุธีร์ ผบก.สส.บช.น., พ.ต.อ.จักราวุธ คล้ายนิล ผกก.วิเคราะห์ข่าวฯ บก.สส.บช.น., พ.ต.อ.พัชรดนัย การินทร์ ผกก.(สอบสวน) กลุ่มงานสอบสวน บก.สส.บช.น., พ.ต.อ.ธนากร อ่อนทองคำ ผกก.สส.4 บก.สส.บช.น., พ.ต.ต.ธัญพีรสิษฐ์ จุลพิภพ, ร.ต.อ.ศิวัช ยังอุ่น, ร.ต.อ.กฤษณะ ชนิดไทย ร่วมกับเจ้าหน้าที่ สืบนครบาล และเหล่านักเรียนอบรมหลักสูตรสืบสวนคดีอาญา รุ่นที่ 112 ร่วมกันสืบสวนติดตามจับกุมตัว

 

 

นายวิมลสรากร เกตุวันธรรม หรือ นายวัฒนชัย จิตรีเหิม (ชื่อเก่า) ชื่อเล่น แอร์ ชื่อแฝง ราเชน อายุ 29 ปี อยู่บ้านเลขที่ 581/2 ถ.จรัญสนิทวงศ์ แขวงบางขุนศรี เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ ผู้ต้องหา

 

โดยกล่าวว่า  “ลักทรัพย์ผู้อื่นโดยใช้กลอุบาย” ตามหมายจับ 4 หมายจับ ดังนี้ หมายจับศาลอาญาที่ จ.2618/2566 ลงวันที่ 18 ส.ค.2566 ข้อหา “ร่วมกันฉ้อโกงทรัพย์ โดยการแสดงตนเป็นบุคคลอื่น และนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน” พื้นที่ สน.พญาไท, หมายจับศาลจังหวัดธัญบุรีที่ จ.398/2566 ลงวันที่ 29 มิ.ย. 2566 ข้อหา “ฉ้อโกงทรัพย์” พื้นที่ สภ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี, หมายจับศาลจังหวัดธัญบุรีที่ จ.39/2566 ลงวันที่ 25 ม.ค.2566 ข้อหา “ลักทรัพย์ผู้อื่นโดยใช้กลอุบาย” พื้นที่ สภ.ประตูน้ำจุฬา, หมายจับศาลจังหวัดสมุทรปราการ ที่จ.76/2566 ลงวันที่ 5 พ.ค.2566 ข้อหา “ตัวการในข้อหาถ้าการกระทำความผิดทำให้เสียหาย ทำลาย แก้ไข เปลี่ยนแปลง หรือเพิ่มเติมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ของผู้อื่นโดยมิชอบเป็นการกระทำโดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายต่อข้อมูลคอมพิวเตอร์หรือระบบคอมพิวเตอร์ที่เกี่ยวกับการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของประเทศ ความปลอดภัยสาธารณะ ความมั่นคงในทางเศรษฐกิจของประเทศ หรือการบริการสาธารณะหรือเป็นการกระทำต่อข้อมูลคอมพิวเตอร์หรือระบบคอมพิวเตอร์ที่มีไว้เพี่อประโยชน์สาธารณะ” พื้นที่ สภ.สำโรงเหนือพบประวัติต้องโทษคดีในลักษณะเดียวกันตั้งแต่ปี 2564 ถึงปัจจุบันอีกกว่า 11 คดี ในพื้นที่สน.ห้วยขวาง, สน.บุคคโล, สน.สำราญราษฎร์, สน.พญาไท, สน.บางกอกน้อย, สน.โชคชัย, สน.บางยี่เรือ, สภ.คลองหลวง, สภ.ประตูน้ำจุฬา และ สภ.สำโรงเหนือ

 

 

พฤติการณ์กล่าวคือ สุดแพรวพราว แอร์-ราเชน หรือ นายวิมลสรากร เกตุวันธรรม นักต้มตุ๋นรางวัลออสก้าอาชญากรสุดแสบที่ตระเวน “หลอกซื้อโทรศัพท์มือถือ” มีผู้เสียหายตกเป็นเหยื่อทั่วกรุงเทพฯ ไม่ต่ำกว่า 100 ราย ความเสียหายรวมไม่ต่ำกว่าล้านบาท โดยมีแผนประทุษกรรมสุดแยบยล เริ่มต้นจากเจ้าตัวจะแฝงตัวอยู่ในเฟสบุ๊คตามกลุ่มซื้อขายโทรศัพท์ จากนั้นจะหาเหยื่อที่ “โพสขายโทรศัพท์” จากนั้นจะเข้าไปสนทนาติดต่อขอซื้อโดยวิธีการ “ชนมือ” หรือการนัดพบเพื่อซื้อขายนั้นเอง เจ้าตัวจะเลือกเหยื่อที่อยู่ในพื้นที่ จ.กรุงเทพฯ ซึ่งไม่ไกลจากที่พัก จากนั้นเมื่อคนร้ายได้นัดหมายเจอกันกับเหยื่อ และถึงขั้นตอนการจ่ายเงินซื้อโทรศัพท์จากเหยื่อ คนร้ายจะทำทีกดโทรศัพท์โอนเงิน แต่จะโอนในรูปแบบ “โอนล่วงหน้า” กรรมวิธีนี้แนบเนียนเพราะหน้าที่ทำรายการจะมีลักษณะคล้ายคลึงกับการโอนเงินจริงๆ และแม้จะไม่มีเงินในบัญชีก็สามารถกดโอนล่วงหน้าเช่นนี้ได้

 

โดยไคล์แม็กส์จะอยู่ที่เมื่อคนร้ายกดโอนเงินล่วงหน้าสำเร็จแล้ว แอปพลิเคชันธนาคารจะขึ้นว่าการโอนเงินล่วงหน้าสำเร็จ คนร้ายจะนำภาพสลิปโอนเงินซึ่งเป็น “สลิปปลอม” โชว์ให้เหยื่อดู เสมือนมีการโอนเงินให้เหยื่อแล้วจริงๆ ซึ่งเมื่อเหยื่อเห็นว่าคนร้ายได้โอนเงินให้แล้วก็ส่งมอบโทรศัพท์ให้ไปเหมือนเป็นการปิดการขายแล้วแยกย้ายกันไป ซึ่งกว่าเหยื่อจะรู้ตัวอีกทีก็ต่อเมื่อได้ตรวจสอบเงินในบัญชีของตัวเองโดยละเอียดเท่านั้น เรียกว่าการแสดงหน้างานของคนร้ายเข้าขั้นโคตรเซียน

 

 

โดยในปัจจุบัน เหล่าผู้เสียหายผุดขึ้นมาอย่างไม่หยุดไม่หย่อนจนตอนนี้ไม่ต่ำกว่า 100 รายแล้ว พล.ต.ต.ธีรเดช ธรรมสุธีร์ ผบก.สส.บช.น. ส่งชุดสืบนครบาล และ สืบ112 ติดตามไล่ล่าคนร้ายรายนี้ แต่ความฉลาดล้ำลึกของเจ้าตัวไม่เหมือนอาชญากรทั่วไปเพราะเคยถูกกลุ่มผู้เสียหายไล่ล่า และเคยถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจจับกุมตัวมาแล้ว 1 ครั้ง ทำให้เจ้าตัวมีทักษะการหลบหนีที่ไม่ธรรม จนผู้การจ๋อต้องงัดแผน “ล่อเข้” สั่งการชุดสืบสวนกว่า 10 ราย แฝงตัวเป็นพ่อค้าขายโทรศัพท์ในเฟสบุ๊ค กระทั่ง “ปลากินเบ็ด” คนร้ายได้ติดต่อมาซื้อโทรศัพท์จากทีมสืบสวน กระทั่งนัดหมายและสามารถจับกุมตัวคนร้ายได้ที่ บริเวณร้านอาหารตามสั่งหน้า สถานีขนส่งผู้โดยสารกรุงเทพฯ (สายใต้เก่า) แขวงอรุณอมรินทร์ เขตบางกอกน้อย จ.กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 31 ส.ค. 2566 เวลาประมาณ 20.40 น.

 

ในชั้นจับกุม นายวิมลสรากร เกตุวันธรรม ให้การรับสารภาพตลอดข้อกล่าวหา โดยให้การว่า “ตนเองเริ่มเดินสายโจรตั้งแต่ที่พ่อของตนเองเสียชีวิตและถูกบรรดาญาติพี่น้อง เอาเงินประกันไปหมด โดยแรกเริ่มได้ไอเดียจากการลองโอนเงินแบบ โอนล่วงหน้า จึงเกิดไอเดียในการหลอกลวงคนอื่น โดยเงินที่ได้มาจะนำไปเล่นการพนัน และนำไปเปย์ให้กับสาวไซด์ไลน์ และยอมรับตนเองก่อเหตุลักษณะนี้มาหลายปีแล้ว ในครั้งแรกๆ การแสดงไม่เนียนถูกจับได้ก็ถูกไล่กระทืบ บางครั้งถึงกับต้องกราบเท้าเจ้าของโทรศัพท์เพื่อให้รอดจากสถานการณ์ ซึ่งสั่งสมมาเป็นประสบการณ์จนปัจจุบัน ซึ่งมั่นใจว่าทำได้อย่างแนบเนียน ซึ่งตนเองพยายามใช้ชีวิตอย่างแนบเนียนมาตลอดไม่คิดว่าจะมาถูกตำรวจจับได้จากการล่อซื้อแบบนี้” หลังจับกุมตัว ได้นำส่งพนักงานสอบสวน สภ.ประตูน้ำจุฬา ดำเนินคดีตามกฏหมาย

 

 

พล.ต.ต.ธีรเดช ธรรมสุธีร์ ผบก.สส.บช.น. กล่าวว่า “เราไม่ปักใจเชื่อในคำให้การของผู้ต้องหา รวมไปถึงไม่ได้คล้อยตามน้ำตาจระเข้ของผู้ต้องหารายนี้ เพราะพยานหลักฐานจากฝั่งผู้เสียหายจำนวนมากนั้นมัดแน่น และที่สุดอันตรายคือ แผนประทุษกรรมการที่คนร้ายเลือกเปิดเผยใบหน้ามาเฟสทูเฟสในการซื้อขาย การตีเนียนกดโทรศัพท์โอนเงินต่อหน้าเหยื่อให้เห็นหน้าแอปพลิเคชันธนาคารและหน้าการโอนเงินล่วงหน้าสำเร็จ บวกกับลูกล้อลูกชนแต่งตัวเป็นพนักงานทำทีเร่งรีบ ล้วนเป็นแผนการของคนร้ายรายนี้ทั้งสิ้น ทำเอาเหยื่อเกือบทุกราย ถูกเชือดแบบไม่รู้ตัว และความล้ำลึกของแผนการคนร้ายรายนี้ยังไม่จบสิ้น เพราะเมื่อเหยื่อเดินทางไปแจ้งความ เหยื่อจะมักแจ้งความเพียงว่าตนเองถูก ฉ้อโกง ซึ่งแท้จริงเป็นพฤติการณ์เข้าข่าย ลักทรัพย์ผู้อื่นโดยใช้กลอุบาย ผมไม่ต้องการให้คนร้ายรายนี้เพ่นพ่านในสังคม ขอประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนผู้ที่เคยตกเป็นเหยื่อหรือที่กำลังจะตกเป็นเหยื่อสามารถแจ้งมาได้ที่ บก.สส.บช.น. ทางโทรศัพท์หรือช่องทางเฟสบุ๊คเพจ สืบสวนนครบาล IDMB เรามีเจ้าหน้าที่ประสานงานตลอด 24 ชั่วโมง แม้ไม่ใช่คดีอุกฉกรรจ์ แต่หากเป็นความเดือดร้อนของประชาชน เราทำทันที ตามนโยบายของ พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผบ.ตร. และ พล.ต.ท.ธิติ แสงสว่าง ผบช.น.”

 

สุรเชษฐ ศิลานนท์ รายงาน

ข่าวในหมวดเดียวกัน

เพิ่มเติม...

การเมือง

คอลัมนิสต์

คมในความ

มหาราษฎร์ Shorts

ภาพเก่าเล่าอดีต

ไฮไลท์

ข่าวประชาสัมพันธ์

ตำรวจ ทหาร อัยการ ศาล คุก

ท่องเที่ยว

ศาสนา

สุขภาพ

แวดวงนักรบ

สังคม

บทบาทบุคคล

< กลับหมวดตำรวจ ทหาร อัยการ ศาล คุก

เรื่องล่าสุด