สนค. จัดงานการประชุมวิชาการนานานาชาติด้านดัชนีเศรษฐกิจการค้า ครั้งที่ 2 ประจำปี 2566 หัวข้อ “Challenges of Price Data Collection in a Semi – Virtual Era”
นายวิชานัน นิวาตจินดา รองผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยว่า สนค.จัดงานการประชุมวิชาการนานาชาติด้านดัชนีเศรษฐกิจการค้า ครั้งที่ 2 ประจำปี 2566 (Conference on Economic and Trade Indices : CETI 2023) ในหัวข้อ “Challenges of Price Data Collection in a Semi – Virtual Era” โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ เทคนิคการจัดทำ และปัญหาอุปสรรคต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นจากการดำเนินงาน แนวทางในการพัฒนาการจัดทำดัชนีเศรษฐกิจการค้าให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล รวมทั้งสร้างเครือข่ายระหว่างนักวิชาการ และผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการจัดทำเครื่องชี้วัดด้านเศรษฐกิจการค้า โดยเฉพาะในกลุ่ม CLMVT อันจะเป็นการสร้างความเชื่อมั่นทางวิชาการในระดับภูมิภาค ส่งผลให้การจัดทำดัชนีเศรษฐกิจการค้ามีความน่าเชื่อถือมากยิ่งขึ้น ตลอดจนเป็นการส่งเสริมยุทธศาสตร์ด้านความสัมพันธ์กับประเทศต่าง ๆ
สำหรับหัวข้อของการจัดงานในครั้งนี้ คือ “Challenges of Price Data Collection in a Semi – Virtual Era” มีการนำเสนอผลงานซึ่งส่วนใหญ่เป็นเรื่องวิธีการใหม่ ๆ ในการจัดเก็บข้อมูลราคา ซึ่งนำเสนอโดยผู้เชี่ยวชาญจากหลายประเทศ โดยผลงานจากหน่วยงานในประเทศไทย ได้แก่ สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า และธนาคารแห่งประเทศไทย รวม 3 หัวข้อ และผู้นำเสนอผลงานจากต่างประเทศผ่านทางระบบออนไลน์ จำนวน 7 หัวข้อ สำหรับผู้เข้าร่วมการประชุมเป็นผู้แทนจากหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และสถาบันการศึกษา จำนวนรวมมากกว่า 200 คน ทั้งจากในประเทศและต่างประเทศ โดยผู้แทนจากประเทศต่างๆ เข้าร่วมประชุมผ่านระบบออนไลน์ จำนวน 19 ประเทศ ได้แก่ ประเทศกัมพูชา ลาว พม่า เวียดนาม มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย สิงคโปร์ เกาหลีใต้ ฮ่องกง ญี่ปุ่น จีน บรูไน บังคลาเทศ เนปาล แอฟริกาใต้ แคนาดา เบลเยียม และฟินแลนด์
นายวิชานัน นิวาตจินดา กล่าวว่าตลอดระยะเวลากว่า 80 ปีที่ผ่านมา กระทรวงพาณิชย์ได้จัดทำดัชนีเศรษฐกิจการค้าต่าง ๆ โดยเฉพาะดัชนีราคาผู้บริโภคซึ่งเป็นตัวชี้วัดอัตราเงินเฟ้อของประเทศ เพื่อเป็นเครื่องมือหลักที่สะท้อน
การเปลี่ยนแปลงค่าครองชีพของประชาชน รวมทั้งเป็นหนึ่งในตัวชี้วัดที่สำคัญที่ผู้ดำเนินนโยบายภาครัฐต้องติดตามอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้การดำเนินนโยบายเป็นไปอย่างถูกต้องและมีความเหมาะสม ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพทางเศรษฐกิจในด้านต่าง ๆ ดังนั้น กระทรวงพาณิชย์ ไม่เพียงแต่ต้องรักษามาตรฐานการจัดทำเงินเฟ้อและเครื่องชี้วัดเศรษฐกิจการค้าให้ดีที่สุด แต่ยังต้องยกระดับองค์ความรู้ภายใต้รูปแบบการค้าและพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป ดังนั้น การแลกเปลี่ยนองค์ความรู้กับผู้เชี่ยวชาญจากประเทศต่าง ๆ จะเป็นแนวทางสำคัญในการยกระดับความรู้ที่จำเป็นในการจัดทำดัชนีฯ ให้สอดคล้องกับบริบทที่เปลี่ยนแปลงไป
รอง ผอ. สนค. ได้กล่าวทิ้งท้ายว่า กระบวนการพัฒนาไม่ใช่เรื่องง่าย แต่หากเรามีการแสวงหาความรู้ใหม่ ๆ อยู่เสมอ การผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงย่อมสามารถเกิดขึ้นได้จริง แต่ทั้งนี้จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกส่วนที่เกี่ยวข้อง ซึ่งการประชุมครั้งต่อไปอาจมีการสับเปลี่ยนหมุนเวียนให้ประเทศอื่น ๆ ในกลุ่ม CLMVT เป็นเจ้าภาพ เพื่อให้กลไกการขับเคลื่อนความร่วมมือทางวิชาการนานาชาติเป็นไปอย่างต่อเนื่อง
———————————————
สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า
กระทรวงพาณิชย์
24 สิงหาคม 2566