วช. ร่วมกับ กมธ.การอุดมศึกษาฯ และ มรภ.สกลนคร ส่งมอบนวัตกรรมเพื่อยกระดับผลผลิตทางการเกษตร ให้กับชุมชนท้องถิ่นในจังหวัดสกลนคร
เมื่อวันที่ 22 มิถุนายน 2566 สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ร่วมกับ คณะกรรมาธิการการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม วุฒิสภา, จังหวัดสกลนคร และมหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร (มรภ.สกลนคร) จัดพิธีส่งมอบนวัตกรรมและเทคโนโลยี ในโครงการ “การยกระดับผลผลิตทางการเกษตรในพื้นที่แล้งด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยีที่เหมาะสมกับชุมชนท้องถิ่นจังหวัดสกลนคร” ให้แก่วิสาหกิจชุมชนต่างๆ ในพื้นที่จังหวัดสกลนคร เพื่อยกระดับผลผลิตทางการเกษตรในพื้นที่แล้งด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยีที่เหมาะสม โดยมี พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง ประธานคณะกรรมาธิการการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม วุฒิสภา มอบหมายให้ รศ.ศักดิ์ไทย สุรกิจบวร รองประธานคณะอนุกรรมาธิการบูรณาการบริการวิชาการอุดมศึกษาฯ เป็นประธาน พร้อมนี้ ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (ผอ.วช.) มอบหมายให้ นายธีรวัฒน์ บุญสม ผู้อำนวยการกองส่งเสริมและสนับสนุนการวิจัยและนวัตกรรม ร่วมการส่งมอบนวัตกรรมดังกล่าว และนางจุรีรัตน์ เทพอาสน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดสกลนคร มอบหมายให้ นายกฤษฎิ์ โสมปัดทุม นายอำเภอเต่างอย เป็นผู้แทนรับมอบนวัตกรรม ทั้งนี้ ผศ.ชาคริต ชาญชิตปรีชา รักษาราชการแทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร พร้อมด้วยผู้บริหารหน่วยงานต่างๆ ในพื้นที่ให้การต้อนรับ ณ ที่ว่าการอำเภอเต่างอย จังหวัดสกลนคร
รศ.ศักดิ์ไทย สุรกิจบวร รองประธานคณะอนุกรรมาธิการบูรณาการบริการวิชาการอุดมศึกษาฯ กล่าวว่า โครงการนี้ได้รับทุนอุดหนุนการทำกิจกรรมส่งเสริมและสนับสนุนการวิจัยและนวัตกรรมเพื่อความสามารถในการแข่งขันของประเทศ เครือข่ายยกระดับศักยภาพผลิตภัณฑ์ชุมชน ประจำปี 2565 จาก (วช.) โดยเน้นโครงการที่ตอบโจทย์ความต้องการของพื้นที่ โดยมี ผศ.ชาคริต ชาญชิตปรีชา รักษาราชการแทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร เป็นหัวหน้าโครงการฯ ในการดำเนินงานที่ผ่านมา คณะกรรมาธิการการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม วุฒิสภา ได้มีการติดตามผลการดำเนินงานของโครงการเห็นความตั้งใจของหัวหน้าโครงการฯ การสนับสนุนของส่วนราชการต่างๆ ในจังหวัดสกลนคร ที่สำคัญยิ่งคือ ความร่วมมือร่วมใจของพี่น้องชาวตำบลอุ่มจาน ตำบลเต่างอย และตำบลบึงทวาย ที่ช่วยกันดำเนินกิจกรรมโครงการนี้สำเร็จลุล่วงไปได้ด้วยดี ในการขยายผลองค์ความรู้จากผลงานวิจัยและนวัตกรรมไปถ่ายทอดขยายผลเพื่อการเพิ่มประสิทธิภาพในกระบวนการผลิต การยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน ซึ่งนวัตกรรมที่จะทำการส่งมอบนี้ล้วนเป็นฝีมือของนักวิจัยไทย ที่พัฒนาโดยทีมคณะนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยราชภัฎสกลนคร
นายกฤษฎิ์ โสมปัดทุม นายอำเภอเต่างอย กล่าวว่า พื้นที่อำเภอเต่างอยและอำเภอกุสุมาลย์ จังหวัดสกลนคร มีปัญหาสภาพพื้นดินที่แห้งแล้ง ขาดน้ำ เนื่องจากสภาวะทางฤดูกาลซึ่งเป็นปัจจัยในการผลิตและอีกทั้งยังขาดการจัดการทรัพยากรที่รองรับสถานการณ์ดังกล่าว ซึ่งทำให้เกษตรกรจำเป็นต้องหารายได้จากการประกอบอาชีพเสริม เช่น การรวมกลุ่มจัดตั้งเป็นวิสาหกิจเพื่อรองรับงบประมาณสนับสนุนจากภาครัฐ โดยมีกลุ่มแปรรูปผลผลิตทางการเกษตร แต่กลุ่มยังขาดศักยภาพในการแข่งขันหลายด้าน เช่น องค์ความรู้ สิ่งที่เอื้ออำนวยหรือปัจจัยการผลิต มาตรฐานการผลิต การตลาด เป็นต้น จึงต้องนำองค์ความรู้ด้านต่างๆ เข้าไปพัฒนาชุมชนดังกล่าว เพื่อให้ยกระดับผลผลิตทางการเกษตร กลุ่มมีรายได้เพิ่มขึ้น การดำรงชีวิตที่ดีขึ้น เกิดความเข้มแข็งสามารถแข่งกับตลาดภายนอกได้ ในวันนี้นับเป็นโอกาสอันดีของพี่น้องเกษตรกรชาวจังหวัดสกลนคร ที่จะได้รับองค์ความรู้จากการวิจัยและนวัตกรรมที่สนับสนุนโดย (วช.) ที่มาช่วยในการบริหารจัดการทรัพยากรท้องถิ่นผ่านทางมหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร ที่นำนวัตกรรมและเทคโนโลยีจากพลังงานทดแทนเพื่อช่วยในการเพิ่มประสิทธิภาพ ในกระบวนการผลิตให้ได้มาตรฐาน ยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนให้สูงขึ้น
ผศ.ชาคริต ชาญชิตปรีชา รักษาราชการแทนอธิการบดี มรภ.สกลนคร กล่าวว่า จากการที่ (วช.) ได้ส่งเสริมและสนับสนุนการวิจัยและนวัตกรรม โครงการเครือข่ายวิจัยและนวัตกรรมเพื่อความสามารถในการแข่งขันของประเทศ : เครือข่ายยกระดับศักยภาพผลิตภัณฑ์ชุมชนเพื่อนำผลการวิจัยและนวัตกรรมไปใช้ประโยชน์ในการแก้ปัญหา พัฒนาประเทศ แลถ่ายทอดขยายผลองค์ความรู้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในกระบวนการผลิต การยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนให้สูงขึ้น โดยกลไกบูรณาการเชิงพื้นที่ร่วมกับหน่วยงานพัฒนา หน่วยงานภาคปฏิบัติในพื้นที่ และหน่วยงานร่วมขยายผลและสนับสนุนผลผลิตการวิจัยเพื่อให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน ดังนั้น (วช.) จึงได้อนุมัติทุนอุดหนุนให้มหาวิทยาลัยราชภัฎสกลนคร ดำเนินโครงการ “การยกระดับผลผลิตทางการเกษตรในพื้นที่แลังด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยีที่เหมาะสมกับชุมชนท้องถิ่นจังหวัดสกลนคร” ซึ่งทางคณะอาจารย์ นักวิจัย ได้เล็งเห็นความสำคัญของการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยี นวัดกรรมที่เหมาะสม ตอบโจทย์ความต้องการของชุมชน ประกอบด้วย กลุ่มคนจน กลุ่มเปราะบาง กลุ่มผู้สูงอายุ และผู้ขาดโอกาสในการเข้าถึง จากวิสาหกิจชุมชนเป้าหมายตำบลอุ่มจาน อำเภอกุสุมาลย์ ตำบลบึงทวาย และตำบลเต่างอย อำเภอเต่างอย ในพื้นที่จังหวัดสกลนคร
สำหรับนวัตกรรมที่ทำการส่งมอบในครั้งนี้ แบ่งเป็นการส่งมอบให้กับวิสาหกิจชุมชน 3 แห่ง ประกอบด้วย
1.กลุ่มวิสาหกิจชุมชนกลุ่มอนุรักษ์และฟื้นฟูข้าวพันธุ์พื้นเมือง “หอมดอกฮัง” บ้านโคกสะอาด ตำบลอุ่มจาน อำเภอกุสุมาลย์ จังหวัดสกลนคร รับมอบนวัตกรรม ดังนี้
1) สถานีสูบน้ำพลังงานเซลล์แสงอาทิตย์ จำนวน 1 สถานี
2) รถไถไฟฟ้านั่งขับอเนกประสงค์ จำนวน 1 ชุด
3) เครื่องปักดำขนาดเล็ก แบบ 4 แถว ใช้ต้นกล้าล้างราก จำนวน 1 เครื่อง
4) เครื่องทำความสะอาดเมล็ดพันธุ์ข้าวเปลือกและคัดแยกข้าวกล้อง จำนวน 1 เครื่อง
5) หัวเชื้อจุลินทรีย์ท้องถิ่นที่ใช้ในการปรับปรุงดิน
2.กลุ่มวิสาหกิจชุมชนเกษตรสุขใจสมุนไพรไทเต่างอย บ้านโพนปลาโหล ตำบลเต่างอย อำเภอเต่างอย จังหวัดสกลนคร รับมอบนวัตกรรม ดังนี้
1) โรงงานเคลื่อนที่แบบตัวต่อพร้อมเครื่องจักรแปรรูปมาตรฐาน GMP จำนวน 1 โรงงาน
2) การพัฒนาบรรจุภัณฑ์ใหม่ จำนวน 2 ผลิตภัณฑ์
3) หัวเชื้อจุลินทรีย์ท้องถิ่นที่ใช้ในการปรับปรุงดิน
4) แปลงปลูกสมุนไพรที่มีมาตรฐานและมีสารสำคัญสูง และ
3.กลุ่มวิสาหกิจชุมชนสมุนไพรไทหนองบัว บ้านหนองบัว ตำบลบึงทวาย อำเภอเต่างอย จังหวัดสกลนคร รับมอบนวัตกรรม ดังนี้
1) โรงเรือนปลูกพืชอัจฉริยะควบคุมสภาพอากาศแบบเลือกชนิดพืชได้ จำนวน 1 โรงเรือน
2) เครื่องอบอเนกประสงค์พลังงานเซลล์แสงอาทิตย์เคลื่อนที่ได้ จำนวน 2 เครื่อง
3) การพัฒนาบรรจุภัณฑ์ใหม่ จำนวน 1 ผลิตภัณฑ์
4) หัวเชื้อจุลินทรีย์ท้องถิ่นที่ใช้ในการปรับปรุงดิน
5) แปลงปลูกสมุนไพรที่มีมาตรฐานและมีสาระสำคัญสูง โดยนวัตกรรมที่ได้จากโครงการนี้มีส่วนสำคัญอย่างยิ่งในการเพิ่มผลผลิตทางการเกษตรด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม การแปรรูปผลผลิตทางการเกษตร การพัฒนาบรรจุภัณฑ์ การเพิ่มช่องทางการจัดจำหน่าย การพัฒนาสื่อเพื่อการรับรู้การเข้าถึงนวัตกรรมและเทคโนโลยี รวมทั้งการติดตามและประเมินผล เพื่อพัฒนาอาชีพและสร้างรายได้ให้กับชุมชนกลุ่มเป้าหมายอย่างยั่งยืนต่อไป
สุรเชษฐ ศิลานนท์ รายงาน