ผู้ว่าฯ ชัยนาท ผนึกกำลังชาวชัยนาท จัดกิจกรรม “มหาดไทย แต่งชุดไทย ไปห่มดินใส่ปุ๋ย” ภายใต้แนวคิด “อาหารก่อกำเนิดเกิดจากดิน (Soils, where food begins)” มุ่งสร้างพลังการมีส่วนร่วมทุกด้านเพื่อความยั่งยืน
วันนี้ (12 พ.ค. 66) ที่สวนเฉลิมพระเกียรติ ร.9 เขาขยาย ตำบลบ้านกล้วย อำเภอเมืองชัยนาท จังหวัดชัยนาท นายนที มนตริวัต ผู้ว่าราชการจังหวัดชัยนาท พร้อมด้วยรองผู้ว่าราชการจังหวัดชัยนาท หัวหน้าส่วนราชการ หัวหน้าหน่วยงานรัฐวิสาหกิจในสังกัดกระทรวงมหาดไทย นายอำเภอเมืองชัยนาท ผู้อำนวยการสถานีพัฒนาที่ดิน พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมดำเนินกิจกรรม “มหาดไทย แต่งชุดไทย ไปห่มดินใส่ปุ๋ย” สร้างความอุดมสมบูรณ์ เพิ่มธาตุอาหารที่เหมาะสมให้กับต้นไม้ในพื้นที่ เพื่อพร้อมสำหรับการเจริญเติบโตในฤดูฝนที่กำลังใกล้เข้ามาถึงนี้
นายนที มนตริวัต ผู้ว่าราชการจังหวัดชัยนาท เปิดเผยว่า สวนเฉลิมพระเกียรติ ร.9 เขาขยาย ในพื้นที่เขาขยายของจังหวัดชัยนาทแห่งนี้ มีจุดเริ่มต้นการริเริ่มฟื้นฟูกันมาตั้งแต่ปี 2557 เมื่อครั้งที่ท่านสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดชัยนาทคนที่ 52 บนพื้นที่ประมาณ 1,100 ไร่เศษ จากเดิมเขาขยายมีสภาพเป็นทะเลทราย เพราะบริเวณนี้สมัยก่อนเป็นภูเขาดินลูกรังปนกรวดซึ่งดินถูกขุดไปถมถนนสายต่าง ๆ ทำให้หน้าดินเป็นหลุมลึกประมาณ 1 – 3 เมตร พอถึงฤดูฝนก็ถูกน้ำชะกรวดหินดินทรายลงมาอยู่บนพื้น ทำให้ปลูกต้นไม้ได้ยาก ซึ่งทางจังหวัดได้ร่วมกับภาคีเครือข่าย พัฒนาพื้นที่บริเวณนี้ ด้วยโครงการฟื้นฟูเขาขยาย จากเขาทะเลทรายสู่เขาสวรรค์ ซึ่งจนถึงทุกวันนี้เป็นเวลา 9 ปีแล้ว
“พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่ทรงประกาศเป็นปฐมบรมราชโองการ “เราจะสืบสาน รักษา และต่อยอด และครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งอาณาราษฎรตลอดไป” ด้วยทรงมุ่งมั่นในการสืบสาน รักษา และต่อยอด แนวพระราชดำริและพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เพื่อทรงช่วยทำให้แผ่นดินไทย เป็น “แผ่นดินทอง” อันเป็นดินแดนแห่งความอุดมสมบูรณ์ที่พี่น้องประชาชนอยู่ด้วยความสุข ความรัก ความสามัคคี ความมีน้ำจิตน้ำใจซึ่งกันและกัน ซึ่งกิจกรรมในวันนี้ เป็นการน้อมนำพระปฐมบรมราชโองการ และพระราชปณิธาน “แก้ไขในสิ่งผิด” ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่พระราชทานไว้ว่า “ประเทศชาติมั่นคง ประชาชนมีความสุข แก้ไขในสิ่งผิด สืบสานในพระราชปณิธาน ภายใต้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” ด้วยการน้อมนำแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ในด้านการอนุรักษ์และฟื้นฟูดิน ที่ทรงพระราชทานไว้ว่า “การปรับปรุงที่ดินนั้นต้องอนุรักษ์ผิวดินซึ่งมีความสมบูรณ์ไว้ไม่ให้ไถหรือลอกหน้าดินทิ้งไป สงวนไม้ยืนต้นที่ยังเหลืออยู่ เพื่อที่จะรักษาความชุ่มชื่นของผืนดิน” จึงเป็นแรงบันดาลใจที่ทำให้จังหวัดชัยนาทได้ขับเคลื่อนจัดกิจกรรมโดยแบ่งพื้นที่รับผิดชอบให้กับทุกส่วนราชการและหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ รวมทั้งสิ้น 10 หน่วยงาน กระจายภารกิจ โดยเน้นที่การห่มดินและใส่ปุ๋ยอินทรีย์ชีวภาพลงไปเพื่อสร้างความอุดมสมบูรณ์ เก็บรักษาความชื้น เพิ่มธาตุอาหารที่เหมาะสมให้ต้นไม้ โดยการใช้ฟาง เศษหญ้า หรือใบไม้ที่สามารถย่อยสลายได้เองตามธรรมชาติ ปกคลุมรอบโคนต้นไม้ โดยเว้นให้ห่างจากโคนต้นไม้ 1 คืบ และห่มหนาจากพื้นดินประมาณ 1 คืบ ทำเป็นวงกลมล้อมรอบเหมือนกับห่วงยางหรือขนมโดนัท และใส่อาหารให้แก่ดินด้วยการใส่ปุ๋ยอินทรีย์ชีวภาพลงไป เพื่อให้อาหารแก่ดิน แล้วดินจะปล่อยธาตุอาหารให้พืช โดยกระบวนการย่อยสลายของจุลินทรีย์เรียกหลักการนี้ว่า “เลี้ยงดิน ให้ดินเลี้ยงพืช” การปฏิบัติเช่นนี้ จะทำให้ดินกลับมามีชีวิต เป็นการ “คืนชีวิตให้แผ่นดิน แก้ไขในสิ่งผิด” เพื่อพัฒนาความอุดมสมบูรณ์ของดิน ให้ดินเป็นแหล่งก่อกำเนิดเกิดอาหารอย่างยั่งยืน” ผวจ.ชัยนาท กล่าว
นายนที มนตริวัต ผู้ว่าราชการจังหวัดชัยนาท กล่าวต่ออีกว่า นอกจากนี้ สิ่งที่เป็นการตอกย้ำถึงความมุ่งมั่นตั้งใจในการแสดงออกซึ่งการส่งเสริมสนับสนุนให้พี่น้องประชาชนช่างทอผ้า ผู้ประกอบการผ้าได้มีคุณภาพชีวิตที่ดี บ้านเมืองมีความมั่นคงด้านเครื่องนุ่งห่ม นั่นคือ “ผ้าไทยสามารถใส่ได้ในทุกโอกาส” ซึ่งในวันนี้ ทุกคนที่มาร่วมกิจกรรมต่างสวมใส่ผ้าไทยหลากหลายรูปแบบ ที่แม้ว่าอากาศจะร้อน แต่การสวมใส่ผ้าไทยนั้น ทำให้สามารถลดอุณหภูมิของร่างกาย เป็นเครื่องนุ่งห่มที่เหมาะสมกับสภาพอากาศของประเทศ ดังพระดำริ “ผ้าไทยใส่ให้สนุก” ในสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ที่พระราชทานแนวพระดำริเพื่อให้ผู้ประกอบการได้ถักทอ ตัดเย็บผ้าไทยให้มีความทันสมัย สามารถใส่ได้ในทุกเวลา ทุกสถานที่ ตรงตามความต้องการของผู้ซื้อ และวันนี้ พวกเราชาวชัยนาทได้ทำให้เห็นแล้วว่า ผ้าไทยใส่ได้ในทุกกิจกรรมจริง ๆ และพวกเราจะร่วมกันส่งเสริมการใช้ผ้าไทยเพื่อทำให้เกิดความมั่นคงของประเทศ พี่น้องประชาชนได้มีอาชีพ มีรายได้ ยังผลให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืน
นายนที มนตริวัต ผู้ว่าราชการจังหวัดชัยนาท กล่าวเพิ่มเติมว่า เขาขยายในวันนี้ได้มีการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีเป็นที่น่าพึงพอใจอย่างยิ่งด้วยพลังการมีส่วนร่วมของทุกภาคีเครือข่ายในพื้นที่ตลอด 9 ปีที่ผ่านมา กล่าวคือ ต้นไม้ที่ทุกภาคส่วนได้ช่วยกันปลูกไว้ในอดีตนั้นเติบใหญ่เป็นร่มเงา เป็นป่าที่มีต้นไม้มากมายหลายชนิด และเป็นที่อยู่ของนก และสิ่งมีชีวิตที่สามารถอยู่ได้ในพื้นที่ที่เป็นป่า รวมทั้งพี่น้องประชาชน ครอบครัว เด็กและเยาวชน ในจังหวัดชัยนาทได้ใช้เป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจ ขณะเดียวกันสถานที่แห่งนี้ก็ยังเป็นพื้นที่อนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ตามโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี (อพ.สธ.) ซึ่งผู้ที่ความสนใจด้านพฤกษศาสตร์หรือสถานศึกษาสามารถนำเด็กและเยาวชนมาศึกษาเรียนรู้เพื่อพัฒนาความรู้ได้อีกด้วย นอกจากนี้ ยังเป็นส่วนหนึ่งของการลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก ทำให้พื้นที่จังหวัดชัยนาทได้รับการพัฒนาอย่างยั่งยืนผ่านความร่วมมือของทุกภาคีเครือข่ายมุ่งสู่การบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals : SDGs) ทั้ง 17 เป้าหมายขององค์การสหประชาชาติ เพื่อให้ชาวชัยนาทได้เป็นสมาชิกที่ดีของโลก และทำให้ประชาชนได้รับสิ่งที่ดี ลูกหลานได้อยู่ในสภาวะแวดล้อมที่ดี
“พื้นที่แห่งนี้เป็นประจักษ์พยานแห่งความรักความสามัคคีของผู้บริหารจังหวัด ข้าราชการ พนักงาน เจ้าหน้าที่ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พี่น้องประชาชนและภาคีเครือข่ายของจังหวัดชัยนาทในอดีตที่ร่วมกันพลิกฟื้น ก่อร่างสร้างจนเป็นสถานที่ที่สวยงามรื่นรมย์ จึงขอเชิญชวนพี่น้องประชาชนชาวชัยนาทและจังหวัดใกล้เคียงหรือผู้ที่สนใจได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการร่วมใช้ประโยชน์ ร่วมพัฒนาพื้นที่แห่งนี้ เพื่อทำให้เป็นพื้นที่สำหรับลูกหลานได้ใช้ประโยชน์ร่วมกันในอนาคตสืบต่อไป” ผวจ.ชัยนาท กล่าวในช่วงท้าย
กองสารนิเทศ สป.มท.
วันที่ 12 พ.ค. 2566