“สช.จัดทัพลงใต้ ร่วมประชุมเพื่ออภิปราย วิเคราะห์สภาพปัญหา และอุปสรรคการบริหารจัดการสถานศึกษาเอกชนจังหวัดชายแดนภาคใต้ พร้อมนำแนวทางการแก้ไขปัญหาแบบมีส่วนร่วมของผู้เกี่ยวข้องไปสู่การปฏิบัติ !!
วันที่ (14 มีนาคม 2566) ดร.ประพัทธ์ รัตนอรุณ รองเลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (รองเลขาธิการ กช.) เป็นประธานเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการการบริหารจัดการสถานศึกษาเอกชนจังหวัดชายแดนภาคใต้ (วิเคราะห์สภาพปัญหา อุปสรรค การบริการจัดการสถานศึกษาเอกชนจังหวัดชายแดนภาคใต้) โดยมี ผู้บริหาร สช.ผู้บริหาร สช.5 จังหวัดชายแดนใต้บุคลากร สช.ที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุมทั้งสิ้น 155 คน ณ โรงแรมสยามออเรียลทัล หาดใหญ่ อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา โดยการประชุมจัดขึ้นระหว่างวันที่ 14 – 15 มีนาคม 2566
ดร.ประพัทธ์ รัตนอรุณ กล่าวตอนหนึ่งช่วงพิธีเปิดการประชุมว่า การประชุมในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาการศึกษาเอกชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ทั้งในมิติของการพัฒนาคุณภาพ การจัดการศึกษา และมิติการจัดการศึกษาเพื่อความมั่นคง โดย เลขาธิการ กช. ได้ให้ความสำคัญกับการจัดการศึกษาเอกชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นอย่างมาก จะเห็นได้จากการเร่งขับเคลื่อนนโยบายต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องไปสู่การปฏิบัติไม่ว่าจะเป็นการผลักดันเรื่องอาหารกลางวันสำหรับเด็กนักเรียนทั้งในระบบและนอกระบบ การดำเนินงานโครงการตามแผนงานบูรณาการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ และแผนยุทธศาสตร์ เช่น การหางบประมาณเพื่อสนับสนุนโครงการจัดหายานพาหนะ และขนส่งสนับสนุนสำนักงานการศึกษาเอกชนจังหวัดและอำเภอ เป็นต้น
ดังนั้นแล้ว จึงขอให้ สช. ใต้ได้ร่วมมือร่วมใจกันพัฒนาการศึกษาเอกชน เพราะทุกท่าน ทั้ง สช.จังหวัด และ สช.อำเภอในพื้นที่ถือได้ว่าเป็นฟันเฟืองสำคัญในการพัฒนาการศึกษาเอกชนจังหวัดชายแดนภาคใต้ในระดับภูมิภาค ขอให้ทุกท่านไม่ว่าจะเป็น ผู้อำนวยการ และรองผู้อำนวยการสำนักงานการศึกษาเอกชนจังหวัด ผู้อำนวยการกลุ่มงาน ผู้อำนวยการสำนักงานการศึกษาเอกชนอำเภอ หัวหน้ากลุ่ม หัวหน้าฝ่ายและบุคลากรจาก สช.ส่วนกลาง และส่วนภูมิภาค ที่ได้เข้าร่วมประชุมในวันนี้ ขอให้ร่วมกันอภิปราย วิเคราะห์สภาพปัญหา และอุปสรรคการบริหารจัดการสถานศึกษาเอกชนจังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อจะได้นำแนวทางการแก้ไขปัญหาแบบมีส่วนร่วมของผู้เกี่ยวข้องไปสู่การปฏิบัติต่อไป
ภายหลังพิธีเปิด ดร.ประพัทธ์ รัตนอรุณ ได้บรรยายพิเศษโดยเนื้อหาบางส่วนกล่าวถึงแนวทางการดำเนินชีวิตในสายงานราชการ “บอกพี่ สอนน้อง” 7 แนวทาง ได้แก่
1) เตรียมให้พร้อม เมื่อมีเวลาว่างให้จัดเตรียมข้อมูลที่เกี่ยวข้องในงานของตัวเองให้พร้อม ใช้ ICT (เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร) ให้เป็นประโยชน์ อย่าปิดกั้นศักยภาพของตัวเอง ศึกษาแนวคิด ทฤษฎีต่าง ๆ ให้มาก แต่อย่าให้มาครอบงำการทำงานมากเกินไป
2) น้อมรับทำ ไม่เกี่ยงงาน งานแบกหามก็ทำ ตำแหน่งและผลประโยชน์ตอบแทนมาทีหลัง ถึงแม้ไม่ได้ในครั้งนี้ คิดว่าโอกาสหน้ายังมี แต่ถ้ายังไม่ได้อีกให้คิดว่าที่บ้านยังมีข้าวกิน ไม่ง้อโชคชะตา ทำงานแบบจัดเต็มต่อไป
3) นำจุดเด่น หางานที่ถนัดแล้วจับให้มั่นฝึกให้เชี่ยวชาญให้ได้ เวลามีงานสำคัญต้องให้ผู้บังคับบัญชาและคนอื่น ๆ นึกถึงเรา ที่สำคัญจะต้องมองงานในเชิงระบบให้เป็น ทั้งระบบองค์กรเรา ระบบในกระทรวงและนอกกระทรวง
4) เน้นคุณค่า งานที่ออกจากเราต้องดี มีคุณภาพและรวดเร็ว แต่ถ้างานด่วนเข้ามาพร้อมกัน ให้ดูว่างานไหนสำคัญ เร่งด่วน และมีผลกระทบสูง
5.) หาโอกาส โอกาสมีสองอย่างคือ “คนอื่นหยิบยื่นให้” และ “เดินไปขอโอกาสเอง” (แนะนำอย่างหลัง) หาโอกาสเข้าไปมีส่วนร่วมในงานต่าง ๆ ให้มาก อย่างเกี่ยงงาน รักตัวเอง ด้วยการพัฒนาตัวเองอยู่เสมอ
6) การ์ดอย่าตก เมื่อพลาดพลั้ง ผิดหวัง ไม่พอใจ อย่าแสดงอาการให้ใครเห็น ให้ถือคติ “กลืนเลือด แล้วลุยต่อ” สักวันต้องเป็นวันของเรา
7) รวมใจให้ได้ เรามีเวลาทำงาน 8 ชั่วโมง/วัน 40 ชั่วโมง/สัปดาห์ 160 ชั่วโมง/เดือน 1,920 ชั่วโมง/ปี สรุปเรามีเวลาทำงานประมาณ 240 วัน/ปี
ดังนั้นเราต้องสร้างความสุขในการทำงาน สร้างความสัมพันธ์อันดีกับผู้ปฏิบัติงานหน่วยงานอื่น ผูกมิตรกับเพื่อนร่วมงานของตนเอง เพราะเราจะต้องเจอหน้าเขาทุกวัน เป็นน้องต้องเคารพและให้เกียรติพี่ เป็นพี่ต้องทำตัวให้คู่ควรกับความเคารพและเกียรติที่น้องให้ พี่ต้องเป็นผู้นำ เป็นผู้สร้างแรงบันดาลใจ ถ่ายทอดความรู้ประสบการณ์ให้กับรุ่นน้อง เพราะในอนาคตพวกเขาเหล่านั้นจะเป็นกำลังสำคัญในการรับภาระและพัฒนากระทรวงศึกษาธิการของเราต่อไป
//////////////////////////////