๖ กุมภาพันธ์ “วันมวยไทย”
เมืองไชยา เมืองนักมวย บรรดาศักดิ์
ราชทินนาม ประจักษ์ “มวยมีชื่อ”
ชกที่หน้าพระที่นั่ง ดังระบือ
คนเลื่องลือ มีหลักฐาน กล่าวขานกัน
มีชื่อเดิม “นายปลอง จำนงทอง”
มีเข่าศอก ปัดป้อง อันลือลั่น
เรียกว่า “ศอกไชยา” มานานครัน
ปัจจุบัน ยังกล่าวขาน วงการมวย
๖/๒/๖๖
เขียนกลอนนี้ไว้ว่าจะเผยแพร่วันที่ ๖ กุมภาพันธ์ ซึ่งเป็นวันที่คณะรัฐมนตรีได้อนุมัติเมื่อวันที่ ๓ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๕๔ ให้เป็นวันมวยไทย บังเอิญมีกิจธุระมากมายต้องนำมาลงวันนี้ หลังวันมวยไทย ๑ วัน
มวยไทย มีหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่เป็นลายลักษณ์อักษรมาตั้งแต่สมัยอยุธยา มีเรื่องพระเจ้าเสือปลอมพระองค์ไปชกกับชาวบ้าน มีเรื่องนายขนมต้ม เป็นต้น ส่วนสมัยรัตนโกสินทร์ สมัยรัชกาลที่ ๕ มีนักมวยบรรดาศักดิ์ หมื่นมวยมีชื่อ หมื่นมือแม่นหมัด หมื่นชงัดเชิงชก (รายละเอียดอ่านในงานเขียนของผมเรื่องมวยไชยาได้ครับ)
มวยไทยไชยา เป็นมวยไทยแขนงหนึ่งชื่อลูกไม้มวยไทยแขนงนี้ยังนำมาใช้ในมวยไทยปัจจุบันก็มี ปัจจุบันนี้มีศูนย์สืบทอดกีฬาชนิดนี้อยู่หลายแห่ง ที่ไชยามีอาจารย์สุรัชต์ เพชรพริ้ม เป็นผู้สืบทอดอย่างแข็งขัน ได้นำนักมวยรูปแบบมวยไชยาไปชกโชว์ในที่ต่าง ๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ มีการบรรยายเป็นภาษาอังกฤษด้วย เคยไปชกโชว์ที่ประเทศอินเดียได้รับความสนใจเป็นอย่างมาก หากองค์กรใดสนใจติดต่อผ่านผมได้ครับ ไม่ได้ไปชกโชว์เองแต่สามารถประสานงานให้ได้
เมื่อเร็ว ๆ นี้ประเทศเขมรได้ไปแอบอ้างว่าคนไทยได้ไปลอกเลียน “กุนขแมร์” หรือมวยเขมรมา แล้วเผยแพร่กีฬาชนิดนี้ไปทั่วโลกเป็นที่ฮือฮาและตลกขบขันกันมาก ทำให้เป็นที่ยุ่งเหยิงในวงการกีฬามวยไทยไปทั่วโลก ขณะนี้สังคมยังพูดถึงพวกเขมร ขมอยพวกนี้ยังไม่สิ้นสุด (คำว่า“ขมอย” ไม่ใช่คำหยาบ แต่เป็นคำที่เลิกใช้ไปแล้ว คำนี้มีคำแปลว่า “ลูกหลาน” เช่นในเรื่อง มหาชาติคำหลวง พนกัณฑ์ ที่ว่า “ขมอยเมื่อเฝือแฝกหญ้า ยุงชุมฉ่าฝ่าเหลือบฝูง”)
มวยไทย เรียกมวยไทยถูกต้องแล้ว ของเขมร จะเรียกกุนขแมร์หรือกุนขมอย (มวยชั้นลูกหลาน) ก็ช่างเขา”
“อรุณ เวชสุวรรณ”