วช. ร่วมกับ ศอ.บต. ขับเคลื่อน และ เสริมสร้างความมั่นคง ด้วยงานวิจัยและนวัตกรรม พื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้
วันที่ 28 ธันวาคม 2565 สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) จัดการเสวนา “การขับเคลื่อน เสริมสร้าง และพัฒนาความมั่นคงด้วยงานวิจัยและนวัตกรรมในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้” ณ ศูนย์ราชการจังหวัดชายแดนภาคใต้ จังหวัดยะลา โดยมี ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ เป็นประธานในพิธีเปิดงานฯ ผ่าน Video Conference และ พลเรือตรี สมเกียรติ ผลประยูร เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหาร จังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) กล่าวขอบคุณ ซึ่งงานในวันนี้จะนำไปสู่การส่งเสริมให้นักวิจัยและผู้ที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ได้มีส่วนร่วมสู่การคลี่คลายปัญหาและพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้เพื่อให้เกิดสันติสุข
ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กล่าวว่า (วช.) มีนโยบายขับเคลื่อน เสริมสร้าง และพัฒนาความมั่นคงด้วยงานวิจัยและนวัตกรรมในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อให้จังหวัดชายแดนภาคใต้ มีการพัฒนาศักยภาพบุคลากรด้านการวิจัยในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ด้วยการส่งเสริมและถ่ายทอดความรู้การวิจัยและนวัตกรรมเพื่อใช้ประโยชน์ รวมถึงการสร้างเครือข่ายนักวิจัยเพื่อการเปลี่ยนแปลงเชิงพื้นที่ไปสู่เป้าหมาย “การกินดี อยู่ได้ เข้าใจกัน” เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตด้วยการวิจัยและนวัตกรรม ภายใต้ความร่วมมือ ระหว่าง (วช.) และ (ศอ.บต.) ที่ได้ลงนามบันทึกข้อตกลง เมื่อวันที่ 27 กันยายน 2564 ที่ผ่านมา (วช.) ได้ดำเนินการจัดสรรทุนวิจัยและนวัตกรรมภายใต้แผนงานดังกล่าวในปีงบประมาณ 2563 และ 2565 รวมจำนวนทั้งสิ้น 40 โครงการ โดยมีผลงานที่ดำเนินการถ่ายทอดสู่การใช้ประโยชน์แล้ว อาทิเช่น โครงการการสนับสนุนและส่งเสริมให้ผู้นำศาสนามีบทบาทและมีส่วนในการแก้ไขและป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 และโครงการการพัฒนาแอปพลิเคชันเพื่อให้ความช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยตามหลักการอิสลาม เป็นต้น ดังนั้น การจัดกิจกรรม “การเสวนาการขับเคลื่อน เสริมสร้างและพัฒนาความมั่นคงด้วยงานวิจัยและนวัตกรรมในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้” นอกจากจะมีวัตถุประสงค์เพื่อติดตามและประเมินผลการดำเนินงานการขับเคลื่อนงานวิจัยในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้แล้ว ได้มีการจัดนิทรรศการแสดงผลงานการวิจัยและนวัตกรรมโครงการเพื่อการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ภายใต้ความร่วมมือระหว่าง (วช.) และ (ศอ.บต.) รวมทั้งโครงการที่ (วช.) ให้ทุนขยายผลสู่การใช้ประโยชน์อย่างเป็นรูปธรรมในพื้นที่ต่างๆ กว่า 30 โครงการ
พลเรือตรี สมเกียรติ ผลประยูร เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหาร จังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) กล่าวว่า แผ่นดินใต้มีความอุดมสมบูรณ์ ติดอย่างเดียวคือสันติสุขได้หายไป จากความไม่เข้าใจจากความขัดแย้งทำให้ภาคใต้ แดนที่มีความอุดมสมบูรณ์ที่สุดของประเทศไทยควรจะมีการพัฒนา เพราะฉะนั้นทุกภาคส่วนจึงได้ระดมศักยภาพ ความสามารถและการบูรณาการ คลี่คลายปัญหาชายแดนภาคใต้และพัฒนาพื้นที่เพื่อให้ประชาชนมีความกินดีอยู่ดี นั่นคือประการที่หนึ่ง พี่น้องจังหวัดชายแดนภาคใต้จะต้องมีความกินดีอยู่ดีทั้งในมิติ ของเรื่องเศรษฐกิจ เรื่องสังคมและการพัฒนาคน หรือถ้าหากแยกย่อยในเรื่องการศึกษา สุขภาพอนามัย อาชีพ รายได้ ความเป็นอยู่ การเข้าถึงสวัสดิการแห่งรัฐ สิ่งเหล่านี้จะต้องเคลื่อนไปข้างหน้าทั้งหมด และโดยเฉพาะอย่างยิ่งทั้ง 5 เรื่องที่กล่าวมาอยู่ในกรอบเศรษฐกิจสังคม พัฒนาคน และ 4 อำเภอของจังหวัดสงขลา เพราะฉะนั้นนี่คือความเร่งด่วนแรกที่จะต้องใช้สรรพกำลัง ทุกภาคส่วน ระดมกันคลี่คลาย พัฒนาคุณภาพชีวิตให้มีความกินดีอยู่ดี ส่วนที่สองบรรยากาศ
ที่จะต้องอยู่ร่วมกันในสังคม พหุวัฒนธรรมให้ได้ ส่วนที่สาม หาทางออกลดความรุนแรงและลดความขัดแย้งโดยสันติวิธี การขับเคลื่อนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ภาพใหญ่คือการเข้าถึง เข้าใจ พัฒนา อย่างทุกมิติไปสู่ตลาดโลกนำพาแผ่นดินใต้ ไปสู่ความสงบและสันติสุข ลดความเหลื่อมล้ำทั้งปวง ยกระดับคุณภาพชีวิตในอนาคตข้างหน้า (ศอ.บต.) จะเป็นศูนย์กลางเชื่อมต่อ ระหว่างนักวิจัยกับ (วช.) ในการที่จะนำองค์ความรู้ไปใช้ในการแก้ปัญหา พัฒนาและเชื่อมต่อไปยัง (วช.) และ กระทวง (อว.) พัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ สู่ความสันติสุขในภายภาคหน้า
การเสวนาในวันนี้ ประกอบด้วย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.บุญสิทธิ์ ไชยชนะ รักษาราชการแทน อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา กล่าวถึง “การส่งเสริมและพัฒนาบุคลากรในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้” นายสมชาย เกียรติภารดร ผู้อำนวยการบริหารยุทธศาสตร์การพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ กล่าวในประเด็นการดำเนินงานการแก้ไขปัญหาเชิงรุกในพื้นที่ชายแดนภาคใต้ นายธีรวัฒน์ บุญสม ผู้อำนวยการกองส่งเสริมและสนับสนุนการวิจัยและนวัตกรรม (วช.) กล่าวถึง การวิจัยและนวัตกรรมเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิต นายพงษ์ศักดิ์ ยิ่งชนม์เจริญ นายกเทศมนตรีนครยะลา บรรยายเกี่ยวกับการเสริมสร้างการวิจัยและนวัตกรรมสู่การใช้ประโยชน์ในพื้นที่ รองศาสตราจารย์ ดร.บดินทร์ รัศมีเทศ รองเลขาธิการ (ศอ.บต.) เป็นผู้ดำเนินรายการฯ
ส่วนช่วงการเสวนาการส่งเสริมและสนับสนุนผลงานวิจัยและนวัตกรรมสู่ภาคประชาสังคม โดย ศาสตราจารย์ ดร.ครองชัย หัตถา นักวิจัยเชิงพื้นที่ด้านงานวิจัยพหุวัฒนธรรม นายพงศักดิ์ เพชรเกื้อ ผู้ประกอบการโรงงานผลิตอิฐดินเผา โรงอิฐวิรัตน์ นางวันดี รัตนอนันต์ ประธานกลุ่มเกษตรกรทำสวนบ้านถ้ำทะลุจังหวัดยะลา และรองศาสตราจารย์ ดร.บดินทร์ รัศมีเทศ รองเลขาธิการ (ศอ.บต.) เป็นผู้ดำเนินรายการ และ ช่วงบ่ายเป็นการนำเสนอผลงานวิจัยและนวัตกรรมเพื่อการใช้ประโยชน์ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ จำนวน 5 ผลงาน
ทั้งนี้ เลขาธิการ (ศอ.บต.) ผู้อำนวยการกองส่งเสริมและสนับสนุนการวิจัยและนวัตกรรม (วช.) คณะผู้ทรงคุณวุฒิ พร้อมด้วยคณะสื่อมวลชน เยี่ยมชมภาคนิทรรศการผลงานการวิจัยและนวัตกรรมโครงการเพื่อการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่ได้รับการสนับสนุนจาก (วช.) ซึ่งการเสวนาในครั้งนี้ได้รับความสนใจจากนักวิจัย นักวิชาการ ผู้บริหารหน่วยงาน นักศึกษา และประชาชนในพื้นที่ใกล้เคียงเข้าร่วมงานเป็นจำนวนมาก อีกด้วย
สุรเชษฐ ศิลานนท์ รายงาน