เกษตรกรทั่วประเทศปลื้ม!! … “ประกันรายได้” เดินหน้าปี 4 สร้างความมั่นคงต่อเนื่อง
นายสินิตย์ เลิศไกร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยหลังพบปะเกษตรกรและติดตามผลการดำเนินโครงการประกันรายได้สินค้าเกษตรในพื้นที่จังหวัดกระบี่ และสุราษฎร์ธานี ระหว่างวันที่ 22 – 24 ธันวาคม 2565 ซึ่งได้รับเสียงตอบรับจากเกษตรกรเป็นอย่างดี ช่วยให้เกษตรกรมีหลักประกันด้านรายได้หากราคาตลาดต่ำกว่าราคาเป้าหมายที่กำหนดไว้ โดยปัจจุบันได้ดำเนินการปีนี้เป็นปีที่ 4 แล้ว และมีเกษตรกรมีสิทธิเข้าร่วมโครงการกว่า 8.16 ล้านครัวเรือน ครอบคลุมทั้ง 5 สินค้า ได้แก่ ข้าว มันสำปะหลัง ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ปาล์มน้ำมัน และยางพารา ส่วนผลการดำเนินงานในปีที่ผ่านมา (ปีการผลิต 2564/65) ซึ่งมีกรอบวงเงินรวม 115,112.21 ล้านบาท ได้สิ้นสุดการดำเนินการแล้ว โดยมีผลการจ่ายเงินชดเชย 88,483.72 ล้านบาท (คิดเป็นร้อยละ 77 ของเป้าหมาย)
สำหรับความคืบหน้าโครงการประกันรายได้ปี 4 สินค้าข้าว คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน 2565 เห็นชอบในหลักการโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปี 2565/66 และมาตรการคู่ขนาน เป้าหมายเกษตรกร 4.678 ล้านครัวเรือน วงเงินงบประมาณ 18,700.13 ล้านบาท กำหนดราคาประกันรายได้เช่นเดียวกับปีที่ผ่านมา ดังนี้ ข้าวเปลือกหอมมะลิ 15,000 บาท/ตัน (ปริมาณครัวเรือนละ 14 ตัน) ข้าวเปลือกหอมมะลินอกพื้นที่ 14,000 บาท/ตัน (ปริมาณครัวเรือนละ 16 ตัน) ข้าวเปลือกปทุมธานี
11,000 บาท/ตัน (ปริมาณครัวเรือนละ 25 ตัน) ข้าวเปลือกเจ้า 10,000 บาท/ตัน (ปริมาณครัวเรือนละ 30 ตัน) ข้าวเปลือกเหนียว 12,000 บาท/ตัน (ปริมาณครัวเรือนละ 16 ตัน) โดยขณะนี้ ได้ประกาศราคาเกณฑ์กลางอ้างอิง และโอนเงินชดเชยส่วนต่างให้เกษตรกรแล้ว 10 งวด จ่ายเงินชดเชยให้เกษตรกร 2.535 ล้านครัวเรือน เป็นจำนวนเงิน 7,690.30 ล้านบาท และเมื่อวันศุกร์ที่ 23 ธันวาคม 2565 ที่ผ่านมา ได้ประกาศราคาเกณฑ์กลางอ้างอิงงวดที่ 11 เรียบร้อยแล้ว โดย ธ.ก.ส. จะโอนเงินให้เกษตรกรภายใน 3 วันทำการต่อไป
นอกจากนี้ ยังมีการดำเนินมาตรการคู่ขนานควบคู่ไปกับโครงการประกันรายได้ เพื่อให้มีการซื้อผลผลิตเก็บในช่วงที่ผลผลิตออกสู่ตลาดมากไม่ให้ราคาตลาดตกต่ำลง ซึ่งจะช่วยรัฐบาลประหยัดค่าใช้จ่ายในการประกันรายได้ อาทิ ให้เกษตรกรเก็บข้าวไว้ในยุ้งฉาง ได้รับค่าฝากเก็บตันละ 1,500 บาท ให้สหกรณ์และผู้ประกอบการ (ข้าว มันสำปะหลัง ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์) เร่งรับซื้อเก็บสต็อกโดยช่วยเหลือดอกเบี้ย 3% เป็นต้น
และสำหรับโครงการสนับสนุนค่าบริหารจัดการและพัฒนาคุณภาพผลผลิตเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ยังคงหลักการเดิมเช่นเดียวกับปีที่ผ่านมา โดยการสนับสนุนค่าใช้จ่ายให้เกษตรกรไร่ละ 1,000 บาท ครัวเรือนละไม่เกิน 20 ไร่ ขณะนี้จ่ายให้เกษตรกรแล้วจำนวน 4.295 ล้านครัวเรือน วงเงิน 50,617 ล้านบาท
ในส่วนโครงการประกันรายได้ มันสำปะหลัง ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และปาล์มน้ำมัน คณะกรรมการนโยบายสินค้าเกษตร ได้เห็นชอบในหลักการแล้ว ขณะนี้อยู่ระหว่างการนำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณา สำหรับยางพาราอยู่ระหว่างเสนอคณะกรรมการนโยบายยางธรรมชาติ (กนย.) โดยกำหนดราคาประกันเช่นเดียวกับปีที่ผ่านมา ดังนี้ มันสำปะหลัง กำหนดราคาประกัน 2.50 บาท/กก. ไม่เกิน 100 ตัน/ครัวเรือน ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ กำหนดราคาประกัน 8.50 บาท/กก. ไม่เกิน 30 ไร่/ครัวเรือน ปาล์มน้ำมัน กำหนดราคาประกัน 4.00 บาท/กก. ไม่เกิน 25 ไร่/ครัวเรือน อายุ 3 ปีขึ้นไป และยางพารา กำหนดราคาประกัน (ไม่เกิน 25 ไร่ อายุ 7 ปีขึ้นไป) สำหรับยางดิบ (ปริมาณ 20 กก./ไร่/เดือน) 60 บาท/กก. น้ำยางสด (DRC 100%) (ปริมาณ 20 กก./ไร่/เดือน) 57 บาท/กก. และยางก้อนถ้วย (DRC 50%) (ปริมาณ 40 กก./ไร่/เดือน) 23 บาท/กก.
อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ราคามันสำปะหลัง ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และปาล์มน้ำมัน ปัจจุบันยังคงอยู่ในระดับสูงกว่าราคาประกันรายได้ ซึ่งหากคณะรัฐมนตรีพิจารณาเห็นชอบในหลักการมาแล้ว ก็จะเป็นหลักประกันให้เกษตรกรไว้ใช้ในช่วงที่ผลผลิตออกมากจนส่งผลให้ราคาปรับลดลงได้ทันเหตุการณ์