ท่องเที่ยว

cea ชวนท่องวัดลับ “unfolding bangkok” ในธีม “hidden temple” กับพื้นที่ชุมชน ย่านบางกอกน้อย ฝั่งธนฯ 10-18 ธ.ค.นี้


11 ธันวาคม 2022, 18:07 น.

 

cea ชวนท่องวัดลับ “unfolding bangkok” ในธีม “hidden temple” ท่องเที่ยววัดร้างกับพื้นที่ชุมชน ย่านบางกอกน้อย ฝั่งธนฯ 10-18 ธ.ค.นี้

“cea” ร่วมกับภาคีเครือข่าย เปิดโปรแกรมชวนเที่ยวในเทศกาล “unfolding bangkok” ในธีม “hidden temple” ท่องวัดลับย่านบางกอกน้อย ฝั่งธนบุรี ที่วัดภุมรินทร์ราชปักษี-วัดดุสิดาราม ร่วมย้อนรอยประวัติศาสตร์ชุมชนบางกอกน้อย ผ่านแนวคิด “วัดร้างกับพื้นที่ชุมชน” ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 10-18 ธันวาคม 2565 นี้ พบกับการจัดแสดง แสงสี เสียง ด้วย projection mapping เล่าเรื่องราวพุทธประวัติบนฝาพนังวิหาร และ ตื่นตาไปด้วยเทคนิค interactive projection จัดแสดงภายนอกอาคารวิหาร สร้างบรรยากาศของเทศกาล ด้วยรูปแบบสร้างสรรค์ ชูจุดขาย เป็นพื้นที่ประวัติศาสตร์ที่ซ่อนตัวอยู่ในกรุงเทพมหานคร พร้อมเปิดตลาดนัดอาหารขึ้นชื่อสร้างรายได้เพิ่มให้ชุมชน

เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม 2565  : สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) หรือ cea ร่วมกับ กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา, การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.), กรุงเทพมหานคร, สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือ tceb urban all และ ศูนย์ข้อมูลสถาปัตยกรรมไทย คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ร่วมกับวัดดุสิดารามวรวิหาร มิตรเมืองภาคีเครือข่ายย่านบางกอกน้อย ร่วมขับเคลื่อนจัดกิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยว ภายใต้โครงการ “unfolding bangkok” เปิดประสบการณ์ใหม่กรุงเทพมหานคร ในธีม hidden temple “ท่องวัดลับ” ย่านบางกอกน้อย ฝั่งธนบุรี ระหว่างวันที่ 10-18 ธันวาคม 2565 นี้ โดยมีนายศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และคณะผู้บริหาร สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) หรือ cea ร่วมย้อนรอยประวัติศาสตร์ชุมชนบางกอกน้อย ให้เกียรติร่วมงาน

นายพิชิต วีรังคบุตร รองผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ กล่าวว่า การเปิดแหล่งท่องเที่ยวใหม่สนับสนุนชุมชนครั้งนี้ นับเป็นการจัดเทศกาลต่อเนื่องจากโปรแกรมในธีม hidden temple “ท่องวัดลับ” ที่วัดอินทารามวรวิหาร, วัดจันทาราม และวัดราชคฤห์ ย่านตลาดพลู ไปเมื่อช่วงวันที่ 12-20 พฤศจิกายน 2565  ที่ประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี

 

และในครั้งนี้ เป็นการเปิดโปรแกรมช่วงที่ 2 ของ hidden temple ภายใต้แนวคิด “วัดร้างกับพื้นที่ชุมชน” จาก “ผี” สู่ “พุทธ” และการกลับมาของการละเล่นเชิงความเชื่อจิตวิญญาณ ในสถานที่สุดขลังของวัดโบราณ ที่นำความเชื่อวิถีชุมชนชาวบางกอกน้อย สู่การเล่าเรื่องผ่านวัดโบราณที่ร้างจากการจำพรรษาของพระ แต่ยังคงความสวยงามของสถาปัตยกรรมและปูนปั้น ที่อยู่ใจกลางเมืองกรุงเทพฯ ซึ่งจะได้พบกับเรื่องราวที่น่าสนใจ ใน “วัดภุมรินทร์ราชปักษี-วัดดุสิดาราม”

 

ทั้งในเรื่องลี้ลับ ความเชื่อ และประวัติศาสตร์ที่เกิดขึ้นภายในชุมชนย่านบางกอกน้อย “เราได้นำความคิดสร้างสรรค์ ที่ใช้ต้นทุนทางด้านวัฒนธรรมมาต่อยอด เพื่อพัฒนาย่านสร้างสรรค์ในพื้นที่ฝั่งธนฯ ที่ยังทรงคุณค่าทางศิลปวัฒนธรรม และสอดรับกับนโยบายรัฐบาลในการกระตุ้นการท่องเที่ยวช่วงเทศกาลส่งท้ายปีเก่าต้อนรับรับปีใหม่ ควบคู่ไปกับการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวและชุมชนที่มีศักยภาพที่ซ่อนตัวอยู่ในพื้นที่กรุงเทพฯ และฝั่งธนบุรี ที่ยังมีอยู่เป็นจำนวนมาก โดย cea ได้ร่วมกับภาคีเครือข่ายและชุมชน นำแนวความคิดสู่การสร้างสรรค์   เพื่อสร้างจุดขายของย่านให้มีความน่าสนใจ และสามารถกระจายรายได้จากการจัดเทศกาลฯ ไปสู่ประชาชนได้มากยิ่งขึ้น เพื่อให้สอดรับกับแนวทางโรดแมปการพัฒนาย่านเศรษฐกิจสร้างสรรค์ประเทศไทย” นายพิชิตฯ กล่าว

สำหรับโปรแกรมช่วงที่ 2 ของ hidden temple  เป็นการนำพื้นที่ที่เป็นต้นทุนทางสินทรัพย์ทางวัฒนธรรม มานำเสนอผ่านการคิดสร้างสรรค์ และตีความใหม่ให้เกิดความน่าสนใจด้วยแนวคิดการออกแบบและจัดแสดง สะท้อนให้เห็นถึงความสำคัญการอยู่ร่วมกันของวัดและชุมชนที่เกิดขึ้นในอดีต แต่ด้วยความเจริญทำให้บริบทของความผูกพันระหว่างวัดและชุมชนมีความห่างเหินและเปลี่ยนไปจากเดิม

 

ดังนั้นเพื่อให้บรรยากาศ และวิถีชีวิต ของคนในชุมชนที่มีความเชื่อมโยงกับวัด กลับมามีชีวิตอีกครั้ง โดยนำเทคโนโลยีด้านการออกแบบ กิจกรรม การแสดง แสง สี เสียง ที่จะดึงความสวยงามของสถาปัตยกรรม ออกมาให้มีความโดดเด่น สู่สายตาให้นักท่องเที่ยวได้สัมผัส และเรียนรู้ ด้วยเทคโนโลยีการฉายภาพสมัยใหม่ พร้อมด้วยการผนวกกับกิจกรรมวิถีชุมชน เพื่อนำเสนอ ร้านจำหน่ายอาหารขึ้นชื่อของย่านบางกอกน้อย รวมถึงกิจกรรมสอนทำอาหาร และกิจกรรม diy พวงมโหตร ซึ่งเป็นภูมิปัญญาของคนในชุมชน

 

ทั้งนี้กิจกรรมไฮไลท์ตลอด 9 วัน ได้แก่ projection mapping “ชมพูทวีป” สัมผัสเรื่องราวที่เกิดขึ้นในพุทธประวัติผ่านรูปแบบศิลปะร่วมสมัย แสง สี เสียง ที่ถูกฉายภาพบนผนังในวิหารร้าง ชมการตีความผ่านฉากต่าง ๆ เช่น พระพุทธเจ้าทรงแสดงยมกปาฏิหาริย์ ทรงปราบช้างธนบาลหัตถี โปรดพุทธมารดาบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ฯลฯ ผ่านการตีความของ ศ.ดร.ชาตรี ประกิตนนทการ อาจารย์ประจำภาควิชาศิลปสถาปัตยกรรม คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร และ asitnahc-คุณแพรว-ฉันทิศา เตตานนทร์สกุล

สำหรับงานนี้จัดขึ้นระหว่าง วันที่ 10-18 ธันวาคม 2565 เวลา 18.00-21.00 น. (เปิดให้ชมวันละ 7 รอบ จำกัดจำนวนรอบละ 15 คน โดยรับบัตรคิวหน้างาน) flower of faith การจัดแสดง interactive projection mapping ที่ชวนทุกคนมาร่วมส่งดอกไม้มงคลทั้ง 9 ชนิดขึ้นไปบน projection mapping ฉายลวดลายที่วาดโดย อ.เฉลิมพล โตสารเดช เพื่อร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการส่งดอกไม้แห่งศรัทธาให้สร้างสีสัน สร้างความมีชีวิตชีวากลับคืนสู่วัดภุมรินทร์อีกครั้ง

 

ความทรงจำบางกอกน้อย (the memoir of bangkok noi) รับชมสารคดีสั้นจากความร่วมมือของชาวบางกอกน้อย ผ่านการเล่าเรื่องจากประสบการณ์จริงของคนในชุมชน ประวัติศาสตร์ ชีวิตยุคสงครามมหาเอเชียบูรพา และความผูกพันระหว่างชุมชนกับสายน้ำ รวมถึงความพิเศษของพหุวัฒนธรรมด้านชาติพันธุ์ อาหารท้องถิ่น การละเล่น และเรื่องลี้ลับที่พลาดไม่ได้ ที่วัดภุมรินทร์ราชปักษี  ระหว่างวันที่ 10-11 และ 17 ธันวาคม 2565 เวลา 19.30 น. (วันละ 1 รอบก่อนฉายหนังกลางแปลง) หนังกลางแปลง ร่วมฟื้นจิตวิญญาณลานวัดของชุมชนที่เคยรุ่งเรืองในอดีตให้กลับมาอีกครั้ง กับภาพยนตร์ที่เคยสร้างความประทับใจไว้ในความทรงจำของคุณ ชวนย้อนอดีตไปยังช่วงชีวิตวัยเยาว์ของใครหลาย ๆ คน ไปกับ “แฟนฉัน” และอิ่มเอมกับความรักหนุ่มสาวใน “friend zone ระวัง..สิ้นสุดทางเพื่อน”

สถานที่ วัดภุมรินทร์ราชปักษี วันที่ 10-11 และ 17 ธันวาคม 2565

ตลาดนัดอาหารในชุมชน พบกับตลาด “hidden flower pavilion” ที่ถูกออกแบบขึ้นมา เพื่อปลุกพื้นที่โบราณสถานแห่งนี้ให้กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง โดย ผศ.ดร. พัฒนปกรณ์ ลีลาพฤทธิ์ และอาจารย์ เชาว์วัฒน์ กิตติธรกุล อาจารย์ประจำภาควิชาสถาปัตยกรรม คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร พร้อมด้วยร้านจำหน่ายอาหารที่มีชื่อในย่านบางกอกน้อย พร้อมเสิร์ฟเมนูที่สะท้อนลักษณะพหุวัฒนธรรมระหว่างอาหารไทยและอาหารมุสลิม เช่น ขนมเบื้องญวน มะตะบะ ขนมไทย ฯลฯ  สถานที่ วัดภุมรินทร์ราชปักษี ระหว่างวันที่ 10 -11 และ 17 ธันวาคม 2565

 

การละเล่นผีลอบ การกลับมาของการละเล่นเชิงความเชื่อและจิตวิญญาณของชุมชนบางกอกน้อยพร้อมเปิดประสบการณ์และเรียนรู้พื้นฐานความเชื่อเรื่อง “ผี” พบกับพิธีเซ่นไหว้ คำร้องชวนขนลุกกับการอัญเชิญสิ่งที่มองไม่เห็น บนพื้นที่ลานโพธิ์และศาลาเรือโบราณสุดขลังของวัดดุสิดารามในยามค่ำคืน

สถานที่ : วัดดุสิดาราม วันที่ 10 -11 และ 18 ธันวาคม 2565   

เวิร์กช็อป สอนทำอาหารย่านบางกอกน้อย เรียนรู้วิธีทำอาหารไทยจากปราชญ์ชุมชน และ เวิร์กช็อป สอนทำพวงมโหตร ทดลองทำงานฝีมือในรูปแบบ diy ผ่านภูมิปัญญาแบบดั้งเดิม โดยใช้กระดาษตัดแต่งเป็นโคมระย้าสำหรับประดับตกแต่งสถานที่ในงานทำบุญตามประเพณี

 

นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมพิเศษในวันเปิดงาน ได้รับเกียรติ จากรองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร มอบประกาศนียบัตรยกย่องปราชญ์ชุมชนบางกอกน้อย ด้านอาหาร และการละเล่นท้องถิ่น เพื่อเป็นขวัญและกำลังใจในการร่วมกันพัฒนา เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มีเสน่ห์และศักยภาพอีกแห่งหนึ่งในกรุงเทพมหานครต่อไป

ทั้งนี้ติดตามกิจกรรมต่อเนื่องของ “hidden temple” ในวันที่ 17-25 ธันวาคม 2565 ภายใต้คอนเซ็ปต์ที่สาม “ขอบเขตที่ถูกซ่อนไว้ในพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์” ย่านบางยี่ขัน ที่วัดพระยาศิริไอยสวรรค์ และวัดสวนสวรรค์ ทั้ง projection mapping ถ่ายทอดสันนิษฐานรูปแบบสถาปัตยกรรมที่สมบูรณ์ของอุโบสถวัดสวนสวรรค์ วัดร้างที่ซ่อนตัวอยู่ในชุมชนบ้านปูน music and performance กิจกรรมดนตรีและการแสดงที่มีฉากหลังเป็นเจดีย์สามองค์ที่มีรูปทรงแตกต่างกัน ณ วัดพระยาศิริไอยสวรรค์ บางยี่ขัน และ architectural lighting การออกแบบไฟส่องสว่างพร้อมทั้งอินเตอร์แอ็กทีฟ ผ่านแสง สี ชวนสังเกตขอบเขตพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ที่มองไม่เห็น ให้ปรากฏในรูปแบบใหม่ในวัดพระยาศิริไอยสวรรค์

สุรเชษฐ ศิลานนท์ รายงาน

ข่าวในหมวดเดียวกัน

เพิ่มเติม...

การเมือง

คอลัมนิสต์

คมในความ

มหาราษฎร์ Shorts

ภาพเก่าเล่าอดีต

ไฮไลท์

ข่าวประชาสัมพันธ์

ตำรวจ ทหาร อัยการ ศาล คุก

ท่องเที่ยว

ศาสนา

สุขภาพ

แวดวงนักรบ

สังคม

บทบาทบุคคล

< กลับหมวดท่องเที่ยว

เรื่องล่าสุด