ไฮไลท์

“รมช.พาณิชย์” เผยผลสำเร็จด้านเศรษฐกิจ เตรียมชงที่ประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 40 และ 41


13 พฤศจิกายน 2022, 14:57 น.

 

“รมช.พาณิชย์” เผยผลสำเร็จด้านเศรษฐกิจ เตรียมชงที่ประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 40 และ 41

รมช.พาณิชย์ เป็นหัวหน้าคณะผู้แทนไทยเข้าร่วมการประชุม AEC Council ครั้งที่ 21 ณ กรุงพนมเปญ กัมพูชา ถกเข้มประเด็นด้านเศรษฐกิจ ชี้! อาเซียนเน้นย้ำเสริมสร้างความแข็งแกร่งในภูมิภาค เร่งรัดการฟื้นฟูเศรษฐกิจจากวิกฤต มุ่งเตรียมความพร้อมสู่อนาคต ทั้งการเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ยุคดิจิทัล และการพัฒนาที่ยั่งยืน เตรียมชงผลสำเร็จให้ที่ประชุมสุดยอดอาเซียน

 

นายสินิตย์ เลิศไกร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ได้รับมอบหมายจากรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ (นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์) ให้เป็นหัวหน้าคณะผู้แทนไทยเข้าร่วมการประชุมคณะมนตรีประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC Council) ครั้งที่ 21 ซึ่งเป็นการประชุมระดับรองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจ เมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา ณ กรุงพนมเปญ กัมพูชา เพื่อหารือประเด็นด้านเศรษฐกิจ และสรุปผลลัพธ์การดำเนินงานของเสาเศรษฐกิจ เตรียมเสนอต่อที่ประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 40 และ 41 ในวันที่ 11-13 พ.ย.นี้

นายสินิตย์ กล่าวว่า ในปี 2564 ที่ผ่านมา เศรษฐกิจของอาเซียนเติบโตร้อยละ 3.4 และคาดการณ์ว่าในปีนี้จะขยายตัวถึงร้อยละ 5.1 และร้อยละ 5.0 ในปี 2566 ซึ่งเป็นผลจากการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจหลังโควิด-19 อย่างไรก็ดี ที่ประชุมเห็นว่าประเด็นความท้าทายด้านการเมืองระหว่างประเทศ ความมั่นคงทางพลังงานและอาหาร จะส่งผลต่อความเชื่อมโยงในระบบห่วงโซ่อุปทานโลก และการไหลเวียนเงินทุนมาสู่ประเทศกำลังพัฒนา ซึ่งรวมถึงอาเซียนด้วย ดังนั้น อาเซียนจึงเน้นย้ำเสริมสร้างความแข็งแกร่งของภูมิภาค เพื่อช่วยเร่งรัดการฟื้นฟูเศรษฐกิจจากวิกฤตต่างๆ

 

“กัมพูชาในฐานะประธานอาเซียนได้ผลักดันการดำเนินการของอาเซียนภายใต้แนวคิดหลัก “อาเซียน เอ.ซี.ที : รับมือความท้าทายร่วมกัน (ASEAN A.C.T.: Addressing Challenging Together)” โดยมีความสำเร็จที่สำคัญในส่วนของเสาเศรษฐกิจ อาทิ การส่งเสริมการพัฒนาระบบนิเวศสำหรับวิสาหกิจเริ่มต้นด้านดิจิทัลในอาเซียน แผนงานเพื่อสนับสนุนการดำเนินการตามกรอบเศรษฐกิจหมุนเวียนสำหรับประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน การประกาศการเจรจากรอบความตกลงว่าด้วยการแข่งขันของอาเซียน การประกาศการเจรจายกระดับความตกลงการค้าสินค้าของอาเซียน การสรุปผลการเจรจายกระดับความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-ออสเตรเลีย-นิวซีแลนด์อย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งผลสำเร็จของการดำเนินการดังกล่าวจะเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ลดช่องว่างการพัฒนา และทำให้การรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจของอาเซียนให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น รวมทั้งช่วยสร้างความยืดหยุ่นให้อาเซียนในการรองรับผลกระทบจากวิกฤต ซึ่งจะจัดทำรายงานผลลัพธ์จากการดำเนินการทั้งหมดเสนอต่อที่ประชุมสุดยอดอาเซียนด้วย” นายสินิตย์เสริม

นายสินิตย์ เพิ่มเติมว่า อาเซียนได้หารือถึงการเตรียมความพร้อมสู่อนาคต โดยมีไฮไลท์ 2 เรื่องสำคัญ คือ การเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ยุคดิจิทัล โดยจัดตั้งคณะทำงานเฉพาะกิจเพื่อเร่งดำเนินการตามแผนยุทธศาสตร์อาเซียนในประเด็นการปฏิวัติอุตสาหกรรม ครั้งที่ 4 (4IR) และแผนงานบันดาร์เสรีเบกาวัน ตลอดจนการศึกษาเกี่ยวกับการจัดทำความตกลงกรอบเศรษฐกิจดิจิทัลอาเซียน ซึ่งจะสนับสนุนการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมมาเพิ่มโอกาสทางการค้าและการพัฒนาเศรษฐกิจอาเซียน และช่วยลดต้นทุนที่เกิดจากการทำธุรกรรมและโลจิสติกส์ให้กับภาคเอกชน โดยเฉพาะในกลุ่มวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม และการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยจะเสนอให้ผู้นำรับรองเอกสารสำคัญ 2 ฉบับ คือ แผนดำเนินงานตามกรอบการพัฒนาเศรษฐกิจหมุนเวียน ปี 2566-2573 ซึ่งเป็นแนวทางที่อาเซียนจะนำระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนมาปรับใช้ให้บรรลุเป้าหมายการพัฒนาเศรษฐกิจที่ยั่งยืน และเอกสารแนวคิดเรื่องยุทธศาสตร์อาเซียนเพื่อความเป็นกลางทางคาร์บอน ซึ่งมีเป้าหมายช่วยเพิ่มโอกาสทางเศรษฐกิจของภูมิภาค เช่น ทำให้อาเซียนเป็นแหล่งดึงดูดการลงทุนด้านการปล่อยคาร์บอนต่ำ และช่วยส่งเสริมนวัตกรรมตลอดห่วงโซ่มูลค่า เป็นต้น

นอกจากนี้ ที่ประชุมได้รับทราบความคืบหน้าในการจัดทำองค์ประกอบหลักของร่างวิสัยทัศน์ประชาคมอาเซียน ภายหลังปี 2568 (Post-2025 Vision) ในส่วนของเสาเศรษฐกิจ ซึ่งจะไปรวมเป็นส่วนหนึ่งของวิสัยทัศน์ฯ ฉบับใหม่ ที่จะเสนอให้ผู้นำอาเซียนรับรองในปี 2568 ตลอดจนผลการประเมินเชิงลึกถึงความพร้อมของติมอร์-เลสเต เข้าร่วมเป็นสมาชิกของอาเซียน เพื่อเสนอต่อผู้นำอาเซียนต่อไป

 

ทั้งนี้ ในปี 2564 มูลค่าการค้าระหว่างไทยกับอาเซียน มีมูลค่า 110,868.81 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยไทยเกินดุล 19,430.77 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ทั้งนี้ ไทยส่งออกไปอาเซียนมูลค่า 65,149.79 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และนำเข้าจากอาเซียนมูลค่า 45,719.02 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สำหรับในช่วง 9 เดือน (ม.ค. – ก.ย. 2565) การค้าระหว่างไทยกับอาเซียน มีมูลค่า 96,850.57 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า ร้อยละ 20 โดยไทยส่งออกไปอาเซียนมูลค่า 55,997.16 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และนำเข้าจากอาเซียนมูลค่า 40,853.41 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ตลาดส่งออกและแหล่งนำเข้าสำคัญของไทย ได้แก่ มาเลเซีย เวียดนาม อินโดนีเซีย สิงคโปร์ และฟิลิปปินส์

 

—————————————
กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ
กระทรวงพาณิชย์
13 พฤศจิกายน 2565

ข่าวในหมวดเดียวกัน

เพิ่มเติม...

การเมือง

คอลัมนิสต์

คมในความ

มหาราษฎร์ Shorts

ภาพเก่าเล่าอดีต

ไฮไลท์

ข่าวประชาสัมพันธ์

ตำรวจ ทหาร อัยการ ศาล คุก

ท่องเที่ยว

ศาสนา

สุขภาพ

แวดวงนักรบ

สังคม

บทบาทบุคคล

< กลับหมวดไฮไลท์

เรื่องล่าสุด