นครสวรรค์ Kick Off ถังขยะเปียกลดโลกร้อน มุ่งสร้างการรับรู้ขยายผลสู่ทุกครัวเรือน เพื่อลดภาวะโลกร้อนควบคู่กับการจัดการขยะอย่างยั่งยืนที่เป็นรูปธรรม
วันนี้ (4 พ.ย. 65) นายชยันต์ ศิริมาศ ผู้ว่าราชการจังหวัดนครสวรรค์ เปิดเผยว่า ภายหลังจากการประกาศเจตนารมณ์ “76 จังหวัด 76 คำมั่นสัญญา เพื่อการพัฒนา เพื่อความเท่าเทียม เพื่อความยั่งยืน เพื่อคนไทยกว่า 69 ล้านคน ร่วมกับสหประชาชาติ โลกนี้เพื่อเรา” จังหวัดนครสวรรค์ได้มีการขับเคลื่อนกิจกรรมต่าง ๆ ของจังหวัดนครสวรรค์โดยขอให้ทุกหน่วยงานและทุกภาคีเครือข่ายร่วมยึดหลักเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ทั้ง 17 ข้อ โดยวันนี้จังหวัดนครสวรรค์ได้จัดกิจกรรม Kick Off โครงการถังขยะเปียกลดโลกร้อนพร้อมกันทุกอำเภอ ทุกองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ทั่วทั้งจังหวัด โดยมี ทันตแพทย์หญิงศิริรัตน์ ศิริมาศ ประธานชมรมแม่บ้านมหาดไทยจังหวัดนครสวรรค์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครสวรรค์ หัวหน้าส่วนราชการระดับจังหวัด นายอำเภอ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน คณะผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เจ้าหน้าที่จากหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม และพี่น้องประชาชาชนชาวจังหวัดนครสวรรค์ ได้เข้าร่วมกิจกรรม Kick Off โครงการถังขยะเปียกลดโลกร้อน ด้วย
นายชยันต์ ศิริมาศ ผู้ว่าราชการจังหวัดนครสวรรค์ กล่าวว่า จังหวัดนครสวรรค์มีความมุ่งมั่นที่จะ Change for Good เพื่อร่วมสร้างสรรค์สิ่งดี ๆ ให้เกิดขึ้น ที่ผ่านมาจังหวัดนครสวรรค์ๆได้มีการสร้างความรู้ความเข้าใจในการคัดแยกขยะ ทั้ง 4 ประเภท ได้แก่ ขยะเปียก ขยะทั่วไป ขยะรีไซเคิล เเละขยะอันตราย ควบคู่กับการให้ความรู้ในด้านการกำจัดขยะอย่างถูกวิธี รวมถึงสร้างวัฒนธรรมให้มีจิตสำนึกเป็นมนุษย์ 3Rs คือ ใช้น้อย (Reduce)ใช้ซ้ำ (Reuse) และนำกลับมาใช้ใหม่ (Recycle) เพื่อเป็นการลดปริมาณขยะเเละปลูกฝังให้ทุกคนเห็นคุณค่าของทรัพยากรที่มีอยู่อย่างประหยัด มีความใส่ใจในด้านสิ่งเเวดล้อม จากที่กล่าวมาจึงเป็นที่มาของกิจกรรมในวันนี้ คือ การจัดทำถังขยะเปียกลดโลกร้อน โดยมีเป้าหมายให้ทุกครัวเรือนในจังหวัดนครสวรรค์มีการจัดทำถังขยะเปียกไว้ใช้ในครัวเรือน
นายชยันต์ ศิริมาศ ผู้ว่าราชการจังหวัดนครสวรรค์ กล่าวต่อว่า ความท้าทายที่สำคัญของการจัดทำถังขยะเปียกลดโลกร้อนที่เเท้จริง ไม่ได้อยู่ที่งบประมาณ หรือ วิธีการเเต่อย่างใด เเต่ความยากของโครงการนี้ที่เเท้จริง คือการสื่อสารให้พี่น้องประชาชนเห็นความสำคัญของการจัดการขยะเปียก หรือ ขยะอินทรีย์ในครัวเรือน ซึ่งประโยชน์ที่ได้โดยตรงประการเเรก คือ ช่วยเพิ่มปริมาณเเร่ธาตุในดินจากการย่อยสลายอินทรีย์วัตถุจากกระบวนการระบบนิเวศทางธรรมชาติ หรือ ห่วงโซ่อาหาร คือ เป็นอาหารให้แก่ ผู้ย่อยสลาย หรือ (Decomposer) เช่น แบคทีเรีย เห็ด รา ไส้เดือน ซึ่งจะผลิตเอนไซม์มาย่อยเศษอาหาร ทำให้เป็นเเร่ธาตุและสารอาหารนำกลับไปหมุนเวียนให้แก่พืชนำไปใช้ ประการต่อมา คือ การลดปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งเป็นตัวเเปรสำคัญที่ทำให้เกิดภาวะโลกร้อน ประการถัดมา คือ การช่วยลดปริมาณขยะที่จะเข้าสู่กระบวนการจัดการขยะขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งในส่วนนี้สามารถลดปริมาณค่าใช้จ่ายในการทำความสะอาดกองขยะจากครัวเรือน เเละลดมลภาวะที่เกิดจากการเน่าเสียของขยะเปียกได้อีกด้วย นอกจากที่กล่าวมาเเล้ว ยังมีผลประโยชน์ทางอ้อมอีกมากมาย เช่น การลดรายจ่ายและเพิ่มรายได้จากการปลูกผักสวนครัวเนื่องจากดินมีสภาพความสมบูรณ์มากขึ้นทำให้พืชผักได้รับสารอาหาร เเละนำกลับไปใช้ผลิตเป็นใบ เป็นผลให้เราได้เก็บเกี่ยวกิน หรือ การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และก๊าซมีเทนจากการเน่าเหม็นของขยะเปียก เป็นต้น
นายชยันต์ ศิริมาศ ผู้ว่าราชการจังหวัดนครสวรรค์ กล่าวว่า จังหวัดนครสวรรค์ ได้กล่าวทิ้งท้ายว่า ขณะนี้ได้ สั่งการให้นายอำเภอ ท้องถิ่นจังหวัด ท้องถิ่นอำเภอ และ อาสาสมัครท้องถิ่นรักษ์โลก (อถล.) อสม. ประชาชนจิตอาสา ผู้นำท้องถิ่น ผู้นำ ท้องที่ สมาชิกสภาท้องถิ่น รวมถึงเจ้าหน้าที่ทุกหน่วยงาน ลองทำด้วยตัวเองเเละเร่งสร้างการรับรู้ถึงประโยชน์ที่จะได้รับจากการทำถังขยะเปียกลดโลกร้อน เพื่อให้ทุกครัวเรือนที่มีพื้นที่หลังบ้านได้ทำถังขยะเปียกลดโลกร้อน เเละได้ให้สื่อสารว่าหากครัวเรือนใดไม่มีพื้นที่ที่เป็นที่ดินก็สามารถทำได้โดยการนำกะละมัง หรือถังที่มีปากกว้างมาใส่ดินเเละจัดทำเป็นสวน พร้อมติดตั้งถังขยะเปียกได้ตรงกลาง ก็ช่วยทำให้พืชผัก หรือไม้ดอกสามารถเจริญได้อย่างงอกงามเเละเพิ่มบรรยากาศที่ดีให้เเก่ครัวเรือนอีกด้วย เพื่อนำไปสู่การแก้ไขปัญหาขยะตั้งเเต่ต้นทาง เป็นการมีส่วนร่วมในการการบริหารจัดการขยะในแต่ละพื้นที่ ให้เป็นจังหวัดที่น่าอยู่ และเป็นจังหวัดที่สะอาด สามารถขับเคลื่อนจังหวัดนครสวรรค์สู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนได้อย่างเเท้จริง
กองสารนิเทศ สป.มท.
วันที่ 4 พ.ย. 2565