CEA บูมผลงานย่านเศรษฐกิจสร้างสรรค์ผุดทั่วประเทศ ถ่ายทอดอัตลักษณ์ผ่านการออกแบบสร้างคุณค่าทุกมิติ
“CEA” เปิดแผนพัฒนา 33 พื้นที่เศรษฐกิจสร้างสรรค์ สะท้อนพื้นที่ประสบความสำเร็จในหลายพื้นที่ เป็นโมเดล สร้างกระแสโดดเด่น อย่าง “นครศรีธรรมราช” ปัดฝุ่นอาคารเก่าทรงคุณค่า เปิดจุดเช็คอินใหม่เมืองนคร ขณะที่เมือง “โคราช” เน้นจัดเก็บลายทอผ้าโบราณในรูปแบบดิจิทัล คนรุ่นใหม่เข้าถึงง่าย มุ่งต่อยอดสร้างมูลค่าผลิตภัณฑ์ ขณะที่ “สกลนคร” ต่อยอดจากทุนวัฒนธรรมสู่ความเป็นเมืองคราฟท์ ดึงดูดนักท่องเที่ยวทั่วโลก พลิกฟื้นชุมชนสู่ความยั่งยืน
ดร.ชาคริต พิชญางกูร ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (CEA) ในฐานะองค์กรเพื่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจสร้างสรรค์เพื่อการพัฒนาและยกระดับเศรษฐกิจของประเทศ เปิดเผยว่า แผนการขับเคลื่อนพื้นที่เศรษฐกิจสร้างสรรค์ ที่มีอยู่ทั่วประเทศ ได้เดินหน้าตามแผนงานผ่านกลไกเครือข่ายย่านเศรษฐกิจสร้างสรรค์ประเทศไทย หรือ TCDN ทำหน้าที่เป็นหน่วยงานหลักในการคัดเลือก ตามเงื่อนไขการพัฒนาย่านเศรษฐกิจสร้างสรรค์ที่มีคุณสมบัติเข้าเกณฑ์ เน้นเป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพ ชุมชนมีความพร้อมและเข้มแข็ง โดยอาศัยทุนทางวัฒนธรรมในพื้นที่ และมีความน่าสนใจเพื่อสร้างเป็นจุดขาย พร้อมขยายเครือข่าย และนำความคิดพัฒนาร่วมกัน ออกแบบ เป็น “ย่านเศรษฐกิจสร้างสรรค์” ในรูปแบบของแพลตฟอร์มเพื่อใช้ในการประเมินศักยภาพ เพื่อนำไปสู่การพัฒนาในระดับย่าน สู่ระดับเมือง จนยกระดับเป็นเมืองสร้างสรรค์ระดับโลกต่อไป
“ในแต่ละพื้นที่ จะต้องมีการวางแผนการพัฒนาพื้นที่โดยการดึงอัตลักษณ์ที่โดดเด่นขึ้นมา ที่สำคัญต้องเข้าใจบริบทของพื้นที่นั้นอย่างถ่องแท้ ศึกษาจุดแข็ง เติมความคิดสร้างสรรค์แล้วสร้างกิจกรรมให้คนรู้จักพื้นที่นั้น พร้อมกับหากลไกในการสนับสนุนงบประมาณ เน้นการให้คนพื้นที่มีส่วนร่วมโดยมีโครงการ TCDN เป็นผู้ขับเคลื่อนช่วงเริ่มต้น หลังจากนั้นพื้นที่จะสามารถขับเคลื่อนด้วยตัวเองได้ และสามารถขยายเครือข่ายผ่านกลไกต่างๆ ในจังหวัด และเชื่อมโยงจังหวัดใกล้เคียง โดยมี CEA เป็นพี่เลี้ยง ร่วมกับนักออกแบบในสาขาต่าง ๆ ด้วยไอเดียสร้างสรรค์เพื่อต่อยอดการพัฒนาต่อไป” นายชาคริตฯ กล่าว
อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันการพัฒนา ทำให้เกิดย่านสร้างสรรค์ขึ้นเป็นจำนวนมากในแต่ละจังหวัด ซึ่งส่งผลต่อเนื่องให้แต่ละจังหวัดสามารถเกิดเป็นเมืองสร้างสรรค์ขึ้นมา โดยขณะนี้เรามี 33 ย่านที่กำลังพัฒนา และในบางพื้นที่ได้มีการวัดผล เบื้องต้นประสบความสำเร็จ สามารถเป็นโมเดลตัวอย่างให้กับพื้นที่อื่น ๆ ได้ หลังจากนี้เรายังมีเป้าหมายที่สูงขึ้นไปอีก คือ จะผลักดันย่านที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจสร้างสรรค์ได้แล้วในประเทศให้ได้รับการยอมรับระดับโลกต่อไป
ด้านคุณมนฑิณี ยงวิกุล ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจสร้างสรรค์ กล่าวว่า ปัจจุบันเรามีพื้นที่ที่อยู่ระหว่างการพัฒนาเป็นพื้นที่เศรษฐกิจสร้างสรรค์ถึง 33 แห่ง โดยหลายพื้นที่เราได้มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง หลายแห่งเรามีกระบวนการวัดผลไปแล้ว พบว่าเรามีกรณีศึกษาที่ประสบความสำเร็จในปี 2564 ที่ผ่านมา และจะมีการจัดกิจกรรมและเทศกาลอย่างต่อเนื่องในทุก ๆ ปี จนเป็นที่ยอมรับ ทั้งในระดับภูมิภาคและระดับประเทศ อาทิ เทศกาลงานสร้างสรรค์ “สกลจังซั่น หรือ Sakon Junction” จ.สกลนคร, เทศกาลงานสร้างสรรค์ “ครีเอทีฟนคร หรือ Creative Nakhon” จ.นครศรีธรรมราช, กิจกรรม “Korat Crafting Lab มองผ่านเส้น เล่นผ่านไหม” จ.นครราชสีมา, เทศกาล “เลย อาร์ต เฟส หรือ Loei Art Fest” จ.เลย และ เทศกาลศิลปะและการสร้างสรรค์พะเยา “Phayao Arts & Creative Festival” จ.พะเยา เป็นต้น
สำหรับความน่าสนใจในงานเทศกาลงานสร้างสรรค์ “ครีเอทีฟนคร หรือ Creative Nakhon” เป็นกิจกรรมที่จัดภายในจังหวัดอยู่แล้ว โดย CEA มองเห็นศักยภาพที่จะนำไปขยายต่อ ด้วยการนำย่านการค้าเก่าแก่ของเมือง อย่างย่านท่าวังและท่ามอญที่มีอาคารเก่าที่ไม่ได้ใช้งาน แต่มีคุณค่าทางสถาปัตยกรรม นำกลับมาออกแบบเชิงสร้างสรรค์เพื่อพลิกฟื้นเป็นพื้นที่แสดงงานศิลปะพื้นบ้านร่วมสมัย เพื่อเปิดพื้นที่ใหม่ ๆ ให้กับนักสร้างสรรค์ได้สื่อสารอัตลักษณ์ของท้องถิ่นสู่ผู้คนทั้งในและนอกพื้นที่ ภายใต้แนวคิดหลักของเทศกาล คือ RE-SET “คิดใหม่ ในย่านเก่า” ด้วยการร่วมค้นหาศักยภาพของย่านเก่า มองหาความเป็นไปได้ท่ามกลางวิกฤต เพื่อเป็นพลังของการฟื้นฟูและชุบชีวิตของผู้คน ย่าน และเมืองแห่งนี้ เพื่อก้าวไปข้างหน้า และเป็นหนึ่งในต้นแบบย่านเศรษฐกิจสร้างสรรค์แห่งภูมิภาค
นางสาวมนฑิณีฯ กล่าวต่อว่า กิจกรรม “ครีเอทีฟนคร” ที่เราเข้าไปร่วมขับเคลื่อนครั้งล่าสุดได้ประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี ได้จัดแสดงใน 18 พื้นที่ทั่วย่าน โดยเน้นใช้พื้นที่ร้างและอาคารเก่าที่ซ่อนตัวอยู่ตลอดแนวย่านท่าวัง-ท่ามอญ อาทิ นิทรรศการ “ฟื้นคืนความทรงจำท่าวัง-ท่ามอญ” ที่รวบรวมตั้งแต่ภาพถ่าย ข้าวของเครื่องใช้ อาคารสถาปัตยกรรม อาหารและผู้เล่าเรื่อง ตลอดจนการรวมผลงานศิลปะ งานอินสตอลเลชั่น รวมถึงงานเสวนากับผู้เชี่ยวชาญศิลปะหลายสาขาเพื่อจุดประกายความคิด รวมถึงการจัด KHON Market (ออนไลน์) ตลาดสร้างสรรค์ที่เปิดโอกาสให้กลุ่มผู้ทำงานด้านศิลปะ งานออกแบบหรือ
ผู้สนใจได้พบปะ แสดงสินค้า ทดลองตลาด ร่วมพูดคุยแลกเปลี่ยนระหว่างนักออกแบบหน้าใหม่และมากประสบการณ์จากในและนอกพื้นที่
ในส่วนของ “บ้านเบญจภัณฑ์” นิทรรศการ Revival of Thawang-Thamon ต่อยอดและสร้างความหมายใหม่ให้กับสินทรัพย์จากนิทรรศการ RE-Memory of Thawang-Thamon โดยสร้างสรรค์เป็นชิ้นงานร่วมสมัยรูปแบบต่าง ๆ ตั้งแต่งานกราฟิก งานออกแบบผลิตภัณฑ์ รวมถึงบรรจุภัณฑ์ “บ้านตึกเก่าจีนซุ่นหงวน” นิทรรศการจากนักสร้างสรรค์ท้องถิ่นที่นำภูมิปัญญา เทคนิค วิธีการ หรือวัสดุรอบตัว มาสร้างสรรค์ผลงานร่วมสมัย
“ศาลเจ้าเก่าของนายอำเภอจีนแห่งเมืองนคร” ผลงานลูกผสมของวัฒนธรรมและความสัมพันธ์จีน-ไทย ประกอบด้วยตู้เซียมซี ตู้โทรศัพท์ เครื่องช็อตยุง และสุรามงคล “บ้านประธานชุมชน ตรอกท่ามอญ” รวมผลงานอินสตอลเลชั่นแปลกใหม่ และ “ยงคัง คาเฟ่” จุดเช็กอินพร้อมผลงานอินสตอลเลชั่นสีสันสดใส ที่ถอดรหัสจากรูปทรงสัญลักษณ์ของวัฒนธรรมจีน
สำหรับกิจกรรม “Korat Crafting Lab มองผ่านเส้น เล่นผ่านไหม” จังหวัดนครราชสีมา โดยแนวคิด คือ ผ้าลายลายโบราณจำนวนมากกำลังจะหมดไปพร้อมคนทอที่แก่เฒ่าลงทุกวัน จึงคิดวิธีอนุรักษ์ไว้ด้วยการถอดลายผ้าออกมาเป็นดิจิทัล เพื่อให้คนที่สนใจเข้ามามีส่วนร่วมได้ทันที โดยกิจกรรมนี้เป็นความร่วมมือของ CEA ร่วมกับภาคีเครือข่ายในจังหวัดนครราชสีมา ได้แก่ จังหวัดนครราชสีมา สำนักงานวัฒนธรรม จังหวัดนครราชสีมา มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี Class Cafe และกลุ่มนักออกแบบจากบริษัท Cloud-Floor
ส่วนพื้นที่ที่ประสบความสำเร็จอย่างสูง คือ เทศกาลงานสร้างสรรค์ “สกลจังซั่น หรือ Sakon Junction” จ.สกลนคร ซึ่งถือว่าเป็นการจัดกิจกรรมครั้งแรกในย่านเมืองเก่าสกลนคร นำเสนอความคิดสร้างสรรค์และกระตุ้นย่านด้วยสินทรัพย์ท้องถิ่น ผ่าน 7 กิจกรรมหลักที่เกี่ยวกับวัฒนธรรม อาหารการกินจากผู้ประกอบการในท้องถิ่น ศิลปะ งานฝีมือ พร้อมทั้งงานนิทรรศการศิลปะ และกิจกรรมหลากหลาย ด้วยความร่วมมือของศิลปินและนักสร้างสรรค์ในพื้นที่ ภาครัฐและเอกชน ตลอดจนผู้ประกอบการสร้างสรรค์ และเจ้าของธุรกิจท้องถิ่น ซึ่งจากการจัดงานสามารถสร้างเม็ดเงินหมุนเวียนได้สูง สร้างบรรยากาศที่ดีให้กับเศรษฐกิจในชุมชนที่ซบเซามานานจากทั้งพิษเศรษฐกิจ อุทกภัย และ โรคระบาดโควิด-19 ฟื้นฟูกำลังใจคนในชุมชนให้คืนกลับมาอีกครั้ง
สำหรับเทศกาลศิลปะและการสร้างสรรค์ “Phayao Arts & Creative Festival” ซึ่งจัดเป็นครั้งแรกของ จ.พะเยา กิจกรรมต้นแบบทดลองความเป็นไปได้ในการพัฒนาย่าน ซึ่งประกอบด้วย นิทรรศการศิลปะและงานออกแบบ กิจกรรมทอล์คและเวิร์กชอปที่น่าสนใจต่างๆ กระจายอยู่ในหลายพื้นที่ เพื่อช่วยสร้างแรงบันดาลใจและบรรยากาศสร้างสรรค์ให้กับชาวพะเยา พร้อมเปิดตัวพื้นที่สร้างสรรค์แห่งใหม่ประจำย่าน “AR(T)CADE” ซึ่งนำเอาพื้นที่ที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์ บนชั้น 2 ของตลาดอาเขตพะเยา มาแปลงโฉมเป็นพื้นที่แสดงผลงานสำหรับศิลปินรุ่นใหม่ พร้อมกิจกรรมนานาชนิด ทั้งฉายหนังสั้น เวิร์กชอปอาหาร จัดดอกไม้ งานคราฟท์ และตลาดนัด Made in Phayao ที่หยิบจับจุดเด่นของจังหวัดมาเล่าในมุมมองคนรุ่นใหม่
เทศกาล “เลย อาร์ต เฟส หรือ Loei Art Fest” การต่อยอดวัฒนธรรมความคิดสร้างสรรค์ที่โดดเด่นและเป็นเอกลักษณ์ของจังหวัด ในรูปแบบศิลปะการแสดง งานศิลปะจัดวาง เวิร์คชอปศิลปะการทำอาหารแบบเชฟเทเบิ้ล และอีกมากมายที่ไม่เพียงสะท้อนจิตวิญญาณแห่งเมืองเลย แต่ยังท้าทายการตีความความขนบและความหมายของศิลปะดั้งเดิมในพื้นที่สู่ความหมายใหม่พร้อมต่อยอดเอกลักษณ์ของพื้นที่ “ประเพณีผีตาโขน” ในรูปแบบร่วมสมัย
สุรเชษฐ ศิลานนท์ รายงาน