นายกสมาคมแม่บ้านมหาดไทย ได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติจาก มทร.ธัญบุรี เพื่อรับมอบรางวัล “ราชมงคลสรรเสริญกิตติมศักดิ์ พุทธศักราช 2565” ในฐานะบุคคลต้นแบบด้านการเฝ้าระวังทางวัฒนธรรมและสร้างภูมิคุ้มกันทางสังคม
วันนี้ (15 ก.ย. 65) เวลา 14.30 น. ณ หอประชุมใหญ่ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ นายกสมาคมแม่บ้านมหาดไทย เข้ารับรางวัล “ราชมงคลสรรเสริญกิตติมศักดิ์ พุทธศักราช 2565” จาก รองศาสตราจารย์ ดร.สมหมาย ผิวสอาด อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี (มทร.ธัญบุรี) โดยมี นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย นายอภินันท์ เผือกผ่อง ผู้ตรวจราชการกระทรวงมหาดไทย นางพิชานันท์ เผือกผ่อง กรรมการบริหารสมาคมแม่บ้านมหาดไทย รศ.ดร.สุจิระ ขอจิตต์เมตต์ รองอธิการบดี มทร.ธัญบุรี นายสมพงษ์ มากมณี รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช นางจิระพา มากมณี รองประธานแม่บ้านมหาดไทยจังหวัดนครศรีธรรมราช นายคมสัน ญาณวัฒนา หัวหน้าสำนักงานจังหวัดปทุมธานี นายนิติชัย วิริยานนท์ นายอำเภอคลองหลวง ร่วมแสดงความยินดี
รองศาสตราจารย์ ดร.สมหมาย ผิวสอาด อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี เปิดเผยว่า วันนี้เป็นวันน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เนื่องในวันคล้ายวันพระราชทานนาม “ราชมงคล” เมื่อวันที่ 15 กันยายน 2531 หรือนับเป็นปีที่ 34 โดยชื่อ สถาบันเทคโนโลยีราชมงคล แปลว่า สถาบันเทคโนโลยีอันเป็นมงคลแห่งพระราชา หมายความว่า ชาวราชมงคลทุกคนถือว่าเป็นมงคลแห่งพระองค์ท่าน ซึ่งนับตั้งแต่นั้นมา สถาบันเทคโนโลยีราชมงคล หรือ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล จึงเป็นสถาบันการศึกษาที่มุ่งผลิตนักปฏิบัติรับใช้สังคม เป็นที่ยอมรับในศักยภาพของบัณฑิตตลอดมา จึงกำหนดให้วันที่ 15 กันยายนเป็น “วันราชมงคล” ที่ทุกคนจะได้น้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณ และมหาวิทยาลัยได้พิจารณา ยกย่องเชิดชูเกียรติบุคคลผู้ทำคุณประโยชน์ให้กับประเทศชาติและสังคม ผู้เป็นต้นแบบด้านการเฝ้าระวังทางวัฒนธรรมและสร้างภูมิคุ้มกันทางสังคม โดยมีชื่อรางวัลว่า “ราชมงคลสรรเสริญ”
รองศาสตราจารย์ ดร.สมหมาย ผิวสอาด อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี กล่าวว่า “ดร. วันดี กุญชรยางคง จุลเจริญ เป็นบุคคลต้นแบบผู้สร้างแรงบันดาลใจให้แก่สังคม และมีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งด้านวัฒนธรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งการสืบสานพระราชปณิธานสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ในการอนุรักษ์ ส่งเสริม และเผยแพร่ผ้าไทย อันเป็นศิลปะอันล้ำค่าของชาติให้ดำรงคงอยู่เป็นความภาคภูมิใจของคนไทย และให้ชาวโลกได้ชื่นชม อีกทั้งเพื่อเชิดชูอัตลักษณ์คุณค่าผ้าท้องถิ่นให้เกิดกระแสความนิยมการแต่งกายผ้าไทย แก่ประชาชนทั่วประเทศ และยังสนับสนุน ส่งเสริม การสร้างงาน สร้างอาชีพ และเสริมสร้างรายได้ให้กับกลุ่มสตรีในท้องถิ่น ภายใต้ชื่อโครงการ “สืบสาน อนุรักษ์ศิลป์ผ้าถิ่นไทย ดำรงไว้ในแผ่นดิน” รวมทั้งเป็นผู้นำในการสนองพระดำริ “ผ้าไทยใส่ให้สนุก” ในสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ด้วยการพัฒนาผู้ประกอบการผ้าไทยทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ ให้มีแนวคิดในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ผ้าไทยให้มีความทันสมัย เป็นที่ต้องการของตลาด สวมใส่ได้ทุกเพศ ทุกวัย ทุกโอกาส อันเป็นการเพิ่มโอกาสในการสร้างรายได้เสริมให้กับประชาชน และช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจจากฐานราก เสริมสร้างภูมิคุ้มกันที่ดีให้เกิดขึ้นแก่สังคม สร้างอัตลักษณ์ความเป็นไทยผ่านเครื่องแต่งกาย จนกลายเป็นแฟชั่นสมัยนิยม (Popular Culture) ดังจะเห็นได้จากการที่ผู้คนส่วนใหญ่ต่างสวมใส่ผ้าไทยเนื่องในหลากหลายโอกาสจนกลายเป็นภาพที่ชินตาในปัจจุบัน ซึ่งเป็นการสรรสร้างวัฒนธรรมแบบละมุน (Soft Power) ในทางหนึ่งด้วย นอกจากนี้ ดร. วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ ได้ร่วมกับ นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน คนที่ 29 ผลักดันรณรงค์การสวมใส่ผ้าไทยกระทั่งคณะรัฐมนตรีมีมติ เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2563 เห็นชอบการส่งเสริมและสนับสนุนให้คนไทยใช้และสวมใส่ผ้าไทยอย่างน้อยสัปดาห์ละสองวัน และยังกระตุ้นให้เกิดการสืบสานภูมิปัญญา การพัฒนาและยกระดับผลิตภัณฑ์ OTOP ให้มีคุณภาพมาตรฐานสูงขึ้นจนสามารถขยายตลาดสู่ระดับสากลด้วย
ด้าน ดร.วันดี กุญชรยางคง จุลเจริญ กล่าวว่า รู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ได้เข้ารับรางวัล “ราชมงคลสรรเสริญ พุทธศักราช 2565” พร้อมเน้นย้ำว่า นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณอันหาที่สุดมิได้ที่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงเป็นต้นแบบในการส่งเสริมภูมิปัญญาผ้าไทย ทำให้ผ้าไทยอันเป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่ล้ำค่าได้กลับมามีชีวิต เป็นอาชีพเสริมสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรในชนบทของประเทศไทย และนับเป็นความโชคดีของคนไทยที่สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ทรงมีพระปณิธานที่มุ่งมั่นในการแบ่งเบาพระราชภาระของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ในการสืบสาน รักษา และต่อยอดพระราชปณิธานของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ด้วยการพระราชทานพระดำริ “ผ้าไทยใส่ให้สนุก” ซึ่งตนน้อมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ และตั้งมั่นตั้งใจในการปฏิบัติบูชา ด้วยการเป็น “ผู้นำต้องทำก่อน” ในบทบาทของนายกสมาคมแม่บ้านมหาดไทย และประธานสภาสตรีแห่งชาติในพระบรมราชินูปถัมภ์ สมัยที่ 26 ซึ่งได้ร่วมขับเคลื่อนการส่งเสริมการใช้ผ้าไทยร่วมกับนายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ข้าราชการกระทรวงมหาดไทย แม่บ้านมหาดไทย และภาคีเครือข่ายทั่วประเทศ เพื่อให้ภูมิปัญญาและองค์ความรู้เรื่องผ้าไทยผลิดอกออกผลสู่สังคมในวงกว้าง
ซึ่งในปัจจุบันก็ถือได้ว่ามีผลสัมฤทธิ์ในเชิงรูปธรรมและเป็นที่ประจักษ์โดยทั่วกัน ยกตัวอย่างเช่น โครงการผ้าไทยใส่ให้สนุก การผลักดันวิชชาลัยผ้าทอหนองบัวลำภู (ศูนย์เรียนรู้และออกแบบขวัญตา) สู่การเป็น “เมืองแฟชั่นผ้าทอพื้นเมือง” (City of Local Cloth Fashion) การรณรงค์การใช้ผ้าไทยในจังหวัดต่าง ๆ การส่งเสริมและพัฒนาศูนย์เรียนรู้ผ้าย้อมครามบ้านดอนกอย “วิชชาลัยดอนกอย วิถีแห่งการพัฒนาที่ยั่งยืน” และการจัดกิจกรรมประกวดผ้าลายพระราชทาน “ผ้าขิดลายนารีรัตนราชกัญญา” ชิงรางวัลพระราชทาน ประจำปี 2565 เป็นต้น ซึ่งทั้งหมดนี้ถือเป็นก้าวสำคัญในการอนุรักษ์ ฟื้นฟู ส่งเสริม และพัฒนาเรื่องผ้าไทยให้เป็นรู้จักอย่างแพร่หลาย เป็นที่นิยมในคนหมู่มาก อีกทั้งยังเป็นการสานต่อแนวพระราชดำริของ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ในการส่งเสริมพัฒนาภูมิปัญญาผ้าไทย สืบสานภูมิปัญญา และอนุรักษ์ผ้าไทยให้คงอยู่ รวมถึงพระดำริของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ในการสืบสาน รักษาและต่อยอดพระราชกรณียกิจของ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เพื่อฟื้นคืนภูมิปัญญาผ้าไทยให้ดำรงอยู่คู่ผืนแผ่นดินตราบนานเท่านานด้วย
“ขอขอบคุณมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี (มทร.ธัญบุรี) ซึ่งเป็นสถาบันทางการศึกษาที่มีวิสัยทัศน์อันกว้างไกลในการร่วมสร้างสรรค์สังคมไทยให้เป็นสังคมที่มีคุณภาพ ที่ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาตนได้ทุ่มเทแรงกายแรงใจในการร่วมผลักดันเรื่องผ้าไทยให้เป็นวาระทางสังคม (Social Agenda) และหวังเป็นอย่างยิ่งว่ารางวัลในครั้งนี้ จะได้ช่วยเสริมสร้างแรงบันดาลใจในการทำความดีให้กับคนไทยทุกคน เพื่อเป็นต้นแบบที่ดีให้แก่ผู้คนในสังคมไทย เพื่อร่วมกันทำให้ภูมิปัญญา ศิลปวัฒนธรรม งานหัตถศิลป์ หัตถกรรม อันล้ำค่า ดำรงคงอยู่ และถ่ายทอดสู่รุ่นลูกรุ่นหลาน ให้เกิดความยั่งยืนตลอดไป” ดร. วันดีฯ กล่าวในช่วงท้าย