ข่าวประชาสัมพันธ์

วช. ร่วมกับ จุฬาฯ เปิดเวทีสัมมนางานวิจัยไทย ลดความรุนแรงในสังคม ปี 2


27 สิงหาคม 2022, 8:29 น.

 

วช. ร่วมกับ จุฬาฯ เปิดเวทีสัมมนางานวิจัยไทย ลดความรุนแรงในสังคม ปี 2 คาดหวังลดความรุนแรงทุกรูปแบบลงกว่า 50℅ ก่อน พ.ศ.2573

วันที่ 26 สิงหาคม 2565 สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เปิดเวทีสัมมนาวิชาการ เรื่อง “โครงการท้าทายไทย…สังคมไทยไร้ความรุนแรง (ปีที่ 2)” เพื่อรับฟังข้อคิดเห็น รวมถึงหาแนวทางป้องกันและแก้ไขปัญหา ตลอดจนนำผลงานวิจัยไปขยายผลในพื้นที่ต่างๆ เพื่อลดความรุนแรงในสังคมไทย โดยมี ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) เป็นประธานเปิดการสัมมนาฯ ณ ห้องประชุมห้องประชุมจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ การสัมมนายังได้รับเกียรติจาก รองศาสตราจารย์ ดร.กล้าณรงค์ ศรีรอต คณะกรรมการโครงการวิจัยท้าทาย และผู้ที่สนใจจากหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนเข้าร่วมการสัมมนากว่า 100 คน

ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กล่าวว่า ปัจจุบันสังคมไทยประสบกับปัญหาความรุนแรงในหลากหลายรูปแบบมาอย่างต่อเนื่อง อาทิ การฆ่าตัวตาย การทะเลาะวิวาทของวัยรุ่น การก่ออาชญากรรม ซึ่งเหตุการณ์ดังกล่าวส่งผลให้เด็กและเยาวชนเกิดการเรียนรู้และซึมซับความรุนแรง จะเห็นได้จากใน ปี พ.ศ.2565 พบว่าประเทศไทยถูกจัดอันดับ เป็นประเทศที่มีความสงบสุขของโลกในลำดับที่ 103 และ เป็นประเทศที่มีความรุนแรงในลำดับที่ 47 จากจำนวน 163 ประเทศ โดยส่งผลกระทบทางเศรษฐกิจที่เกิดจากความรุนแรง คิดเป็น ร้อยละ 4 ของ GDP หรือ คิดเป็นผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ

 

จากผลกระทบทางสังคมและเศรษฐกิจที่เกิดจากความรุนแรง (วช.) ได้ตระหนักถึงความสำคัญในการแก้ไขปัญหาความรุนแรงในสังคมไทย จึงสนับสนุนทุนวิจัยแก่โครงการท้าท้ายไทย : สังคมไทยไร้ความรุนแรง โดยมี รศ.ดร.สุมนทิพย์ จิตสว่าง แห่ง ภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นผู้บริหารจัดการโครงการฯ เพื่อตอบโจทย์ปัญหาของสังคมไทยในปัจจุบันที่ประสบกับปัญหาความรุนแรงในสังคมที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งความรุนแรงในรูปแบบที่เปิดเผยต่อสาธารณะที่คนในสังคมประสบพบอยู่เสมอๆ

 

ทั้งนี้เนื่องจากพิจารณาว่า ปัญหาความรุนแรงในสังคมไทยเป็นปัญหาที่ส่งผลกระทบทั้งทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง ตลอดจนกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่และการดำเนินชีวิตของคนในสังคม นับเป็นปัญหาที่ท้าทายเป็นอย่างยิ่ง

โครงการท้าท้ายไทย : สังคมไทยไร้ความรุนแรง ขับเคลื่อนการลดความรุนแรงใน 5 มิติ หรือ 5 P ประกอบด้วย

1.นโยบาย (Policy)

2.การป้องกัน (Prevention)

3.การคุ้มครอง (Protection)

4.การดำเนินคดี (Prosecution) และ

5.ความเป็นหุ้นส่วน (Partnership)

โดยผลงานวิจัยที่สามารถตอบโจทย์ในการลดความรุนแรงในสังคม ได้แก่

 

1.แผนที่ความรุนแรงของประเทศไทย เพื่อนำไปสู่การกำหนดนโยบายและมาตรการ ในการป้องกันและแก้ไขปัญหาความรุนแรงในสังคมไทย

 

2.การขับเคลื่อนสู่มาตรฐานสากลด้วยการลดความรุนแรงต่อสตรีโดยสร้างความเคารพต่อความเท่าเทียมกันของสตรี

 

3.การขับเคลื่อนลดความรุนแรงที่เกี่ยวข้องกับปัญหาการฆ่าตัวตาย ความรุนแรง ในครอบครัว ความรุนแรงของเด็กและเยาวชนในสถานศึกษาความรุนแรงของเด็ก และเยาวชนกลุ่มเสี่ยงนอกสถานศึกษา การเปิดพื้นที่เมืองต้นแบบปลอดอาชญากรรม และ

 

4.การร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการป้องกัน และแก้ไขปัญหาความรุนแรง อาทิ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กรมราชทัณฑ์ กระทรวงยุติธรรม องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กรมการปกครอง โรงเรียนและสถาบันการศึกษา และสื่อมวลชน เป็นต้น

ซึ่งทุกโครงการวิจัยมีการสร้างเครือข่ายความร่วมมือจากหน่วยงานภาคปฏิบัติ ที่เกี่ยวข้องเพื่อขับเคลื่อนในการลดความรุนแรงในพื้นที่ ส่งผลให้ความรุนแรง ในพื้นที่ศึกษา ลดความรุนแรงได้มากกว่าร้อยละ 50

 

(วช.) คาดว่าแผนงานวิจัยท้าทายไทย : สังคมไทยไร้ความรุนแรงนี้ จะสามารถลดความรุนแรงในสังคมไทยได้ก่อนปี พ.ศ.2573 ตามเป้าหมายที่ 16 ของการพัฒนาอย่างยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ ในการสร้างสังคมสงบสุข โดยขจัดความรุนแรงทุกรูปแบบ

 

ทั้งนี้ ภายในงานสัมมนาวิชาการฯ ยังมีการจัดแสดงผลงานวิจัยและนวัตกรรมที่นำไปช่วยป้องกันและแก้ไขปัญหาการใช้ความรุนแรงในสังคม อาทิ นิทรรศการโครงการฐานข้อมูลความรุนแรง นิทรรศการป้องกันการฆ่าตัวตาย และนิทรรศการป้องกันการทะเลาะวิวาทของนักเรียน นักศึกษา ซึ่งผลงานวิจัยเป็นผลงานที่ได้รับทุนสนับสนุนจาก (วช.) ภายใต้โครงการท้ายไทย : สังคมไทยไร้ความรุนแรง ปีที่ 2

 

และนอกจากนี้ ยังมีการเปิดตัวคุณเขมสรณ์ หนูขาว เป็นพรีเซ็นเตอร์รณรงค์ในแคมเปญ RESPECT กับการลดความรุนแรงต่อสตรี อีกด้วย

สุรเชษฐ ศิลานนท์ รายงาน

ข่าวในหมวดเดียวกัน

เพิ่มเติม...

การเมือง

คอลัมนิสต์

คมในความ

มหาราษฎร์ Shorts

ภาพเก่าเล่าอดีต

ไฮไลท์

ข่าวประชาสัมพันธ์

ตำรวจ ทหาร อัยการ ศาล คุก

ท่องเที่ยว

ศาสนา

สุขภาพ

แวดวงนักรบ

สังคม

บทบาทบุคคล

< กลับหมวดข่าวประชาสัมพันธ์

เรื่องล่าสุด