“วัชระ” ย้ำสมศักดิ์จัดงานปาร์ตี้สงกรานต์ปี 64 ฝ่าฝืน พรก.ฉุกเฉิน ใช้อิทธิพลกลั่นแกล้งแจ้งความในถิ่นตัวเอง ร้อง อสส. ขอสั่งไม่ฟ้องข้อหาหมิ่นประมาท
วันที่ 22 ส.ค.65 เวลา 12.01 น.ที่สำนักงานอัยการสูงสุด นายวัชระ เพชรทอง อดีต ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ยื่นหนังสือขอความเป็นธรรมผ่าน น.ส.ดาเรส ทองช่วย นักจัดการทั่วไป ชำนาญการ สำนักบริหารกลาง อสส. ถึงนายสิงห์ชัย ทนินซ้อน อัยการสูงสุด ขอให้สั่งการพนักงานอัยการจังหวัดสุโขทัย ทำการสอบสวนเพิ่มเติมและให้ความเป็นธรรมกับตนด้วยการสั่งไม่ฟ้องฐานหมิ่นประมาทด้วยการโฆษณาตามที่นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีกระทรวงยุติธรรม กล่าวหา จากการที่ตนแถลงข่าวเรื่องที่นายสมศักดิ์ฯ จัดปาร์ตี้งานสงกรานต์เมื่อเดือนเมษายน 64 จนทำให้เกิดคลัสเตอร์แพร่ระบาดเชื้อโควิด-19 จนทำให้มีคนป่วยหลายรายและเสียชีวิตอีก 3 ราย และขอให้เลื่อนนัดการให้ไปรายงานตัวเพื่อฟ้องคดีในวันที่ 2 ก.ย.65 ออกไปจนกว่าจะพิจารณาหนังสือขอความเป็นธรรมนี้แล้วเสร็จด้วย
นายวัชระฯ กล่าวว่า นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรียุติธรรม ส.ส.จังหวัดสุโขทัย ได้มอบอำนาจให้นายสำรวล ดอกคำ ดำเนินคดีกับตนในข้อหาหมิ่นประมาทจากการแถลงข่าวที่รัฐสภาเมื่อวันที่ 2 มิ.ย.64 กรณีนายสมศักดิ์ฯ จัดงานเลี้ยงวันสงกรานต์ที่ร้านคาเฟ่ เดอทรีมีการร้องคาราโอเกะ เมื่อวันที่ 11 เม.ย.64 โดยไม่สวมหน้ากากอนามัย มั่วสุมตั้งแต่สิบคนขึ้นไปและฝ่าฝืน พ.ร.ก. เป็นการให้ร้ายนายสมศักดิ์ฯ ทำให้เสื่อมเสียชื่อเสียงอันเป็นการหมิ่นประมาทโดยการโฆษณา ซึ่งตนยอมรับว่าได้แถลงข่าวดังกล่าวจริง แต่นายสมศักดิ์ฯ มีเจตนากลั่นแกล้งให้ต้องเดินทางด้วยรถยนต์ระยะทาง 423 กิโลเมตรใช้เวลาเดินทางไป-กลับกว่า 10 ชม.เพื่อไปรับทราบข้อกล่าวหาที่ สภ.สุโขทัย ทั้งที่ควรดำเนินคดีในท้องที่เกิดเหตุคือ สน.บางโพ กทม.
ทั้งนี้ ได้รับแจ้งทางโทรศัพท์จากนายศุภกร ไม่ทราบนามสกุล นิติกรสำนักงานอัยการจังหวัดสุโขทัย ระบุว่า พนักงานอัยการจังหวัดสุโขทัย มีความเห็นสั่งฟ้องข้อหาดังกล่าว ขอให้ไปรายงานตัวต่อพนักงานอัยการจังหวัดสุโขทัยในวันที่ 5 ส.ค.65 แต่ได้ขอเลื่อนการรายงานตัวเป็นวันที่ 2 ก.ย.65 ซึ่งตนเห็นว่าไม่ได้รับความเป็นธรรมอย่างยิ่งจากพนักงานอัยการจังหวัดสุโขทัย เพราะคดีนี้มีพยานบุคคล พยานเอกสารและภาพถ่ายปรากฏชัดแจ้งว่าเป็นภาพที่นายสมศักดิ์ เทพสุทิน ผู้กล่าวหาได้ร่วมชุมนุมทำกิจกรรมมั่วสุมกันที่ร้านคาเฟ่ เดอทรี อันเป็นที่แออัดมีการรดน้ำอวยพรตามประเพณีสงกรานต์ งานเลี้ยงสังสรรค์ (ปาร์ตี้) ร้องเพลงคาราโอเกะ ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อันเป็นการชุมนุมทำกิจกรรมหรือมั่วสุมกันในสถานที่แออัดในลักษณะที่เสี่ยงต่อการแพร่เชื้อโรค โดยที่นายสมศักดิ์ฯ ไม่สวมใส่หน้ากากอนามัยขณะเข้าร่วมกิจกรรมดังกล่าว และต่อมาปรากฎว่าผู้ร่วมงานกิจกรรมมั่วสุมดังกล่าวติดเชื้อโควิด-19 และเสียชีวิตไปถึง 3 ราย รวมทั้งนายณัฐพล ติวุตานนท์ หลานชายของตนที่เข้าร่วมอยู่ในงานมั่วสุมดังกล่าว
นายวัชระฯ ย้ำว่า ในการแถลงข่าวของตนที่รัฐสภา เป็นการติชมด้วยความเป็นธรรมอันเป็นวิสัยของประชาชนย่อมกระทำได้ตามกฎหมาย เนื่องจากนายสมศักดิ์ฯ ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม และ ส.ส.สุโขทัย เป็นบุคคลสาธารณะ ตนจึงมิได้กระทำผิดฐานหมิ่นประมาทโดยการโฆษณา ตามที่พนักงานอัยการจังหวัดสุโขทัยมีคำสั่งฟ้อง ด้วยเหตุผลและข้อเท็จจริงคือนายสมศักดิ์ฯ ได้กระทำความผิดกฎหมายหลายกรรมต่างกัน ทั้งร่วมกันชุมนุมทำกิจกรรมมั่วสุมกันที่ร้านคาเฟ่ เดอทรี อ.เมือง จ.สุโขทัย ประมาณ 20 คน อันเป็นที่แออัด มีการรดน้ำอวยพรตามประเพณีสงกรานต์ งานเลี้ยงสังสรรค์ (ปาร์ตี้) ร้องเพลงคาราโอเกะ ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ อันเป็นการชุมนุมทำกิจกรรมหรือมั่วสุมกันในสถานที่แออัด ในลักษณะที่เสี่ยงต่อการแพร่เชื้อโรคอันเป็นการยุยงให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อยและแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ได้ และเป็นเขตพื้นที่ที่หัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินในส่วนที่เกี่ยวกับความมั่นคงประกาศข้อกำหนด ออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 (ฉบับที่ 15) ข้อ 3 ลงวันที่ 25 ธ.ค.63 ห้ามการชุมนุมทำกิจกรรมหรือมั่วสุม ซึ่งห้ามไว้ทั่วราชอาณาจักรอันเป็นการฝ่าฝืนต่อกฎหมาย
จึงมีความผิดฐานฝ่าฝืนข้อกำหนดตามประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินฯ และความผิดฐานไม่สวมหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้าและย่อมเป็นความผิดจริยธรรมร้ายแรงในข้อหาต่างๆ คือ อาจมีความผิดมาตรฐานทางจริยธรรมของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ และผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ รวมทั้งผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินและหัวหน้าหน่วยงานธุรการของศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระ พ.ศ.2561 ข้อ 6-13 ข้อ 15,17,19,21 และ 23 โดยตนได้ร้องเรียนต่อสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เมื่อวันที่ 16 ส.ค.64 ขณะนี้อยู่ระหว่างการดำเนินการ เมื่อข้อเท็จจริงปรากฎอย่างชัดเจนตามที่กล่าวมาข้างต้น จึงไม่อาจเห็นชอบตามคำสั่งฟ้องของอัยการจังหวัดสุโขทัยได้ เพราะหากตรวจสอบข้อเท็จจริงและประจักษ์พยานทั้งหมดแล้ว วิญญูชนย่อมเล็งเห็นได้ว่ามิได้กระทำผิดตามข้อกล่าวหาของนายสมศักดิ์อย่างสิ้นเชิง
จึงร้องขอความเป็นธรรมจากอัยการสูงสุดให้สั่งการพนักงานอัยการจังหวัดสุโขทัยทำการสอบสวนเพิ่มเติมบุคคลที่เกี่ยวข้องและอยู่ในสถานที่จัดงานวันนั้นทั้งหมด รวมทั้งนายสมบูรณ์ ทองบุราณ อดีตสมาชิกวุฒิสภา ผู้อำนวยการสถานีโทรทัศน์ช่อง 13 สยามไทย ซึ่งเป็นผู้ที่รู้เห็นเหตุการณ์ และทราบข้อกฎหมายในขณะนั้นเป็นอย่างดี
รวมทั้งให้ความเป็นธรรมแก่ตนด้วยการพิจารณาสั่งไม่ฟ้องฐานหมิ่นประมาทด้วยการโฆษณาตามข้อกล่าวหา และเลื่อนนัดการรายงานตัวเพื่อฟ้องคดีในวันที่ 2 ก.ย.65 ออกไปจนกว่าจะพิจารณาหนังสือขอความเป็นธรรมนี้แล้วเสร็จ
นายวัชระฯ ระบุว่า นายสมศักดิ์ฯ รมว.ยุติธรรมนั้นเป็นผู้มีอิทธิพลในจ.สุโขทัย ซึ่งตนใช้คำเดียวกับที่ ป.ป.ช.กล่าวอ้างว่านายนิพนธ์ บุญญามณี รมช.มหาดไทยว่าเป็นผู้มีอิทธิพล นายสมศักดิ์ฯ กลั่นแกล้งแจ้งความที่สุโขทัยในเขตอิทธิพลของตนเอง ทั้งๆ ที่เหตุเกิดที่รัฐสภา นายสมศักดิ์ฯ ใช้กลไกของรัฐเอาเปรียบประชาชนอย่างตนหรือไม่ จึงต้องมาขอความเป็นธรรมที่อัยการสูงสุด
สุรเชษฐ ศิลานนท์ รายงาน