“วัชระ” เผย “สลน.” ไล่ออก “สุวิจักขณ์” ตั้งแต่ปี 61 กรณีทุจริตปรับปรุงอาคารรัฐสภาเชียงราย อุทาหรณ์สอนใจซี 11
วันที่ 21 ส.ค.65 : นายวัชระ เพชรทอง อดีต ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า ตนได้รับหนังสือแจ้งจากสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีว่า เลขาธิการนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้มีอำนาจสั่งบรรจุและแต่งตั้ง ได้ดำเนินการทางวินัยตามหน้าที่และอำนาจ โดยมีคำสั่งสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ที่ 36/2561 ลงวันที่ 12 มี.ค.61 ลงโทษไล่นายสุวิจักขณ์ นาควัชระชัย หรือนายวัชระชัยย์ นาควัชระชัยท์ ออกจากราชการเรียบร้อยแล้ว ส่วนการดำเนินการทางอาญา และความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่นั้น เป็นหน้าที่และอำนาจของสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรซึ่งเป็นหน่วยงานที่ได้รับความเสียหาย
กรณีของนายสุวิจักขณ์ฯ นายวัชระฯ ได้ยื่นหนังสือร้องเรียนถึงเลขาธิการนายกรัฐมนตรีและเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันที่ 3 ส.ค.65 ให้ดำเนินการลงโทษทางวินัยและอาญาต่อนายสุวิจักขณ์ฯ จนมีหนังสือตอบมาจากสำนักงานเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ดังกล่าว
สำหรับพฤติกรรมของนายสุวิจักขณ์ฯ ในสมัยดำรงตำแหน่งเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษาให้สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรแพ้คดี และต้องชำระเงินจำนวน 2,303,215.53 บาท พร้อมดอกเบี้ยให้กับผู้ฟ้องคดี สรุปได้ว่า นายสุวิจักขณ์ฯ ทราบว่ามีการดำเนินการปรับปรุงอาคารสำนักงานรัฐสภาเชียงราย มาก่อนแล้ว แต่กลับให้มีการดำเนินการตามระเบียบย้อนหลังโดยได้อนุมัติ และลงนามในคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการกำหนด รายละเอียดและคุณลักษณะเฉพาะ คณะกรรมการกำหนดราคากลาง จนกระทั่งคณะกรรมการพิจารณาผลประกวดราคา มีมติเห็นชอบให้จัดจ้างปรับปรุงและตกแต่งอาคารสำนักงานรัฐสภาเชียงราย โดยบริษัท เก้า พี เค กรุ๊ป จำกัด เป็นบริษัทที่เข้าไปดำเนินการก่อนการดำเนินการตามกระบวนการพัสดุ เป็นผู้ชนะการจัดจ้าง การกระทำของนายสุวิจักขณ์ฯ เป็นการไม่ชอบด้วยกฎหมาย ทำให้บริษัท เก้า พี เค กรุ๊ป จำกัด มีข้อได้เปรียบผู้รับเหมารายอื่นในการเสนอราคาและเอื้อประโยชน์ให้มีโอกาสได้รับประโยชน์ โดยคําพิพากษาดังกล่าวยังได้ระบุพฤติกรรมของผู้บริหารของสํานักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรคนอื่นที่ร่วมสนับสนุนการกระทำของนายสุวิจักขณ์ฯ อีกด้วย ซึ่งเรื่องนี้เกิดขึ้นตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2556 ในยุคที่นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ เป็นประธานรัฐสภาที่สั่งการให้มีการก่อตั้งรัฐสภาจังหวัดเชียงราย
นายวัชระฯ ได้แสดงความขอบคุณข้าราชการหน่วยงานนี้ที่ปฏิบัติหน้าที่ราชการตรงไปตรงมา นับเป็นตัวอย่างที่ดีให้ข้าราชการรัฐสภาได้เห็น และเชื่อว่ายังมีเลขาธิการสภาฯ อีกหลายคน ที่สุดท้ายต้องขึ้นศาลอาญาทุจริตเและประพฤติมิชอบเพราะความเกรงใจและสมยอมผู้มีอำนาจการเมืองที่สภาในยุคนั้น ๆ จึงเป็นอุทาหรณ์สอนใจข้าราชการทุกแห่งได้เป็นอย่างดี
สุรเชษฐ ศิลานนท์ รายงาน